วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

สร้างศีลบารมีพัฒนาชาติ

On June 25, 2020

คอลัมน์ : สำนัก(ข่าว)พระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 25 มิ.ย. 63)

ผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยเสียความเจริญก้าวหน้า ที่เขาบอกว่าการศึกษาสร้างชาติพัฒนาประเทศ แต่คราวนี้ เราเสียท่า เจ้าโควิดทำให้นักศึกษา นักเรียน ที่เรียนอยู่ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย น่าจะรวมถึงอนุบาลด้วยซ้ำไป ว่า เขาจะหลุดจากการเรียน เสียโอกาสในการเรียน เมื่อเขาเสียโอกาสหรือหลุดจากการเรียนเป็นจำนวนมากกว่าครั้งใดหมด

อย่างเมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉิน เพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในสังกัด สพฐ.ตชด.และ อปท.จำนวน 753,997 คน ทั่วประเทศ กสศ.ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับครูทั้ง 3 สังกัด สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษ

โดยเฉพาะปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาไปด้วย เบื้องต้นพบว่า จากข้อมูลที่คุณครูบันทึกผ่านระบบ isee หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยสุ่มสำรวจนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่งเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด จากข้อมูล ณ วันที่ 15 มิ.ย.63 พบ นักเรียนยากจนพิเศษ 3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน ประกอบด้วย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,246 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,914 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว ยังเป็นตัวเลขเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ทั้งหมด 161,000 คน เท่านั้น ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่นักเรียนยังไม่ได้สมัครเรียน คือ (1) ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ร้อยละ 57 (2) มีปัญหาทางการเรียน ครอบครัว สุขภาพ และขาดแคลนทุนทรัพย์ร้อยละ 31 (3) ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ร้อยละ 10 (4) ไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน ร้อยละ 2 ตามลำดับ โดยตัวเลข 3 พันกว่าคนเป็นเพียงชั้น ป.6 และม.3 เท่านั้น ยังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงต้นปีการศึกษานี้ด้วยผลกระทบจาก โควิด-19 และช่วงเปิดเทอมในเวลาปกติครัวเรือนยากจน แบกภาระค่าใช้จ่ายเกินกำลัง เมื่อมาเจอผลกระทบโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน

ขณะที่ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีปัญหาอยู่แล้วในหลายมิติ ทั้งด้านทรัพยากร ครู โครงสร้างพื้นฐาน และการเรียนออนไลน์ จากการสำรวจของธนาคารโลกเกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษาในสถานการณ์ปกติ พบว่าแต่ละปีมีเด็กยากจนกว่าร้อยละ 30 ต้องหลุดจากระบบการศึกษาอยู่แล้ว และเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยมองเห็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ชัดเจนและหนักขึ้น

“การที่โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไป 2 เดือน ทำให้เด็กต้องเรียนช้าลง ระยะเวลาสั้นๆ เราพอที่จะสอนชดเชยได้ แต่ที่ผมห่วงคือหากโรคโควิดระบาดอีกครั้งที่ 2 ถ้าโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไปอีกครึ่งปี หรือหนึ่งปี จะทำให้เด็กยากจนที่จากเดิมเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์อยู่แล้ว 1 ปี ต้องเข้าเรียนล่าช้าเพิ่มไปอีก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กยากจนต่ำลง สอดคล้องกับผลการสอบ PISA ปี 2020 ที่พบว่าเด็กมีผลการสอบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 60 ดังนั้นหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทัน ผมคาดว่าปี 2021 ผลการสอบ PISA ของเด็กยากจนจะยิ่งต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้นไปอีก” ดร.ดิลกะ กล่าว

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นต้องเรียกว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกยังไม่เท่ากับปัญหาวิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้ เพราะคราวนี้เด็กหลุดจากการเรียน การศึกษา เรียนรู้ ทำให้โอกาสที่จะพัฒนาชาติได้รับผลกระทบไม่ใช่น้อย ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับการศึกษา อบรม เรียนรู้ก็มีขึ้นมาก เพราะฉะนั้น จึงต้องเรียนกันว่า มันถึงเวลา ที่เราจะต้องพัฒนาเด็ก ถึงแม้ว่า ไม่ได้ศึกษา เรียนรู้ในระบบ แต่เราก็มีการศึกษา เรียนรู้นอกระบบ นอกตำรา นอกวิธีการ นั่นก็คือ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ปัญญามักจะขึ้นกับผู้หมั่นประกอบ ปัญหามักเกิดขึ้นกับผู้ที่เพ่งพินิจในกิจของตน

ถ้าเราเอาเด็กมาพิจารณาทำมาหากิน ทำงาน ทำการ ก็ต้องเรียกว่า อยู่ในลักษณะที่เห็นชัด หากว่า ถ้าไม่มีการเรียนรู้และไม่ทำงาน ไม่หมั่นประกอบอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าร่วมกันกิน มันก็จะทำให้ประเทศชาติหล่นร่วง แต่เราช่วยกันจริงๆจะทำให้บ้านเมืองเจริญได้ ก็ต้องบอกว่า มาเถอะ ขอมาร่วมกันปรับวิธีการศึกษาให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าและพัฒนาได้ อาตมาตอนจบป.4 อยากจะเรียนต่อก็ไม่ได้จึงเสียโอกาสไป

เรียกว่า เสียโอกาสการเรียนรู้ แต่ก็น่าจะเหลือโอกาสอะไรที่เราจะพัฒนาชีวิตและพัฒนาประเทศชาติของเราได้ คือ หมั่นประกอบ หมั่นทำอะไรที่มันเป็นบารมีสร้างสรรค์ เราแสวงหาการศึกษาไม่ได้ แต่บารมีเราแสวงหาได้ และคนมีการศึกษาก็มีบารมี ถ้ามีทั้งฐานะบารมี ศีลบารมี มีธรรมะอยู่เหนืออารมณ์ใฝ่ต่ำเป็นบารมีแล้ว เชื่อเหลือเกินว่า เราจะต้องเจริญก้าวหน้า พาชาติเจริญได้อย่างแน่นอน

 

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login