วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ขายโบสถ์/วัด ตีมูลค่าอย่างไร

On June 2, 2020

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 5-12 มิ.ย. 2563)

เรามาลองตีราคาศาสนสถานเช่นวัดโบสถ์ต่างๆกันดู เพราะทุกอย่างสามารถตีราคาได้ แต่บางคนบอกไม่ได้ เพราะมีคุณค่าทางจิตใจ ความจริงเป็นอย่างไร

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน ให้ความเห็นต่อการประเมินค่าทรัพย์สินประเภทโบสถ์วัดต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในลักษณะที่มีคุณค่าสูงจนประเมินค่ามิได้ในบางครั้ง บางคนและบางกรณีก็ตาม

มีบทความที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของฟาติมาสาร เรื่อง Churches for Sale (เสนอขายโบสถ์) <1> โดยเขียนไว้ว่า “วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกายังคงพ่นพิษไม่หยุด…อัตราคนไม่เชื่อพระเจ้าและไม่มีศาสนาสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นแบบนี้โบสถ์คริสต์ก็ไม่มีคนไปร่วมพิธี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของโบสถ์ ผลที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “การประกาศขายโบสถ์” เกิดขึ้นเยอะมากในยุโรปและอเมริกา”

ในบทความยังกล่าวว่า วาติกัน อินไซเดอร์…เปิดเผยตัวเลขว่า แต่ละปีนิกาย “แองกลิกัน” ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ) จะประกาศปิดโบสถ์และ “ตั้งป้ายขาย” โบสถ์ที่ถูกปิดนั้นอย่างน้อย 20 แห่งต่อปี เนื่องจากโบสถ์เหล่านี้มีผู้มาร่วมพิธีน้อยมาก การขายโบสถ์เพื่อเก็บเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉินน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด…ยังมีให้เห็นแบบเกลื่อนที่สหรัฐอเมริกา… นักพัฒนาที่ดินหลายเจ้าชอบซื้อโบสถ์คาทอลิกไปทำธุรกิจอื่น อาทิ ร้านอาหาร รวมไปถึงผับบาร์ สาเหตุที่พวกนี้ชอบซื้อโบสถ์คริสต์เพราะดีไซน์การออกแบบภายในสวยงามเป็นที่ต้องตาต้องใจ (คนเหล่านี้ชอบภาพวาดเทวดาและภาพวาดบนเพดานโบสถ์)…ตัวเลขที่ตุรกีค่อนข้างน่ากลัว เพราะมีโบสถ์คริสต์ถึง 38% จากทั้งประเทศถูกตั้งป้ายขาย

บทความดังกล่าวยังยกตัวอย่างอีกหลายประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สวีเดน และเดนมาร์ก และสรุปว่า “นี่เป็นทิศทางวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติความเชื่อในศาสนาที่มาบรรจบกันอย่างไม่น่าเชื่อ สมัยก่อนถ้าเศรษฐกิจตกต่ำคนจะหันกลับมาหาพระเจ้าเพื่อหาที่พึ่งทางจิตใจ แต่ตอนนี้วิถีแบบนั้นเริ่มหมดไป มันถูกพัฒนามาเป็นเทรนด์ใหม่ เศรษฐกิจตกต่ำ จิตใจคนในสังคมถอยห่างจากพระเจ้า ผลสุดท้ายก็คือขายโบสถ์ที่เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจทิ้งเพื่อรักษาชีวิตตัวเองให้รอด”

นี่เป็นเพียงการขาย การทำสงครามแย่งยึดศาสนสถานยังมีอีกมากมาย เช่น เปลี่ยนศาสนสถานของศาสนาหนึ่งเป็นอีกศาสนาหนึ่งจนกลายเป็นข้อพิพาททางประวัติศาสตร์มากมาย ว่ากันว่าจำนวนคนฆ่ากันตายเพราะเรื่องความเชื่อทางศาสนามีมากกว่าเรื่องอื่นในโลกเสียอีก บ้างก็อาจไม่ยึด ไม่ซื้อขาย แต่เผาเสียเลย เช่น พม่าเผาวัดแทบทุกวัดในกรุงศรีอยุธยา หรือกองทัพไทยเผาวัดแทบทุกวัดในกรุงเวียงจันทน์ ทั้งที่ต่างก็นับถือพุทธศาสนากันทั้งสิ้น เป็นต้น

ในการประเมินค่าโบสถ์นั้น บางท่านอาจบอกว่า “หาค่ามิได้” แปลว่าราคาสูงมากจนประเมินค่ามิได้ เพราะเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า แต่ในชีวิตจริงมีการขายโบสถ์กันมากมาย ยิ่งถ้าโบสถ์ไหนมี “สตอรี่” ให้เล่าขานถึงประวัติศาสตร์ ความศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ก็จะเป็นเสน่ห์เพิ่มมูลค่าในการขายเสียอีก ยิ่งถ้ามีสถานที่พอจัดงานแต่งงาน งานเลี้ยง ฯลฯ ก็ยิ่งมีค่า แต่ถ้าเป็นวัดธรรมดา เช่น วัดไทยในต่างประเทศที่สร้างแบบไม่ได้มีสถาปัตยกรรมแบบไทย เป็นอาคารทั่วๆไปที่ดัดแปลงเป็นวัด เป็นโบสถ์ ก็คงไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรเป็นพิเศษ แต่เครื่องยึดเหนี่ยวทางใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในกรณีวัดไทยจะเห็นได้ว่ามีความพยายามในการทำลายเหมือนกัน อาจเป็นเพราะความเชื่อต่างศาสนา โดย “เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 08.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้มีคนร้าย 1 คน บุกเข้าไปในบริเวณวัดพุทธภาวนา เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา แล้วจุดไฟเผาศาลเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งอยู่ด้านข้างทางทิศตะวันตกของโบสถ์วิหาร และยิงปืนขู่หลายนัด พระที่อาศัยอยู่ในวัดได้โทร.แจ้งตำรวจท้องที่และสามารถจับกุมชายผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนเผาวัดได้ 1 คน เป็นคนผิวขาวร่างใหญ่ ซึ่งตรงกับคำให้การของเด็กวัดที่เห็นเหตุการณ์ โชคดีที่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต”

ในข่าวดังกล่าวยังกล่าวว่า “เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2534 ได้เกิดโศกนาฏกรรมที่วัดพรหมคุณาราม วัดไทยที่ตั้งอยู่ที่เมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ไทย เมื่อคนร้ายได้เข้าไปสังหารหมู่พระธรรมทูต 6 รูป สามเณร 1 รูป เด็กวัด 1 คน แม่ชี 1 ท่าน รวม 9 ศพ ซึ่งได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่าเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม อำมหิต เกินกว่าที่ใครจะทำใจได้” อย่างไรก็ตาม วัดนี้ก็ยังอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้กลายเป็นวัดร้างหรือขายให้ใครไป

ในการประเมินมูลค่าของโบสถ์นั้น คงต้องพิจารณาในหลายกรณี เช่น

1.ความเป็นไปได้ในการซ่อมแซม (หรือพังจนซ่อมไม่ได้ ต้องรื้อทิ้ง)

2.ต้นทุนในการซ่อมแซม-ปรับปรุงเพิ่มเติม (ถ้ามี)

3.ความเป็นไปได้ในการดัดแปลงไปใช้ในทางอื่น เช่น ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ฯลฯ

4.การขายความสูงในการก่อสร้างอาคารให้กับอาคารใกล้เคียงอื่น เพราะในบางประเทศโบสถ์อยู่ในย่านผังเมืองที่อนุญาตให้สร้างสูงได้ 200 เมตร แต่โบสถ์สูงเพียง 80 เมตร สิทธิส่วนที่เกินก็สามารถขายได้

5.ความเป็นไปได้ในการรื้อโบสถ์ทิ้งไปสร้างเป็นอย่างอื่น

6.ราคาที่เคยมีการขายในอดีตในเชิงเปรียบเทียบ

7.ความเป็นไปได้ในด้านข้อกฎหมาย ผังเมือง เป็นต้น

ใครมีวัด มีโบสถ์ ให้ประเมิน ให้ตีค่าเพื่อการซื้อ ขาย ร่วมลงทุน จำนอง ฯลฯ มาปรึกษาได้ครับผม

อ้างอิง

<1> ฟาติมาสาร – Churches for Sale (เสนอขายโบสถ์) 18 พ.ย. 2012 www.popereport.com/2012/11/churches-for-sale-18-2012_94.html

<2> วัดไทยในสหรัฐถูก “ยิง-เผา”! พระธรรมทูตนิสิตสันติศึกษา “มจร” รุดถอดบทเรียนแก้รุนแรงด้วยสันติวิธี. บ้านเมือง 19 ธันวาคม 2562. https://www.banmuang.co.th/news/education/174078


You must be logged in to post a comment Login