วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ปฏิรูปการศึกษายุค 4.0 / โดย ณ สันมหาพล

On July 3, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

พูดเรื่องปฏิรูปการศึกษาต่ออีกสัปดาห์ นอกจากการส่งเสริมการแข่งกีฬาประเพณีระหว่างโรงเรียนดังในท้องถิ่นเหมือนประเพณีลอยกระทงและสงกรานต์แล้ว การปฏิรูปการศึกษาที่ควรทำคือ เลิกผลักดันให้เด็กเรียนวิชาสายสามัญเพียงเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ต้องให้เรียนสายอาชีวะเพื่อไปประกอบอาชีพต่างๆด้วย เพราะอาชีพยุค 4.0 จะใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนคนมากขึ้น คนจะเป็นเพียงผู้ใช้และผู้ดูแล ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางช่างระดับสูง

นอกจากนี้ยังจะมีการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนในการรับส่งสิ่งของและคน ไม่ใช่แค่การทำสงครามซึ่งเป็นอาวุธที่ทุกกองทัพต้องมี การใช้และดูแลรักษาจึงต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

หุ่นยนต์และโดรนเป็นส่วนหนึ่งของโลกในอนาคต ประเทศไทยก็ประกาศนโยบายสู่ยุค 4.0 ต้องมีการเตรียมการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมไปอย่างมากในระยะเวลาไม่เกิน 10-15 ปี โดยเฉพาะด้านการป้องกันประเทศที่กองทัพอาจถูกยุบรวมเป็นกองทัพโดรน

การเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจึงต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง การศึกษาไทยต้องเน้นให้เด็กเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีวะแบบเดียวกับในยุโรป โดยจะให้เด็กเริ่มเลือกเรียนช่วงอายุ 15 ปี ว่ามีผลการเรียน ความถนัด และความชอบด้านใด เพื่อให้เด็กได้เรียนในสถาบันที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ

ปรกติผู้ประกอบการทั้งที่มีโรงงานและไม่มีโรงงานของตัวเองต่างก็ต้องการคนทำงานที่เหมาะสมกับงานอยู่แล้ว การรับเด็กที่เรียนมาฝึกงานจึงช่วยลดรายจ่าย แล้วยังจะได้รับประโยชน์อื่นๆตอบแทนด้วย

ส่วนเด็กก็จะได้เบี้ยเลี้ยงและมีประสบการณ์ในการทำงาน ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพอย่างดี

การปฏิรูปการศึกษายุคใหม่จึงต้องปฏิรูปโรงเรียนชั้นนำจังหวัดต่างๆให้มีการพัฒนาจนถึงระดับโลก เพราะในอนาคตเด็กไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียน แต่จะมีความสัมพันธ์กับนักเรียนระดับเดียวกันทั่วโลก การศึกษาและการทำงานจะเชื่อมโยงกันทั้งโลก การจะพัฒนาการศึกษาและโรงเรียนให้สู่ระดับโลกจึงจำเป็นต้องมีการลงทุนสูงหรือจ้างครูต่างประเทศ

แม้จะมีการแปรรูปโรงเรียนจากกิจการไม่แสวงกำไรเป็นรูปแบบบริษัทก็ยังต้องมีโควตาสำหรับนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ รวมทั้งนักเรียนที่มีความประพฤติเกเรแต่กลับใจ นักเรียนจะได้เรียนรู้ในการเรียนและร่วมกันทำงาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโรงเรียนระดับโลกทุกแห่ง ไม่ใช่เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กรวย เด็กเก่งอย่างที่พยายามทำกันมาช้านานจนสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำมากกว่าการพัฒนาการศึกษา

การปฏิรูปการศึกษาไทยต้องเริ่มต้นที่เงินเดือนครู แม้ปัจจุบันอัตราเงินเดือนจะสูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เท่าสายวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร และสถาปนิก ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วมีมาตรฐานเงินเดือนใกล้เคียงกัน

ประเด็นที่ต้องปฏิรูปให้ทันคือ โลกของปัญญาประดิษฐ์ที่จะมีการนำมาใช้ทำงานเป็นครูในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูประดับมันสมองของครู ซึ่งการศึกษาไทยพูดกันมานานแล้ว แต่ยังไม่มีการทำอย่างจริงจัง การคัดเลือกเด็กเก่งและพร้อมที่สุดเพื่อมาเป็นครูต้องเริ่มตั้งแต่เรียนจบมัธยมต้น โดยจ้างเป็นผู้ช่วยครู เพื่อให้มีความใกล้ชิดและมีประสบการณ์ในการทำงาน เมื่อจบมัธยมปลายก็บรรจุให้เป็นครูผู้ช่วยและเรียนในระดับปริญญาตรีไปด้วย เมื่อจบแล้วจะได้เป็นครูเต็มขั้น ไม่ใช่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไปทำอาชีพอื่นๆ ซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องมีบทบาทสำคัญ มีคณะกรรมการบริหารการศึกษา กรรมการจะต้องได้รับการคัดเลือกจากประชาชน

การปฏิรูปการศึกษาต้องทำอย่างจริงจังและต้องเริ่มต้นให้ได้ หากประเทศไทยจะก้าวสู่ยุค 4.0 ประชาชนต้องมีความรู้และมีความพร้อม ทุกพื้นที่ต้องปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่แค่ทดลองทำในบางพื้นที่อย่างในปัจจุบัน การปฏิรูปการศึกษาต้องทำพร้อมกันทุกเทศบาล ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดองค์ความรู้ และการเลือกคณะกรรมการเพื่อบริหารการศึกษา ซึ่งนำภาษีมาใช้ด้านการศึกษา

คณะกรรมการการศึกษาของท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ไม่ใช่ให้ข้าราชการเป็นกลไกในการปฏิรูปไปยังประชาชน ซึ่งมีแต่ความล้มเหลว


You must be logged in to post a comment Login