วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ยกที่1เริ่มแล้ว

On June 20, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 20 มิ.ย.62)

ปัญหาความทับซ้อนทางอำนาจและสถานะของ “ลุงตู่” ในฐานะนายกฯเก่าและนายกฯใหม่ได้รับคำชี้แจงจาก “เนติบริกร” ว่าไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้มีข้อจำกัดบทบาทอำนาจใดๆไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ได้จำกัดไว้โดยขนบธรรมเนียมประเพณีใดๆด้วย ทำให้ “ลุงตู่” ใช้อำนาจได้ต่อไปอย่างเต็มที่ แต่ที่จะไม่เหมือนเดิมคือแนวรบในสภาที่ฝ่ายค้านจากการเลือกตั้งของประชาชนเริ่มต้นด่านทดสอบแรกด้วยการยื่นญัตติด่วนตรวจสอบที่มาของ ส.ว.ลากตั้ง โดยล็อกเป้าให้ “ลุงตู่-ลุงป้อม” เป็นผู้ชี้แจงเท่านั้น ต้องดูว่าหลังหมดยกแรก “ลุงตู่-ลุงป้อม” จะลงจากเวทีมาด้วยสภาพอย่างไร

ความพิลึกพิลั่นเกี่ยวกับสถานะของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พ้นจากตำแหน่งนายกฯสมัยแรกไปแล้ว และกำลังอยู่ในสถานะนายกฯสมัยที่สอง แต่ยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ ยังไม่ได้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แถลงนโยบายต่อสภา จนเกิดคำถามว่าช่วงรอยต่อแบบนี้ยังมีอำนาจประชุมสั่งงานได้ตามปกติหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำอธิบายจากเนติบริกรอย่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าคณะรัฐมนตรีเดิมยังมีอำนาจเต็มจนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่จะเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์

“มันไม่ใช่สิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Caretaker Government แต่เป็น Full Powers Government เพราะกรณีรัฐบาลรักษาการนั้นจะใช้ต่อเมื่อรัฐบาลมีการยุบสภา เมื่อรัฐสภาสิ้นสุดรัฐบาลต้องสิ้นสุดด้วย เพราะสภาเป็นคนตั้งรัฐบาล แต่กรณีคณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่ได้มีข้อจำกัดบทบาทอำนาจใดๆไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ได้จำกัดไว้โดยขนบธรรมเนียมประเพณีใดๆด้วย ถ้าถามว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีภารกิจอะไรนักหนาจึงต้องประชุมในระหว่างนี้ ก็เพราะใกล้ประชุมอาเซียน มีสิ่งที่ที่ประชุมปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีแยกไปประชุมกับต่างประเทศเกือบ 100 เรื่อง ซึ่งจะต้องนำกลับเข้ามาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิทในวันที่ 22-23 มิถุนายน หากไม่นำเรื่องเหล่านั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรีก่อนจะเอาไปนำเสนอเขาก็ไม่ได้  จึงต้องมีการประชุม”

จากคำชี้แจงของเนติบริกรทำให้เข้าใจได้ว่า “ลุงตู่” ยังใช้อำนาจของนายกฯคนเก่า แม้จะมีสถานะเป็นนายกฯคนใหม่แล้วก็ตาม ส่วนการใช้อำนาจนายกฯใหม่จะเริ่มเมื่อนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์

ส่วนที่จั่วหัวว่ายกที่หนึ่งเริ่มแล้ว หมายถึงการเปิดศึกในสภาจาก 7 พรรคฝ่ายค้านที่ร่วมกันเสนอญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาตรวจสอบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สำหรับประเด็นที่ฝ่ายค้านโฟกัสไว้ประกอบด้วย

1.การคัดเลือก ส.ว. มีคณะกรรมการสรรหาจริงหรือไม่ แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะออกมาเปิดเผยรายชื่อ แต่ก็เป็นการเปิดเผยรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ

2.คณะกรรมการดังกล่าวมีระเบียบและวิธีการสรรหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเปิดเผย

3.มีสมาชิก ส.ว. หลายคนเป็นเครือญาติและพวกพ้องของผู้มีอำนาจ เป็นการได้มาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

4.งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ได้ถูกนำไปใช้ตามระเบียบวิธีการใช้งบประมาณหรือไม่

ประเด็นที่ฝ่ายค้านให้น้ำหนักถือว่าผิดคาดไปเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้คิดว่าจะให้น้ำหนักตรวจสอบในเรื่องความเป็นกลางของคณะกรรมการสรรหา และตรวจเรื่องที่มีกรรมการสรรหาได้รับเสนอชื่อเป็น ส.ว. ด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้เนติบริกรคนเดิมอาสารับหน้าเสื่อเป็นผู้ชี้แจงแทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการตามคำข้อเสนอของฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ฝ่ายค้านต้องการเดินเกมให้ “ลุงตู่” ในฐานะหัวหน้า คสช. กับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการสรรหา ส.ว. ไปชี้แจงเท่านั้น นายวิษณุไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ได้เป็นทั้งกรรมการ คสช. และไม่ได้เป็นกรรมการสรรหา ส.ว.

ต้องดูว่ายกแรกในสภา “ลุงตู่-ลุงป้อม” จะเอาตัวรอดอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login