วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

“ประชาชนต้องสนใจการเมือง” สัมภาษณ์- ศิรัญญา ทองเชื้อ โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On January 29, 2018

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

“ศิรัญญา ทองเชื้อ” บรรณาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ถามผลงานรัฐบาลมีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบ้าง แม้แต่ความไว้ใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลก็ลดลง รัฐบาลเข้าใจหลักการประชาธิปไตยจริงๆหรือไม่ ประชาชนต้องสนใจและติดตามเรื่องการเมืองด้วย

+++++++++

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจและบริหารประเทศจะเข้าปีที่ 4 แล้วมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สิ่งที่ดีคือการจัดระเบียบรถตู้ อย่างแถวบ้านหนูที่รถตู้ไม่เป็นระเบียบ จอดตรงนั้นตรงนี้ ก็เป็นระเบียบมากขึ้น รถตู้ต่างจังหวัดอยู่ฝั่งเดียวกัน ถ้าปริมณฑลก็อยู่อีกฝั่ง ทำให้สบายตาขึ้น แต่การใช้มาตรา 44 ก็รู้สึกว่าใช้พร่ำเพรื่อมากเกินไป

ยกตัวอย่างรัฐบาล คสช. ใช้มาตรา 44 กับการศึกษา เดี๋ยวก็ใช้กับเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางอย่างก็ไม่จำเป็น อีกสิ่งที่เห็นได้คือเขาเป็นทหาร ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนบกพร่องอะไร แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะทำงานจุดนี้ ทหารต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ มีระเบียบ แต่การบริหารบ้านเมืองบางทีต้องลดหย่อนและเข้มงวด ตึงเกินไปมันก็มากไป

มองผลงานของรัฐบาล

เศรษฐกิจของประเทศไทยซบเซามานาน ถ้าติดตามข่าวเศรษฐกิจก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไร คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไร รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศพอสมควรแล้ว แต่ไม่เห็นมีการพัฒนาอะไรมากนัก ในภาพรวมบ้านเมืองไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่จะถอยหลังเข้าคลอง อย่างรถไฟฟรีที่ยกเลิกไป หรือข่าวว่าจะเปลี่ยนรถเมล์ใหม่ ก็แค่ทำสีรถเมล์อะไรอย่างนี้ การปรับเส้นทางการเดินรถใหม่ก็แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ควรให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรจะได้เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่รัฐบาลต้องให้ เช่น ขึ้นรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ไม่ใช่ต้องเป็นคนจน ทุกคนควรมีสิทธิเท่ากัน ด้านคุณภาพชีวิตเห็นว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย แถมบางอย่างยังแย่ลงด้วย

ในด้านการปฏิรูปการศึกษา ที่เห็นเด่นๆคือลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ แต่ไม่รู้ว่าคนคิดนโยบายนี้ต้องการให้เป็นแบบนี้หรือไม่ มีการประสานงานกันอย่างไร สื่อสารกันเข้าใจหรือไม่ เรื่องนี้จึงล้มเหลว จากการสอบถามเพื่อนๆหลายคนพบว่า บางโรงเรียนมีแค่ 40 นาที บางโรงเรียน 50 นาที บางโรงเรียน 1 ชั่วโมง แล้วก็ไม่ใช่ทุกวัน มันไม่เป็นไปตามความต้องการของเด็ก สมมุติเรียน 8 คาบ รวมเวลากินข้าวก็เป็น 9 คาบ โรงเรียนส่วนมากไม่ได้ลดเวลาลง แต่เพิ่มเวลามากขึ้น เพิ่มตารางมาอีก จากที่เลิกเรียน 3 โมงเย็นก็จะเป็น 4 โมงเย็นหรือเกือบ 4 โมงเย็น คือเพิ่มเวลาเรียนรู้เข้าไปเพิ่มเติม

เด็กควรมีอิสระที่จะศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่ต้องบังคับ บางคนอาจไม่สนใจวิชาที่โรงเรียนจัดขึ้นมา แต่โรงเรียนบังคับให้ต้องเรียน ตรงนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย การศึกษาตอนนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร การศึกษาไทยโดยรวมจึงถือว่าแย่อยู่ ผลงานของรัฐบาลไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ถือว่าสอบตก

การบริหารประเทศไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การปฏิรูปประเทศก็ล้มเหลว เรื่องการเมืองถามว่าประชาชนมีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือลดลง คุณภาพประชากรเป็นอย่างไร ตอนแรกก็ดีที่ไม่มีความวุ่นวาย เพราะเขาใช้อำนาจแบบทหาร แต่โดยรวมมีอะไรดีขึ้นมั้ย หนูมองว่าไม่ดี

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ เราตรวจสอบอะไรไม่ได้เท่าไร ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรนัก แย่กว่าเดิมเสียอีก จะแสดงความคิดเห็นอะไรก็โดนอีกแล้ว แต่หนูยังรอดอยู่ เพราะไม่ได้แสดงความเห็นอะไรมากมาย เรื่องนาฬิกาหรู 20 กว่าเรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ไม่รู้ว่าจะตรวจสอบได้หรือไม่ เพราะบ้านเมืองยุค คสช. เราไม่สามารถตรวจสอบได้

ตรวจสอบไม่ได้ก็อันตราย

ความจริงเรื่องการตรวจสอบไม่ได้มันเป็นมาสักพักหนึ่งแล้ว มีมาก่อนแล้ว แต่ยุคนี้มันสุดโต่ง ถ้าหากบ้านเมืองเราไม่สามารถตรวจสอบปัญหาความไม่ชอบที่เกิดขึ้นได้ก็ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก แค่เรื่องนาฬิกา ไม่ว่าจะให้เหตุผลอะไร ถ้าบริสุทธิ์ใจจริงๆก็ควรให้ตรวจสอบอย่างจริงๆจังๆ แต่เมื่อตรวจสอบไม่ได้ ความเชื่อใจ ความไว้ใจของประชาชนก็ลดลง ทำไมแค่นาฬิกายังตรวจสอบไม่ได้แล้วเรื่องอื่นๆที่ใหญ่กว่าจะเป็นอย่างไร แม้ “ลุงป้อม” ประกาศพร้อมจะลาออกหากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่าผิด

ถ้าพูดกันตามจริงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยยุคก่อนหน้าก็มี แต่ประชาชนยังตรวจสอบได้ แต่ยุคนี้ตรวจสอบได้หรือไม่ รัฐบาล คสช. ต้องตอบประชาชนว่าทำไมถึงตรวจสอบไม่ได้ มันผิดพลาดตรงไหน เพราะประชาชนให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ถ้ารัฐบาลชี้แจงไม่ได้ ไม่เคลียร์ ก็จะเกิดปัญหาตามมา ส่งผลต่อวิกฤตศรัทธารัฐบาล ป.ป.ช. ต้องทำให้เกิดความกระจ่าง ตัดสินด้วยความเป็นธรรมและเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ไม่เช่นนั้น ป.ป.ช. ก็จะเกิดวิกฤตศรัทธาเช่นกัน

ประชาธิปไตยไทยนิยม

มองแบบรวมๆตั้งแต่เรื่องค่านิยม 12 ประการที่ “ลุงตู่” ต้องการปลูกฝังค่านิยม รัฐบาลนี้พยายามจะเน้นเรื่องรักชาติ ความมั่นคง แต่ไม่รู้ว่าเขาจะสื่อไปทางไหน เพราะมองได้หลายมุม ในมุมมองของหนูเห็นว่าบางอย่างหากเข้มมากเกินไปก็ไม่ได้ ค่านิยมที่ออกมาแบบนี้เป็นค่านิยมแบบทหาร หนูขอถามกลับว่าคุณเข้าใจประชาธิปไตยหรือยังก่อนที่จะมาปลูกฝังให้ประชาชน ขณะนี้หนูเรียนที่จะเป็นครูสอนสังคม เพิ่งเรียนรัฐศาสตร์ เรื่องการเมือง เห็นว่าเรายังเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยในทางที่ผิดทำให้เกิดการปฏิบัติที่ผิดตามมา จึงอยากให้ย้อนถามตัวเองก่อนว่าเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยจริงๆหรือไม่ เข้าใจหลักการจริงๆหรือไม่ก่อนที่จะมาปลูกฝังใคร ใครก็พูดได้ แต่ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ ใช่หรือไม่ พูดแบบนี้ก็เหมือนฆ่าตัวตาย ปลูกฝังประชาธิปไตย แต่การปฏิบัติกลับตรงกันข้าม

เรื่องประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นผลสืบเนื่องมานานแล้ว แต่เรามีความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยกันแค่ไหน หนูไม่ได้พูดว่าหนูเข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่เรียนรัฐศาสตร์มาก็รู้ความหมายของประชาธิปไตยที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร แล้วชาวบ้านทั่วไปเข้าใจอย่างไร บางคนสุดโต่งไปเลยก็มี เข้าใจผิดก็มี การที่เราไม่เข้าใจประชาธิปไตยมันเป็นปัญหาใหญ่ ผู้นำประเทศไม่เข้าใจมันยิ่งแย่ ประชาชนถ้าไม่เข้าใจก็แย่เหมือนกัน ต่างคนต่างไม่เข้าใจ หรือเราเข้าใจประชาธิปไตยในมุมมองคนละแบบ ใครถูกใครผิด เมื่อมองไม่ตรงกันก็ทำให้ประเทศเดินหน้าไม่ได้

โอกาสที่จะเห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

มันอยู่ที่การปลูกฝัง ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน เริ่มจากประชาชนต้องไม่เบื่อเรื่องการเมือง ต้องไม่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทุกครั้งที่เราเสียภาษีก็ถือเป็นการเมือง การซื้อของก็การเมือง ถ้าเราเห็นว่าการเมืองยังไกลตัวก็น่ากลัว ทุกปีเราเสียภาษีให้นำไปพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ถ้าเราไม่สนใจการเมืองหรือปล่อยให้เขาทำอะไรก็ทำไปก็เหมือนเราเอาเงินไปทิ้ง ถ้าเราเริ่มสนใจการเมือง เราก็ดูว่าเขาเป็นยังไง ทำอย่างนี้แล้วส่งผลยังไงต่อประเทศ เป็นการรักษาผลประโยชน์ซึ่งเราต้องตรวจสอบได้ จะได้แก้ไขความผิดไปพร้อมๆกัน ทำให้ประเทศดีขึ้น

มองการเลือกตั้งอย่างไร

ยังไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะมีการเลือกตั้งปีนี้ ไม่ใช่ไม่เชื่อใจลุงตู่ แต่อะไรก็เปลี่ยนไปได้ อาจมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นจนทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ เราไม่สามารถรู้อนาคตที่แน่นอนได้ อย่างล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้กฎหมายหลังประกาศบังคับใช้เพื่อเลื่อนไปอีก 90 วัน การเลือกตั้งก็ต้องเลื่อนไปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ลุงตู่ประกาศเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้ สัญญาทั้งกับสหประชาชาติและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็อาจจะมีการประท้วงหรือมีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆ ใครมาสัญญาอะไรไว้กับเรา เราก็คาดหวังว่าเขาจะทำตามสัญญา ถ้าไม่ทำประชาชนก็ผิดหวังหรือไม่พอใจเป็นธรรมดา ผลกระทบจากภายในประเทศและต่างประเทศตามมาแน่นอน ต่างชาติอาจจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นก็ได้ เศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งแย่ลง ต่างชาติจะมองเราเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ มันกระทบหลายส่วน

ถ้าการเลือกตั้งถูกเลื่อนไปเป็นปี 2562 เขาก็ต้องมีเหตุผล เราต้องดูก่อนว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งจริงหรือไม่ แต่เลื่อนไปปี 2562 ก็ยังไม่สายไปถ้ามีความจำเป็นจริงๆ มีเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่เหตุผลแค่รู้สึกว่าบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย

เรื่องนายกฯคนนอก

ก็เหมือนเล่นหนังซ้ำ เรารู้ว่าการดำเนินการเป็นอย่างไร จุดจบเป็นอย่างไร คือจะเหมือนกับที่เราเคยเป็น เราจะเจออีกรอบ สัญญาที่ไม่เป็นสัญญาไม่ใช่เรื่องดี วันเวลาผ่านไปเราก็หวังให้มีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่พัฒนา ถอยหลังเข้าคลองก็ไม่ดีแน่นอน

ทางออกของประเทศ

ทั้งรัฐบาลและประชาชนควรร่วมมือกันมากกว่านี้ ในมุมมองของประชาชน เราต้องทำความเข้าใจและต้องมีความรู้ก่อน ไม่ใช่ทุกคนต้องไปเรียนใหม่แล้วได้เกรด 4.00 แต่เราต้องเข้าใจว่าการเมืองเป็นยังไง สภาพบ้านเมืองเป็นยังไง บริบทเราเป็นอย่างไร ทำไมเราไม่ทำเหมือนประเทศโน้นประเทศนี้ บางทีบริบทไม่เหมือนกัน วัฒนธรรมแตกต่างกันก็ทำยาก อยากให้เราเข้าใจประเทศไทย เข้าใจหลักการ เข้าใจบริบทก่อน

ประชาชนต้องมีจิตสำนึกว่าอยากทำให้ประเทศดีขึ้นอย่างไร

ประชาชนต้องติดตามข่าวสารเรื่องการเมือง เรื่องบ้านเมือง แสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอ ถ้าจะพูดถึงปัญหาประเทศก็ควรมีเหตุผลมาสนับสนุน เราต้องพูดด้วยหลักเหตุผลจริงๆ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช่แบบต่อแถวรอรถเมล์แล้วหงุดหงิด ไม่พอใจ

ผู้นำประเทศหรือผู้ใหญ่ทั้งหลายควรโฟกัสเรื่องคุณภาพชีวิตประชาชนก่อนว่าดีหรือยัง ถ้าคุณภาพชีวิตประชาชนดี ประชาชนก็จะมีความสุข เกิดความมั่นคง เงินภาษีที่รัฐเก็บถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องบอกว่าเพราะอะไร จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ค่อยๆปรับกันไป ทุกคนต้องพูดความจริงมากขึ้น

ประชาชนต้องสนใจเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง เรื่องสภาพแวดล้อมของบ้านเมือง ไม่ใช่จะรอผู้นำอย่างเดียว ตัวผู้นำก็ต้องให้ข้อมูล เมื่อคุณมีอำนาจ สามารถทำได้ก็ต้องทำให้ดีขึ้น หนูเชื่อว่าประเทศไทยยังมีคนเก่งๆอีกเยอะ รัฐบาลควรไปปรึกษาหรือดึงมาทำงานบ้าง ไม่ใช่คนไทยไม่เก่ง แต่เราไม่มีพื้นที่หรือให้โอกาสมากกว่า


You must be logged in to post a comment Login