วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

ระบบขนส่งมวลชนกรุงจาการ์ตา

On September 17, 2019

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 20-27 กันยายน 2562)

ดร.โสภณจะพาท่านชมระบบขนส่งมวลชน 3 แบบคือ รถเมล์ รถบีอาร์ที และรถไฟฟ้าใต้ดิน แม้วันนี้รถยังติดอย่างหนักในกรุงจาการ์ตา แต่ก็มีพัฒนาการในทางที่ดี อีกอย่างฝุ่นต่างๆ และรถยนต์แบบรถเมล์เล็ก สองแถวควันดำ หาแทบไม่เจอแล้ว

ผมไปกรุงจาการ์ตาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2526 และแวะเวียนไปเป็นระยะๆ ผมเคยไปทำงานในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย และยังเคยไปศึกษาการวางแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของธนาคารโลก ณ กรุงจาการ์ตาอีกด้วย นอกจากนั้นยังไปสำรวจโครงการตลาดที่อยู่อาศัยที่นั่นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 และ 2558 ซึ่งเป็นการสำรวจที่ได้ข้อมูลที่มากและครอบคลุมมากที่สุด โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

รถเมล์ในกรุงจาการ์ตา

เดี๋ยวนี้ไม่เห็นรถเมล์เล็กหรือสองแถวแบบบ้านเราแล้ว พบแต่รถเมล์ จาการ์ตามีพื้นที่ประมาณ 750 ตร.กม. หรือเล็กกว่ากรุงเทพฯประมาณ 1 เท่าตัว ทว่าเป็นที่อยู่ของประชากรกว่า 10.6 ล้านคน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2019) แม้รถยนต์ส่วนบุคคลจะเป็นทางเลือกในการเดินทางของชาวจาการ์ตาจนทำให้เมืองประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอันดับต้นๆของโลก อย่างไรก็ตาม รถโดยสารประจำทางก็ยังเป็นทางเลือกการเดินทางยอดนิยม แต่ละปีรถเมล์โดยสารที่วิ่งให้บริการในจาการ์ตารองรับการใช้งานของผู้โดยสารรวมเกือบ 200 ล้านคน นับเป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (https://lnkd.in/fVuiY9a)

นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา จาการ์ตาเริ่มนำรถเมล์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยบริษัทจีนและบริษัทท้องถิ่นของอินโดนีเซียเองมาทดลองวิ่งให้บริการ นอกจากเป้าหมายทำให้จาการ์ตาเป็นเมืองสีเขียวหรือเมืองใหญ่ที่เป็นมิตรต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับโลกแล้ว อินโดนีเซียยังมุ่งหวังให้เมืองใหญ่แห่งนี้เป็นที่จดจำในฐานะเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะอาดและไม่สร้างไอเสียอีกต่อไป โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (UNEP) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลภาวะทางอากาศของโลก สถิติชี้ว่า เฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมลภาวะทางอากาศได้ส่งผลคร่าชีวิตผู้คนถึง 4 ล้านคนต่อปี (https://lnkd.in/gMDmacP)

ในโอกาสนี้ ดร.โสภณได้ทดลองนั่งรถประจำทาง (รถเมล์) ในกรุงจาการ์ตา มาชมสภาพรถเมล์กัน ทั้งนี้ หัวข้อเป็นดังนี้ : นั่งรถเมล์ในกรุงจาการ์ตา โปรดดูตาม link นี้: https://lnkd.in/fNUXfHa

บีอาร์ทีในกรุงจาการ์ตา

จาการ์ตาถือเป็นเมืองหลวงของบีอาร์ทีของโลก เพราะมีเครือข่ายมากที่สุดในโลก แต่อันที่จริงมีรถไฟฟ้าดีกว่า ในโอกาสนี้ ดร.โสภณได้ทดลองนั่งรถบีอาร์ทีในกรุงจาการ์ตา มาชมสภาพรถบีอาร์ทีกัน

รถบีอาร์ที (Bus Rapid Transit) ในไทย หรือเรียกว่า Busway ในอินโดนีเซีย แต่ทั้งระบบเรียกว่าทรานส์จาการ์ตา (TransJakarta) เป็นระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษในจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มดำเนินงานวันที่ 25 มกราคม 2547 ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชาวจาการ์ตา โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน รถโดยสารจะวิ่งในช่องทางที่กำหนดเท่านั้น ในปี 2547 มีสถิติผู้โดยสาร 350,000 คน และรถโดยสาร 500 เที่ยวต่อวัน (https://lnkd.in/fJqSFze)

ปัญหาของรถ Busway ในกรุงจาการ์ตาก็คือ เลนที่มีไว้ตลอด 24 ชั่วโมง มันเกินความจำเป็น น่าจะมีเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ขณะเดียวกันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนก็มีรถส่วนบุคคลหรือรถอื่นๆวิ่งเข้ามาใช้เส้นทางรถ Busway ทำให้รถ Busway ขับไปไม่ได้ จึงทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนได้จริง หากวิเคราะห์ถึงจำนวนผู้โดยสารจะพบว่า ในแต่ละวันมีผู้โดยสารรถ Busway ของกรุงจาการ์ตา 350,000 คน หรือราวครึ่งหนึ่งของรถ BTS ของไทย ณ วันละ 550,000-600,000 คน ทั้งที่ BTS มีระยะทางเพียง 33 กิโลเมตร และมีสถานีรวมเพียง 33 สถานี ขณะที่รถ BRT ของไทยมีผู้ใช้บริการวันละ 20,000 คน เท่านั้น และรถประจำทางในกรุงเทพมหานครทั้งระบบมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน

จะเห็นได้ว่าการมีบีอาร์ทีไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้การจราจรบนถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาส ติดขัดหนักกว่าเดิม ผมเคยเสนอให้มี Bus Lane (โดยไม่ต้องมีบีอาร์ทีให้เป็นภาระ) เฉพาะในช่วงเร่งด่วน จับปรับคนที่ฝ่าฝืน และหลังจากเวลาดังกล่าวก็ให้คืนช่องทางจราจรให้กับรถอื่นๆไปเสีย

ต่อไปนี้เป็นคลิปในเฟซบุ๊คซึ่งแสดงการมาดูรถบีอาร์ทีแห่งกรุงจาการ์ตาของ ดร.โสภณ :  https://lnkd.in/fxX7ZFT

รถไฟฟ้าใต้ดินจาการ์ตา

กรุงจาการ์ตาก็เคยคิดจะสร้างรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่พับไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ยังมี “อนุสรณ์สถาน” ให้เห็นเป็นแท่งหิน แต่ของไทยคงโกงกินกันน้อยกว่าจึงยังมีเหลือซากเป็น “Stonehenge” หรือโครงการรถไฟฟ้า Hopewell คือนอกจากมีเสาแล้ว ยังมีคานพานไว้เพิ่มเติม และของไทยยังมีรถไฟฟ้าเสร็จ สามารถใช้งานได้อีก 2 สายคือ BTS และ MRT และอื่นๆ ขณะนี้กรุงจาการ์ตาเพิ่งก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จ โดยแต่เดิมคาดว่าจะสามารถใช้งานสายแรกได้ในปี 2559 แต่มาเสร็จปี 2562 สายต่อมาจะเสร็จในปี 2563 ส่วนสายที่ 3 จะเสร็จในราวปี 2567-2570

เดี๋ยวนี้ไม่ธรรมดา จาการ์ตามีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ต่อไปจะเป็นพยัคฆ์ติดปีกหรือไม่อย่างไร ดร.โสภณได้ทดลองนั่งรถไฟใต้ดินในกรุงจาการ์ตา

เอ็มเอร์เต จาการ์ตา (อินโดนีเซีย : MRT Jakarta) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจาการ์ตา (Mass Rapid Transit Jakarta) เป็นระบบขนส่งมวลชนเร็วของกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 เป็นการก่อสร้างในระยะที่ 1 และได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 (https://lnkd.in/fYrRvkf)

ในที่นี้เป็นคลิปที่ ดร.โสภณทดลองนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน จาการ์ตามีรถไฟใต้ดินแล้วนะ ตามนี้ : https://lnkd.in/g3HbfZ4

อนาคตจะเป็นอย่างไร

แม้ตอนนี้รถติดหนักมากในกรุงจาการ์ตา แต่ในอนาคตเมื่อระบบใต้ดินมีมากขึ้นรถก็คงหายติด หรือเปลี่ยนบีอาร์ทีให้เป็นรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดินมากขึ้น อนาคตของจาการ์ตากำลังสดใส ไทยต้องจับตามองให้ดี


You must be logged in to post a comment Login