วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

มูลนิธิรพ.ราชวิถีชวนคนไทยมาร่วมเป็น1ในทีมซูเปอร์ฮีโร่พิชิตมะเร็งระดมทุนต่อชีวิตให้ผู้ป่วยมะเร็ง

On June 12, 2019

1

โรคมะเร็งเป็นภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ1 ถึง 70,000 คนต่อปี หรือเกือบ 200 คนต่อวัน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย การรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และการเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตสูง ดังนั้น “มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ชวนคนไทยทั่วประเทศผนึกกำลังเป็น “ทีมราชวิถี ซูเปอร์ฮีโร่ พิชิตมะเร็ง” สานต่อพลังบุญ ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง ร่วมบริจาคสมทบกองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิรพ.ราชวิถีโดยมีเหล่าศิลปิน ดารา – นักร้องใจบุญทั้งรุ่นใหญ่รุ่นเล็กเข้าร่วมทีม ซูเปอร์ฮีโร่กว่า 50 คนพร้อมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการฯ อาทิ  คุณสมบัติ เมทะนี,คุณบิณฑ์ บันลือฤทธิ์, คุณรอง เค้ามูลคดี , คุณไท ธนาวุฒิ ,คุณตุ๊ก วิยะดา, คุณวาววา -ณิชารีย์  คุณศิริลักษณ์ ผ่องโชค, คุณหยวน – กวินรัฏฐ์ เป็นต้น

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี  เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเป็นภัยเงียบ คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับ 1 และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในส่วนโรงพยาบาลราชวิถี ได้ดูแลรักษาป่วยมะเร็งจากทั่วประเทศ ทั้งในส่วนผู้ป่วยของรพ.เอง และผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น โรงพยาบาลราชวิถีมีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจร ทั้งการฉายแสง เคมีบำบัด รวมทั้งการผ่าตัด ครอบคลุมมะเร็งในทุกด้าน เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งนรีเวช มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ในปี 2561 ที่ผ่านมา รพ.ราชวิถี รักษาผู้ป่วยมะเร็งมากถึง 15,670 คน หรือเฉลี่ยวันละ 43 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศปีละ 10,250 คน หรือเฉลี่ยวันละ 28 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ บุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องรักษาอาจต้องรอคิวการรักษายาวนานซึ่งการรอเพื่อรับการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านี้ เป็นปัญหาสำคัญ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วโอกาสที่จะหายและสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติจะมีมากขึ้น

2

ดังนั้นมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี ได้ก่อตั้งโครงการ “ทีมราชวิถี ซูเปอร์ฮีโร่ พิชิตมะเร็ง” ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และส่งเสริมดำเนินงานของโรงพยาบาลราชวิถี ในด้านการบริการผู้ป่วยตลอดจนงานด้านการศึกษาวิจัย ค้นคว้าทางวิชาการในด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งซึ่งการพิชิตมะเร็ง หากรู้เร็ว และรักษาได้ไว โอกาสมีชีวิตรอดก็สูง การรักษามะเร็งมีค่อนข้างสูง การระดมทุนในการทำกิจกรรมส่งเสริมครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่ทันสมัยให้เพียงพอ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากจะได้ไม่ต้องรอรักษานาน

โครงการฯ จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งเพื่อรณรงค์ ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับทีมซูเปอร์ ฮีโร่ พิชิตมะเร็ง พร้อมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์โครงการให้มีผู้ร่วมบริจาคสมทบ “กองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิ รพ.ราชวิถี” ในการนำไปรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแคมเปญ“กองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิรพ.ราชวิถี” โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” หมายเลขบัญชี 0512163221 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หรือ สอบถามโทร 02-3547997-9หรือwww.rajavithihospitalfondation.org มาร่วมต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยที่รอโอกาสทางการรักษา

3

พร้อมกันนี้เหล่าศิลปินดารา-นักร้อง รุ่นใหญ่รุ่นเล็กสายบุญกว่า 50 คน พร้อมเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการฯ ร่วมเป็นทีมราชวิถี ซูเปอร์ฮีโร่ พิชิตมะเร็งเชิญชวนคนไทยร่วมบริจาคสมทบ“กองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิรพ.ราชวิถี”  คือ ณณิชารีย์ โชคประจักษ์ชัด (วาววา), สมบัติ เมทะนี, บิณฑ์ บันลือฤทธิ์, คเณศ เค้ามูลคดี (รอง) , กรุง ศรีวิไล , ดาวใจ ไพจิตร , วินัย พันธุรักษ์, ศิริลักษณ์ ผ่องโชค (จอย), กวินรัฏฐ์ ยศอมรสุนทร (หยวน), ไกรภพ จันทร์ดี (กบ), อลิศ คริสตัน ,พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร , ปราโมทย์ วิเลปะนะ , เสกสรรค์ ปานประทีป (โอ้) , คณาคำ  อภิรดี , สายธาร นิยมการณ์  ,วิยะดา โกมารกุล ณ นคร, รุ้งลาวัลย์ โทนะหงส์ ,เมทินี จันทร์สร้อย  , ธนาวุฒิ ชวธนาวรกุล (ไท) , ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา (อู๋), ด.ช.พสิษฐ์ วัฒนาเลขาวงศ์ (น้องกาย) , ณัฐนรี วัชรเธียรสกุล (มิว) , ไซม่อน เคลสเลอร์, ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ (แม๊กซ์)  เป็นต้น

โดยภายในงาน ยังมีการเสวนาแนวทางพิชิตมะเร็ง “มะเร็งศีรษะ-คอมะเร็งที่ถูกมองข้าม และมะเร็งน่าห่วงในสตรีไทยยุคใหม่” โดย นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี นพ.ณัฐ นิยมอุดมวัฒนา แพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก และผศ.พิเศษ.พญ.อรัญญา ยันตพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช รพ.ราชวิถี พร้อมประสบการณ์จริงจากผู้ป่วยมะเร็ง

4

@ มะเร็งน่าห่วงในสตรีไทยยุคใหม่

ผศ.พิเศษ.พญ.อรัญญา ยันตพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช รพ.ราชวิถี เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ปี 2560 ระบุว่าในแต่ละปีจะพบว่าสตรีไทย ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 5,513 ราย และหากลงลึกไปอีกจะพบว่าในแต่ละวันจะมีสตรีป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มถึง 15 ราย และแต่ละปีจะมีสตรีไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกถึง 2,251 ราย หรือเฉลี่ยจะมีสตรีไทยเสียชีวิตเพราะมะเร็งปากมดลูกวันละ 6 รายผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ถึง 8,184 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก

ปัจจุบันสถานการณ์มะเร็งในหญิงไทยมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โชคดีที่เราสามารถมีวิธีการสืบค้นได้มากขึ้น มีการตรวจพบในระยะต้นๆได้มากขึ้น และพบได้กับคนไข้ในกลุ่มที่อายุน้อยมากขึ้น มะเร็งในผู้หญิงเรา มีมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม มักพบในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบได้ในคนที่มีอายุน้อย ๆ เช่น 20 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีคู่นอนหรือมีสามีหลายคน หรือมีสามีที่มีความสำส่อนทางเพศ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

5

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้จะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุในอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ที่ปากมดลูก ทำให้ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของปากมดลูก จนกลายเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง (ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก) และเป็นมะเร็งในที่สุด

การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายแสง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และชนิดของเซลที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นในระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่จะรักษาด้วยการผ่าตัด หากเป็น ระยะ 2 และ 3 ขึ้นไป การรักษาเป็นการฉายแสงและหรือ ร่วมกับยาเคมีบำบัด การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและการตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ผู้ป่วยที่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่มักสิ้นหวังกับการมีชีวิต คิดว่าเมื่อเป็นมะเร็งแล้วจะต้องตายแน่ๆ จริงๆ แล้ว “มะเร็ง” ยิ่งรักษาเร็วยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตสูง โรงพยาบาลราชวิถีมีผู้ป่วยด้านมะเร็งนรีเวชจากปีที่ผ่านมา(2561) จำนวน 639 คน อาทิ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูกและมะเร็งนรีเวชอื่นๆ เป็นต้น และปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีมีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รอรับการรักษา ทั้งด้วยการผ่าตัดการให้ยาเคมีบำบัด หากเขาเหล่านั้นได้รับการรักษาเร็วโอกาสที่จะหายและสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติมากขึ้น

6

@ มะเร็งศีรษะ-คอมะเร็งที่ถูกมองข้าม

นพ.ณัฐ นิยมอุดมวัฒนา นายแพทย์ชำนาญการกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี เปิดเผยว่า จากสถิติทะเบียนมะเร็งแห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา พบว่ามะเร็งช่องปากเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย และเป็นอันดับที่ 10 ในเพศหญิง นอกจากนี้ มะเร็งไทรอยด์พบมากเป็นอันดับ 7 ในเพศหญิงอีกด้วย และปัจจุบันมะเร็งที่รักษาได้ยากและมะเร็งที่พบบ่อย คือได้แก่ มะเร็งช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง โพรงจมูกและไซนัส โพรงหลังจมูก ไทรอยด์ และต่อมน้ำลาย

โดยในแต่ละปีของ รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยมะเร็ง ศีรษะ และคอรายใหม่ เข้ามารักษาอย่างต่อเนื่องมีจำนวนตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างเช่นปี 2558  มีจำนวน 529 ราย ปี 2559 มีจำนวน 600 รายปี 2560 มีจำนวน 673 ราย รวมทั้งมีความยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากเป็นศูนย์รับส่งต่อที่ใหญ่ที่สุดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และมีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Center of Excellence) ด้านโสต ศอ นาสิก และมะเร็งศีรษะและคอ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง คือ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดีหรือมีฟันแหลมคมที่ทำให้เกิดการระคายเคือง มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง อาการที่ส่งสัญญาณเตือนว่า สงสัย อาจจะเป็นมะเร็งศีรษะและคอ ได้แก่  เป็นแผลที่ลิ้น หรือ ช่องปาก (ที่ไม่หายภายใน  3 สัปดาห์)   เจ็บคอ  เสียงแหบ กลืนติด ที่รักษาด้วยยาแต่ไม่ดีขึ้น  มีน้ำมูก หรือเสมหะปนเลือด  มีก้อนที่คอหรือในบริเวณช่องปาก ช่องคอ ที่โตขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งหากท่านมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกับมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

การรักษาในมะเร็งระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่ใช้การรักษาเพียงวิธีเดียว เช่น การผ่าตัด หรือ การฉายรังสี  ส่วนมะเร็งระยะลุกลาม ใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน  ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสีร่วมกับการให้เคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาขึ้นอยู่กับการตอบสนองการรักษา  และผู้ป่วยที่เป็นระยะลุกลามมีการรักษาหลายวิธีร่วมกันซึ่งมีการใช้ทรัพยากรมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษาวิธีเดียวในผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มแรก

จากการที่ รพ.ราชวิถี มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ยากไร้ มีฐานะยากจน ถึงแม้ว่าค่ารักษาพยาบาลจะสามารถใช้สิทธิการรักษาของรัฐได้ เช่น สิทธิ์ประกันสุขภาพ สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์ข้าราชการ เป็นต้น  แต่จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการถูกส่งตัวมา รพ.ราชวิถี ซึ่งทางรพ.ราชวิถีและมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้จัดตั้งกองทุนพิชิตมะเร็ง มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ให้ได้มีโอกาสรับการรักษา และสามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว


You must be logged in to post a comment Login