วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล กับบทบาท 47 ปีของสถาบันผู้สร้าง “เมล็ดพันธุ์” สิ่งแวดล้อมศึกษาของชาติ

On January 9, 2020

“…พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำฉันจะสร้างป่า…” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำคิ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า จากเมื่อปี 2516 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 138,566,875 ไร่ หรือร้อยละ 43.21 ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปี 2559-2560 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 102.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศ ทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาล

การบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ จำเป็นต้องทำการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและเห็นผลกระทบของการบุกรุกทำลายป่าดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุระ พัฒนเกียรติ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนปัจจุบัน กล่าวว่า วิกฤติไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในโลก ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญในการทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลาย ส่วนใหญ่เป็นผลพวงมาจากวิกฤติการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่สาเหตุของการเกิดไฟป่าในประเทศไทยส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเผาป่า เพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ หรือ เผาในกิจกรรมทางการเกษตร ฯลฯ โดยเฉพาะการเกิดไฟป่าในพื้นที่พรุในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเกิดการสะสมซากอินทรียวัตถุในปริมาณมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการเกิดไฟป่า การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องมีการทำแนวกันไฟ หรือลดปริมาณเชื้อเพลิงด้วยวิธีการ “ชิงเผา” แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือสร้างความตระหนักแก่ประชาชนเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าจากกิจกรรมต่างๆ

ปัญหาไฟป่าในประเทศไทย นอกจากจะเป็นการทำลายสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดวิกฤติมลพิษหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องช่วยกันดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า รวมทั้งดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่า และหรือพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดลได้น้อมนำพระราชดำริในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) ที่มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นน่าอยู่ โดยมีการส่งเสริมการเรียนรู้ ควบคู่กับสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

S__28680295

ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้นั้นพบได้ทุกพื้นที่  แต่จะมีวิธีการอย่างไรที่จะรักษาป่าไว้ให้อยู่ตราบนานเท่านาน “สิ่งแวดล้อมศึกษา” จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว

ตั้งแต่ปี 2516 – ปัจจุบัน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้บริการการศึกษา วิจัย ฝึกอบรม และการบริการวิชาการทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก โดยมีวิสัยทัศน์เป็นสถาบันชั้นนำแห่งเอเชียด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.นาท ตัณฑวิรุฬห์ ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วางรากฐานการเรียนการสอน การวิจัยและบริการวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาให้สังคมไทยตลอดเวลา 47 ปีที่ผ่านมา กล่าวไว้ว่าการอนุรักษ์และการจัดการใช้ทรัพยากรของชาตินั้นควรดำเนินการให้ถูกรูปแบบโดยการกระทำต้องไม่มีผลเสียในภายหลังและใช้ให้เหมาะสมแก่กาลเวลา ซึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นาท ตัณฑวิรุฬห์ ได้ปลูกไว้ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้น ได้กลายเป็นพลังสำคัญของชาติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมาแล้วมากมาย

นางสาวเบญจพร กองเพชร หรือ “นิว” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสาเหตุที่เลือกเรียนคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า เกิดจากสนใจปัญหาภาวะโลกร้อน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีต้นแบบจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นาท ตัณฑวิรุฬห์ ผู้ก่อตั้งคณะฯ ที่ตนและนักศึกษาคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกคนเคารพนับถือ ซึ่งการอนุรักษ์ไม่ได้หมายถึงแค่การเก็บรักษาเอาไว้ แต่คือการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้าน นางสาวณฐนน ฤทธิ์เดช หรือ “นัทโก๊ะ” ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 อีกหนึ่งเมล็ดพันธุ์ของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ว่า  “ธรรมชาติ” เป็นต้นกำเนิดของ “ปัจจัย 4” ที่เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ จริงๆ แล้วธรรมชาติไม่ได้ต้องการให้เราไปสร้างอะไรให้เพิ่มเติม ขอเพียงแค่เรารบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด เห็นคุณค่าของธรรมชาติให้มากที่สุดเท่านั้น เราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยาวนาน

อนาคตของป่า คือ อนาคตของชาติ คือ การอยู่ร่วมกันระหว่าง “มนุษย์” กับ “ธรรมชาติ” ที่ต้องรักษาให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืนสืบไป

 

*****สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร.0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login