วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

เอเชียยุคสมเด็จพระนเรศวร : โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

On August 7, 2020

“หาดเจ้าสำราญได้เปลี่ยนชื่อเป็นหาดสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว คนไทยเชื่อว่าท่านนำไพร่พลมาพักผ่อนที่นี่นับปี…จริงหรือ”

 

พระนเรศวร (อยุธยา)

เกิด                2098

ครองราชย์     2133

สิ้นพระชนม์  2148

 

ตะเบงชเวตี้    บุเรงนอง    นันทบุเรง   (ตองอู/หงสาวดี)

เกิด               2059       2059          2078

ครองราชย์    2078       2093          2124

สิ้นพระชนม์   2093       2124          2142

 

โตโยโทมิ               (ญี่ปุ่น)

เกิด                         2080

ครองราชย์               –

สิ้นพระชนม์           2141

 

พระเจ้าซอนโจ       (เกาหลี )

เกิด                         2110

ครองราชย์              2110

สิ้นพระชนม์           2151

 

พระเจ้าว่านลี่ (จีน)

เกิด                  2106

ครองราชย์       2116

สิ้นพระชนม์      2163

 

การอ่านประวัติศาสตร์ให้สนุกและเข้าใจสถานการณ์ได้ดีน่าจะศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องที่และประเทศใกล้เคียงในช่วงเวลานั้นด้วย ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อาจยังไม่ยุติ แต่ก็แพร่หลายปรากฏในหนังสือที่คนเชื่อถือหลายเล่มซึ่งนำมาใช้ในการเขียน และยุคสมัยนี้เพื่อความสะดวกก็นำมาจากเว็บต่างๆ โดยเฉพาะ wikipedia ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ (เว็บนี้ให้คนที่ต้องการเขียนใส่ข้อมูลแก้ไขสิ่งที่ตัวเองรู้ลงไป คนที่มาทีหลังก็เขียนเพิ่มเติมหรือแย้งได้) การเขียนบทความนี้เป็นไปในลักษณะแสดงความเห็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือหรือเว็บดังกล่าว

เอเชียที่กล่าวถึงก็คือการสงครามระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเริ่มโดยพระเจ้าตะเบงชเวตี้ นักประวัติศาสตร์พม่ากล่าวว่า หากไม่มีตะเบงชเวตี้ก็ไม่มีบุเรงนอง (ประวัติศาสตร์พม่า โดยหม่องทินอ่อง เพ็ชรี สุมิตร แปล หน้า 129) ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการรวบรวมอาณาจักรขยายอาณาเขตเริ่มที่พระองค์บุกอยุธยาสมัยสมเด็จพระศรีสุริโยทัย บุเรงนองเป็นคนมาต่อยอด การฉายภาพตะเบงชเวตี้ในภาพยนตร์หรือนิยายผู้ชนะสิบทิศว่าไร้ความสามารถ คล้ายคนเสียสติ เพื่อชูบุเรงนอง จึงเป็นเรื่องเกินจริง อีกด้านหนึ่งของเอเชียคือ การบุกของญี่ปุ่นไปรบกับเกาหลีและจีน ซึ่งเกิดกับประเทศที่ใหญ่และพลเมืองมากของเอเชีย และเหตุการณ์นี้ก็น่าจะมีผลต่อคำถามอันเกี่ยวกับพระนเรศวรว่าเคยเสนอช่วยจีนปราบญี่ปุ่นหรือไม่ ทำไมพระองค์จึงเข้มงวดต่อชาวไทยยุคนั้นอย่างเหลือเชื่อ ท่านไปฝึกรบทางทะเลหรือไปพักผ่อนแถวเพชรบุรีจนถึงประจวบฯ ท่านมีลูกหรือไม่ และทำไมไม่มีการแต่งตั้งลูกเป็นรัชทายาท

เมื่อดูช่วงเวลาที่เกิดจนสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์นักรบในไทย พม่า ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะของพระนเรศวร และฮิเดยาสุ โทโยโทมิ โดยโทโยโทมิปีเกิดและเสียชีวิตใกล้เคียงกับนันทบุเรงมาก ญี่ปุ่นในช่วงนั้นเกิดความแตกแยก เมืองหรือจะเรียกนครรัฐต่างๆ เจ้าเมืองหรือไดเมียวไม่ยอมขึ้นแก่กัน ทำสงครามขยายอาณาเขตซึ่งกันและกัน โชกุนควบคุมไม่ได้ เมื่อตายลงก็ว่างโชกุน การทำสงครามรวมชาติภายในญี่ปุ่นสำเร็จได้ด้วยฝีมือของเจ้าเมืองนักรบซามูไร 3 คนคือ

โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga) เกิดในปี 2077 เป็นลูกไดเมียวแคว้นโอเวริ เขาสามารถทำสงครามชนะไดเมียวโยะชิโมะโตะซึ่งเป็นแคว้นใหญ่กว่าด้วยกำลังที่น้อยกว่า หลังจากนั้นก็ทำการยึดแคว้นต่างๆและขยายอาณาเขตไปเรื่อยๆ และได้ประกาศนโยบายรวมญี่ปุ่นภายใต้คำขวัญ “ครองแผ่นดินด้วยการทหาร” เขาได้หนุนโยะชิอะกิขึ้นเป็นโชกุนในลักษณะหุ่นเชิด โอดะ โนบุนากะ ถูกลูกน้องชื่อมิชิฮิเดะล้อมฆ่า (เรื่องราวญี่ปุ่นในยุคนั้นเต็มไปด้วยสงครามหักหลัง ลอบสังหาร) เพราะไม่พอใจที่ส่งแม่ไปเป็นตัวประกันและตายในที่สุด

โทโยโทมิ ฮิโดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) เกิดในตระกูลชาวนา เสนอตัวเข้ารับใช้โอดะ โนบุนากะ และได้แสดงผลงาน ได้เลื่อนยศตำแหน่งเรื่อยมา เมื่อมิชิฮิเดะล้อมฆ่าโอดะ โนบุนากะ เขากำจัดมิชิฮิเดะได้ และในที่สุดก็ตั้งตนเป็นหัวหน้าแทนโอดะ เขาเป็นผู้นำการบุกเกาหลีถึง 2 ครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายบุกถึงจีน การพ่ายแพ้ในการบุกครั้งที่ 2 สร้างความเสียใจให้เขาอย่างมาก ทำให้เขาล้มป่วยและเสียชีวิต

โทกูงาวะ อิเอยาซุ (Tokugawa Ieyasu) เกิดปี 2085 ตายปี 2159 ในตระกูลเจ้าเมือง เมื่อโทโยโทมิสิ้นได้มีการแย่งอำนาจระหว่างมิตสินาริและโทกูงาวะในการทำศึกเซกิงาฮาระ โดยโทกูงาวะเป็นฝ่ายชนะ และได้รับตำแหน่งโชกุนในที่สุด รู้จักกันดีเมื่อเรียกแบบไทยว่าโตกูกาว่า

ญี่ปุ่นบุกเกาหลีในยุคพระนเรศวร 2 ครั้งคือ ปี 2135-2136 และปี 2140-2141 ตรงกับสมัยพระเจ้าโซซอน ทำให้เกิดวีรบุรุษเกาหลีคือ แม่ทัพอี ซุน ซิน ซึ่งคิดเรือเต่าเอาชนะญี่ปุ่นในการรบทางทะเล ทางจีนตรงกับสมัยพระเจ้าว่านลี่ราชวงศ์หมิงของจีน จีนส่งทหารเข้าช่วยตามคำขอของเกาหลี แม้จีนและเกาหลีจะขับไล่ญี่ปุ่นไปได้ แต่ก็ทำให้ราชวงศ์หมิงอ่อนแอ ทำให้แมนจูเข้ามายึดอำนาจตั้งราชวงศ์ชิงได้ในภายหลัง

ข้อคิดที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวร

1.เหตุการณ์บุกเกาหลียุคนั้นเป็นเหตุการณ์ระดับเอเชีย (จะถือว่าระดับโลกก็น่าได้) ญี่ปุ่นใช้กำลังคน 200,000 นาย จีน 80,000 นาย เกาหลีไม่น้อยกว่า 300,000-400,000 นาย

2.พ่อค้าอาวุธโปรตุเกสนำอาวุธรุ่นใหม่ๆมาขายที่ญี่ปุ่นด้วย โอดะ นาบุนากะ โทโยโทมิก็ชอบอาวุธที่โปรตุเกสนำเสนอ พ่อค้าพวกนี้เดินทางมาอยุธยา ตองอู หงสา ด้วย แน่นอนย่อมมีการเล่าถึงเหตุการณ์สงครามญี่ปุ่นบุกเกาหลี

3.ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พลเมืองน้อยกว่าจีน แต่ความหนาแน่นเทียบพื้นที่สูงกว่าจีน นั่นหมายความว่าความวุ่นวายทางสงคราม รวมถึงขับไล่พวกต่างศาสนา ทำให้มีการหนีตายมาอาศัยอยู่ในอยุธยา ซึ่งย่อมมาพร้อมข่าวสาร และไทยเองก็มีขีดความสามารถค้าขายทางทะเลอยู่แล้ว เหตุผล 3 ข้อข้างต้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้อมูลสงครามจะไม่ทราบถึงท่าน และท่านคงเห็นว่าภัยสงครามอาจเกิดจากผู้บุกรุกที่มาทางทะเลได้

4.จีนยามปรกติอาจเข้มแข็งกว่าไทย แต่สถานการณ์ขณะนั้นจีนคงอยากได้ใครมาช่วยหรือเป็นพันธมิตร เกี่ยวกับประเด็นนี้ คิมุระ คานาโกะ นักวิชาการญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาและสรุปว่ามีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่การเสนอช่วยของสมเด็จพระนเรศวร เป็นการนำเสนอระดับเจ้าหน้าที่หรือล่าม (น่าเสียดายเรื่องประวัติศาสตร์ไทยทำโดยนักวิชาการต่างชาติ)

5.มีข้อเขียนของวัน วลิต นักวิชาการหรือนักเดินทางต่างชาติชาวฮอลันดา (น่าเสียดายเรื่องประวัติศาสตร์ไทยทำโดยต่างชาติ) ว่าสมเด็จพระนเรศวรปกครองอย่างเข้มงวด ก็เป็นไปได้สำหรับผู้ปกครองที่ทำสงครามมายาวนาน และรู้ว่าภัยสงครามยังมีอยู่ แต่ถ้าบันทึกถึงขั้นเผาคนทำผิดเล็กน้อยเป็นหมื่นคนคงไม่ใช่ เพราะเขียนตามที่เล่ากันมาหลังท่านสิ้นพระชนม์หลายสิบปี เป็นการเขียนลักษณะที่ปัจจุบันเรียกว่าดราม่า (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ให้ความเห็นแย้งในหนังสือของท่านชื่อ กฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้)

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เชื่อว่าสมเด็จพระนเศวรไปประทับที่เพชรบุรีพร้อมกองทัพนับปี คงไม่ใช่เพื่อการพักผ่อน (เป็นเหตุผลรองมากกว่า) แต่ไปเพื่อซ้อมรบทางทะเล เพราะแน่นอนว่าทรงทราบว่ามีการบุกทางทะเล ต้องมีการรบริมชายหาด ตั้งแต่เพชรบุรีถึงประจวบฯความยาวกว่าร้อยกิโลเมตรก็มีเจ้าของหาดอ้างว่าท่านมาประทับที่นี่

ข้อคิดอีกประเด็นหนึ่งคือ ท่านเปรียบเหมือนผู้ชนะในทิศที่ 11 ด้วย เพราะมีคำกล่าวทางตะวันตกว่านักการเมืองคิดถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า รัฐบุรุษคิดถึงผู้ที่จะมาสืบทอดอำนาจ กษัตริย์นักรบจำนวนมากล้มเหลวเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องเสียสละ เชื่อว่าท่านมีชายามีลูก แต่ไม่ทรงตั้งใครขึ้นมา ไม่ต้องการให้มีการแย่งอำนาจในหมู่ญาติและลูกน้อง ทรงให้พระเอกาทศรถดำรงตำแหน่งเหมือนกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งในขณะนั้น ทำให้เมื่อท่านสิ้นพระชนม์ อาณาจักรของท่านจึงดำรงอยู่อีกร้อยกว่าปี

เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

 


You must be logged in to post a comment Login