วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ชีวิตเศร้าสาวแฝดห้า

On January 24, 2020

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  24-31 มกราคม 2563)

โอกาสที่จะเกิดแฝดห้าแท้มีอยู่แค่เพียง 1 ใน 55 ล้านเท่านั้น และโอกาสที่แฝดห้าเหล่านี้จะรอดชีวิตในวัยทารกยิ่งมีน้อยมาก แฝดห้ารายแรกของโลกที่ผ่านวิกฤตการณ์มาได้กลับต้องพบกับการฉกฉวยหาผลประโยชน์จากทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

วันที่ 28 พฤษภาคม 1934 เอลไซร์ ไดโอนน์ วัย 25 ปี มีอาการมดลูกบีบรัดตัว จากประสบการณ์ให้กำเนิดบุตรมาแล้ว 5 คน ทำให้เธอรู้ว่าเป็นสัญญาณของการใกล้คลอด แต่เธอเพิ่งตั้งครรภ์ได้เพียง 7 เดือนเท่านั้น ท้องคราวนี้มีขนาดครรภ์โตกว่าครั้งก่อนๆ ทำให้เธอสงสัยว่าจะได้ลูกแฝด

เอลไซร์แต่งงานกับโอลิวา ไดโอนน์ เมื่อปี 1925 มีลูกด้วยกัน 5 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน ลูกคนสุดท้องเพิ่งคลอดเมื่อ 11 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ดูเหมือนว่าท้องนี้จะคลอดก่อนกำหนด 2 เดือน โอลิวาเป็นเพียงชาวไร่จนๆคนหนึ่ง ปลูกผักปลูกหญ้าหาเลี้ยงครอบครัว 7 ชีวิตอยู่ที่เมืองคอร์เบล์ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา

นายแพทย์อัลเลน เดโฟ ถูกตามตัวกลางดึก เขาวินิจฉัยว่าครรภ์มีความผิดปกติที่อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทารกเพศหญิงตัวน้อยน้ำหนักเพียง 1.4 กิโลกรัมหลุดออกจากครรภ์ก่อนที่แพทย์จะเดินทางมาถึง เธอมีขนาดศีรษะเท่ากับผลส้ม ตัวเล็กมากจนสามารถวางลงในฝ่ามือได้

นายแพทย์อัลเลนบอกกับโอลิวาให้ไปตามนางผดุงครรภ์ โดนัลดา เลโกรส์ และเบอนัว เลเบล มาช่วย ไม่นานนักทารกคนที่สองก็คลอดตามออกมา เธอมีขนาดเล็กยิ่งกว่าคนแรก ตามด้วยทารกคนที่สาม คนที่สี่ และคนที่ห้า ซึ่งมีน้ำหนักตัวไม่ถึง 1 กิโลกรัม น้ำหนักรวมของแฝดห้าอยู่ที่ประมาณ 6 กิโลกรัมเท่านั้น

บิ๊กคลีนนิ่งเดย์

 

เอลไซร์หมดสติไปนาน 2 ชั่วโมง ไม่รู้ว่าเพราะอ่อนเพลียจากการให้กำเนิดหรือเพราะรู้ว่าได้ลูกแฝดห้า ทันทีที่ฟื้นขึ้นมาเอลไซร์อุทานออกมาว่าเธอจะทำอย่างไรกับแฝดห้า เธอมีลูกแล้ว 5 คนก่อนหน้านี้ ตอนนี้มีมาเพิ่มอีก 5 คน ครอบครัวเธอไม่ใช่คนร่ำรวย ค่อนไปทางยากจนเสียด้วยซ้ำ เธอและสามีจะหาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูกมากถึง 10 คน

นายแพทย์อัลเลนค่อนข้างกังวลเรื่องสุขภาพของแฝดห้า พวกเธอมีขนาดตัวเล็กมากจนดูไม่เหมือนลูกมนุษย์สักเท่าไร ก่อนหน้านี้ในปี 1866 เคยมีแฝดห้าเกิดในเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส แต่ทารกมีชีวิตอยู่เพียง 55 วันเท่านั้น สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวไดโอนน์ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องทำความอบอุ่นให้กับบ้าน ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆทั้งสิ้น

ภายใต้สถานการณ์ที่คับขัน ขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ นายแพทย์อัลเลนสั่งนางผดุงครรภ์ให้ช่วยกันทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคทำให้บ้านปลอดเชื้อโรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นำทารกใส่ตะกร้าหวาย ใช้ถุงน้ำร้อนให้ความอบอุ่นแก่ทารก จุดเตาอบแล้วเปิดเตาอบเอาไว้เพื่อให้ความร้อนแผ่กระจายไปทั่วบ้าน

พยาบาลป้อนทารกด้วยนมวัวต้มสุกผสมน้ำอุ่นและน้ำเชื่อมข้าวโพด เหยาะเหล้ารัม 1-2 หยดเพื่อใช้เป็นสารกระตุ้น และคอยใช้น้ำมันมะกอกนวดตัวทารกเป็นระยะๆ หลังจากนั้นนายแพทย์อัลเลนก็เดินทางไปที่บ้านของพี่ชายโอลิวา บอกกับเขาว่าตอนนี้โอลิวาเป็นคุณพ่อลูก 10 แล้ว

นายแพทย์อัลเลนเดินทางต่อไปยังสำนักงานไปรษณีย์ ป่าวประกาศให้ทุกคนได้รู้ว่าเขาเพิ่งทำคลอดทารกแฝดห้า เสมียนคนหนึ่งบอกว่านี่เป็นข่าวใหญ่มาก น่าจะแจ้งผู้สื่อข่าวให้ได้รู้ แต่ถึงตอนนั้นช้าไปเสียแล้ว เพราะพี่ชายของโอลิวาเพิ่งโทรศัพท์ไปแจ้งผู้สื่อข่าว

ธารน้ำใจ

6 ชั่วโมงหลังจากแฝดห้าลืมตาดูโลก หนังสือพิมพ์นอร์ธเบย์นักเก็ตส่งผู้สื่อข่าวมายังบ้านของโอลิวา นำทารกแฝดห้าออกจากตะกร้าหวายพามานอนเคียงข้างเอลไซร์เพื่อถ่ายภาพ ทันทีที่ข่าวการให้กำเนิดแฝดห้าแพร่กระจายออกสู่สาธารณะ ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลมาสู่ครอบครัวไดโอนน์

ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างๆนำเครื่องอบทารกรุ่นโบราณแบบใช้น้ำมาให้ เนื่องจากที่บ้านครอบครัวไดโอนน์ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ประชาชนบริจาคเสื้อผ้าและอาหารทารก โรงพยาบาลฟาราเวย์บริจาคน้ำนมจากมารดา สภากาชาดส่งนางพยาบาลมาผลัดเปลี่ยนเวรยามดูแลทารกแฝดห้าตลอด 24 ชั่วโมง

ไม่กี่วันต่อมาฝูงชนหลายพันคนเดินทางมายังบ้านไร่ของครอบครัวไดโอนน์หวังจะได้เห็นแฝดห้าเป็นบุญตา เหมือนกับมีเทศกาลงานรื่นเริง ทุ่งหญ้ารอบบ้านกลายสภาพเป็นลานจอดรถ ขณะเดียวกันโอลิวากำลังกลุ้มใจอยู่กับปัญหาว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาเลี้ยงดูลูก 10 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง

นักจัดนิทรรศการและการแสดงรายหนึ่งติดต่อโอลิวาขอนำทารกแฝดห้าไปออกงานชิคาโกเวิลด์แฟร์ที่จัดมาตั้งแต่ปี 1933 และจะสิ้นสุดปลายเดือนตุลาคม 1934 โดยจะให้เงินตอบแทนสัปดาห์ละ 250 ดอลลาร์ บวกส่วนแบ่งค่าขายบัตรเข้าชม ซึ่งนับว่าเป็นเงินจำนวนมากสำหรับช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย

เตะหมูเข้าปากหมา

โอลิวาตกลงเซ็นสัญญาแทบจะทันที แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นทารกแฝดห้ามีอาการทรุดลง น้ำหนักตัวลดฮวบฮาบ นายแพทย์อัลเลนสั่งให้กั้นห้องเลี้ยงดูทารก ห้ามบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าโดยเด็ดขาด แม้แต่พ่อแม่ก็ต้องได้รับอนุญาตก่อนที่จะเข้าไปดูทารก

โอลิวาขอยกเลิกสัญญานำทารกไปโชว์ตัวในงานชิคาโกเวิลด์แฟร์ แต่คู่สัญญาไม่ยอมยกเลิกให้ สำนักงานอัยการออนแทรีโอหาทางออกให้กับโอลิวา แนะนำว่าหากเขาเซ็นยินยอมให้ทารกแฝดห้าอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดเป็นเวลา 2 ปี ทารกจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ห้ามไม่ให้นำไปแสวงหาผลประโยชน์

โอลิวาทำตามคำแนะนำของอัยการ สภากาชาดสร้างสถานอนุบาลฝั่งตรงข้ามบ้านของโอลิวา เลี้ยงดูทารกแฝดห้าอย่างดีราวกับเป็นเจ้าหญิง แต่ไม่อนุญาตให้โอลิวาและเอลไซร์อยู่กับแฝดห้าตามลำพัง ทุกครั้งที่พ่อแม่มาเยี่ยมทารกจะต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยเสมอ

เดือนกุมภาพันธ์ 1935 โอลิวาและเอลไซร์ออกเดินสายโชว์ตัวในฐานะพ่อแม่ของทารกแฝดห้า ทำให้นายกเทศมนตรีออนแทรีโอสบโอกาสใช้เป็นข้ออ้างผลักดันรัฐบาลแคนาดาออกรัฐบัญญัติปกป้องการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้เยาว์ โดยยืดเวลาให้ทารกแฝดห้าต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดจนกว่าจะอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์

สวนสัตว์แฝดห้า

สภากาชาดจัดตารางเวลาให้กับแฝดห้าอย่างเข้มงวด พวกเธอตื่นนอนเวลา 06.30 น. กินน้ำส้มและน้ำมันตับปลา แปรงผม สวดมนต์เช้า และกินอาหารเช้า หลังจากนั้นอนุญาตให้เล่นในห้องที่แสงแดดส่องถึงเป็นเวลา 30 นาที พักผ่อนตามอัธยาศัย 15 นาที เวลา 09.00 น. นายแพทย์อัลเลนตรวจสุขภาพ อาหารเที่ยงและอาหารเย็นเสิร์ฟตรงตามเวลาทุกวัน หลังจากนั้นสวดมนต์เย็นก่อนเข้านอน

สถานอนุบาลล้อมรั้วลวดหนามสูง 7 ฟุต มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายลาดตระเวนโดยรอบ แฝดห้าได้รับการดูแลจากพยาบาล 3 คน แม่บ้าน 1 คน และสาวใช้ 2 คน แฝดห้าได้รับอนุญาตให้ออกมาเล่นนอกอาคารวันละ 2 เวลา สนามเด็กเล่นล้อมรอบด้วยห้องสังเกตการณ์สำหรับ “ผู้ชม” ที่เดินทางมาดูแฝดห้า

ผนังห้องสังเกตการณ์ติดแผ่นป้าย “โปรดให้ความร่วมมือ อย่าส่งเสียงดัง” และ “ห้ามถ่ายภาพแฝดห้า” ประเมินว่ามีคนเดินทางมาชมแฝดห้าวันละ 3,000 คน เพื่อให้แยกออกได้ว่าใครเป็นใคร เสื้อผ้าของแฝดห้าแต่ละคนถูกกำหนดสีและสัญลักษณ์ แอนเน็ตใส่ชุดสีแดง สัญลักษณ์ใบเมเปิล, ซีซิล สีเขียว สัญลักษณ์ไก่งวง, เอมิลี สีขาว สัญลักษณ์ดอกทิวลิป, มารี สีน้ำเงิน สัญลักษณ์หมีเทดดี้, อีวอนนี สีชมพู สัญลักษณ์นกบลูเบิร์ด

โอลิวาถือโอกาสเปลี่ยนบ้านเป็นร้านขายของที่ระลึก ขายสินค้าต่างๆที่มีรูปแฝดห้า เช่น ภาพถ่าย โปสการ์ด ถ้วย จาน ชาม ช้อน และมีนักลงทุนเปิดร้านขายของที่ระลึกใกล้กันอีก 5 แห่ง ทำให้สถานอนุบาลแฝดห้ากลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่งใหม่ ถูกเรียกว่า “Quintland” หรือดินแดนแฝดห้า ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่าน้ำตกไนแองการา แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ภาพแฝดห้าถูกนำไปใช้โฆษณาสินค้าประจำวันแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้า ขนมหวาน น้ำเชื่อม ฯลฯ

คืนสู่เหย้า

ปี 1939 นายแพทย์อัลเลนลาออกจากการเป็นผู้ดูแลแฝดห้า และสนับสนุนให้รัฐบาลมอบสิทธิการเลี้ยงดูแฝดห้ากลับคืนให้กับพ่อแม่ตัวจริง รัฐบาลพรากแฝดห้าไปจากพ่อแม่โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องการนำเด็กไปแสวงหาผลประโยชน์ แต่สถานอนุบาลกลับเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมแฝดห้าเหมือนเป็นสวนสัตว์มนุษย์

หลังจากฟ้องร้องกันนาน 9 ปี ในที่สุดโอลิวาและเอลไซร์ก็ชนะคดี ได้แฝดห้ากลับคืนเมื่อปี 1943 ในเวลานั้นโอลิวาสร้างรายได้มากมายจากการเปิดร้านขายของที่ระลึก 2 แห่ง เขาสร้างคฤหาสน์ขนาด 20 ห้องบนที่ดินเดิมเพื่อให้ลูกๆแต่ละคนมีห้องนอนส่วนตัว

แทนที่แฝดห้าจะได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว พวกเธอกลับต้องเผชิญกับความเกรี้ยวกราดของพ่อแม่ การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เป็นครั้งแรกที่พวกเธอไม่ได้นอนในห้องเดียวกัน ต้องทำงานโชว์ตัวต่อหน้านักท่องเที่ยวจำนวนมากทุกวัน เมื่อทำไม่ได้ดั่งใจก็จะถูกแม่ดุว่า หนักเข้าก็ถูกเฆี่ยนตี อีกทั้งโอลิวาพ่อผู้ให้กำเนิดก็แอบล่วงละเมิดทางเพศพวกเธอ

แอนเน็ตให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในปี 1999 เล่าว่าตอนอายุ 13 ปี พ่อแอบย่องเข้ามาในห้องนอนเธอและใช้มือล้วงเข้าไปในกระโปรง เธอตกใจมาก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอสวมแต่เสื้อคอเต่าและพยายามหลบหน้าพ่อทุกครั้งที่ทำได้ ครั้งหนึ่งซีซิลพบเอมิลีนั่งกอดเข่าโยกตัวไปมาอยู่ในห้องใต้ดิน ซีซิลพอจะเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้น เธอถาม “พ่อใช่ไหม” เท่านั้นเองเอมิลีก็ร้องไห้ฟูมฟายแทนคำตอบ

พอแฝดห้าอายุครบ 18 ปี พวกเธอถูกส่งไปเข้าเรียนที่ควิเบก แต่เอมิลีหนีไปบวชชี ขณะที่อีวอนนีและซีซิลเรียนพยาบาล ส่วนมารีและแอนเน็ตเรียนมหาวิทยาลัย 2 ปีต่อมาเอมิลีเสียชีวิตจากโรคลมบ้าหมู ซึ่งเธอแสดงอาการมาตั้งแต่เด็ก แต่พ่อแม่ปกปิดเอาไว้และไม่ยอมส่งตัวเธอไปรักษา ทำให้ตำนานแฝดห้าต้องจบลงตามไปด้วย

มารีเสียชีวิตในปี 1970 จากโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน แต่บางกระแสก็บอกว่าเธอกินยาฆ่าตัวตาย ปี 1998 แฝดห้าที่เหลือแค่สามฟ้องร้องรัฐบาลแคนาดาจากการแสวงหาผลประโยชน์จากพวกเธอในวัยเด็ก รัฐบาลเสนอเงิน 4 ล้านดอลลาร์ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น อีวอนนีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2001 ขณะที่แฝดที่เหลืออีก 2 คน แอนเน็ตและซีซิลปัจจุบันยังคงมีชีวิตอยู่

 


1

1.เอลไซร์กับแฝดห้าหลังคลอด 6 ชั่วโมง

2

2.แฝดห้าครบรอบวันเกิด 1 ขวบ

3

3.นายแพทย์อัลเลนกับแฝดห้า

4

4.แฝดห้าเรียนหนังสือในสถานอนุบาล

5

5.นักท่องเที่ยวกรูกันเข้าสถานอนุบาลทันทีที่ประตูเปิด

6

6.ร้านขายของที่ระลึกของโอลิวา

7

7.นักท่องเที่ยวยืนรอเวลาเปิดให้ชมแฝดห้ารอบ 14.30 น.

8

8.แฝดห้าในสนามเด็กเล่นล้อมรอบด้วยห้องสังเกตการณ์

9-1

9-2

9-1, 9-2 แฝดห้าถูกนำไปใช้ในโฆษณาสินค้าประจำวัน

10

10.นักท่องเที่ยวเข้าแถวรอชมแฝดห้าหน้าคฤหาสน์ไดโอนน์

11

11.โอลิวากับแฝดห้า (จากซ้าย) แอนเน็ต, มารี, เอมิลี, ซีซิล และอีวอนนี


You must be logged in to post a comment Login