วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

มารู้จักเคมีบำบัดกับการรักษามะเร็งกันเถอะ

On September 13, 2019

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 13-20 กันยายน 2562)

เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งทุกคนจะรู้สึกตกใจ เพราะมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลกและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ โดยมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งได้แก่มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งคือ มะเร็งปอด ตามมาด้วยมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดเป็นรูปแบบการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง

โรคมะเร็งที่รักษาได้ผลดี (Curable Cancer) นั้น ส่วนใหญ่ถ้าสามารถวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก โดยมากจะเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น แต่หากวินิจฉัยเมื่อโรคเป็นมากแล้วและมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็ง ทำให้โรคมะเร็งบางชนิดที่แม้มีการแพร่กระจายไปแล้วก็สามารถเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ โดยโรคมะเร็งที่สามารถรักษาได้ผลดีด้วยยาเคมีบำบัด ประกอบด้วย 1.โรคมะเร็งอัณฑะ 2.โรคมะเร็งเนื้อรก (Choriocarcinoma) 3.โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด และ 4.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด

วิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบ “สหสาขา” หมายถึง การรักษาโดยทีมแพทย์หลายสาขาร่วมกัน ประกอบด้วย แพทย์รังสีวินิจฉัย แพทย์รังสีร่วมรักษาช่วยในการวินิจฉัยและการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย ศัลยแพทย์โรคมะเร็งทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก แพทย์ทางรังสีรักษาให้การรักษาด้วยแสงรังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็งวิทยาให้การรักษาทางยา สำหรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) นับเป็นการรักษาหลักของการรักษาทางยาที่ใช้มากที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน โดยยาเคมีบำบัดอาจใช้เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรืออาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาที่เรียกว่าChemoradiation อาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยามุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน(Hormonal Therapy) นับเป็นการรักษาที่ใช้รองลงมาจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) โดยการพยายามใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง

ระยะของโรคมะเร็งและแนวทางการรักษา โดยทั่วไปแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ โรคมะเร็งระยะที่ 1-2 คือโรคมะเร็งระยะแรกที่สามารถผ่าตัดได้ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องให้การรักษาเสริมภายหลังด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือยาต้านฮอร์โมนที่เรียกว่า Adjuvant Treatment โรคมะเร็งระยะที่ 3 คือโรคมะเร็งที่มักมีการลุกลามมากขึ้น โดยมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง บางรายสามารถผ่าตัดได้ ศัลยแพทย์ก็จะผ่าตัดก่อน หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องให้การรักษาเสริมภายหลังด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา และ/หรือยาต้านฮอร์โมน เหตุผลที่มีการนำเอายาเคมีบำบัดและยาอื่นๆมาให้เสริมหลังผ่าตัดก็เพื่อลดอุบัติการณ์ของการกลับมาของโรคมะเร็งทั้งแบบเฉพาะที่และแบบแพร่กระจาย ซึ่งท้ายที่สุดจะเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วย ในบางรายที่โรคเป็นมากและการผ่าตัดอาจทำได้ แต่ผลการรักษาอาจไม่ดี เนื่องจากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ จึงมีการนำเอายาเคมีบำบัดมาใช้รักษาในระยะเบื้องต้นก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนเล็กลง ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดเก็บอวัยวะหรือผ่าตัดเก็บเต้านมได้ จากนั้นก็ให้การรักษาอื่นตามในภายหลัง โรคมะเร็งระยะที่ 4 หรือโรคมะเร็งระยะที่ 1-3 และมีการกลับมาของโรค ผู้ป่วยจะมีโรคลุกลามมากขึ้นและแพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง และที่อื่นๆ ซึ่งโรคมะเร็งระยะที่ 4 นี้ มีโรคมะเร็งบางชนิดสามารถเพิ่มโอกาสรักษาให้ได้ผลดีได้ด้วยยาเคมีบำบัด เช่น โรคมะเร็งอัณฑะ โรคมะเร็งเนื้อรก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งระยะแพร่กระจายนี้ส่วนมากรักษาไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ หากผู้ป่วยมีกำลังใจดี มีร่างกายที่แข็งแรงพอสมควร แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดที่เป็นการรักษาหลักในการรักษาโรคมะเร็งระยะแพร่กระจาย โดยยาเคมีบำบัดจะไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้งที่อยู่เฉพาะที่และที่แพร่กระจายไป หากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาเคมีบำบัดนั้นได้ผลดี การรักษาก็จะเพิ่มระยะเวลาการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ และคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้การรักษาอื่นๆของโรคมะเร็งระยะที่ 4 อาจเป็นการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน การรักษาด้วยยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัด แล้วแต่ชนิดของโรคมะเร็ง


You must be logged in to post a comment Login