วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

แช่แข็งประเทศอีก 10 ปี / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On April 24, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

สถานการณ์ทางการเมืองก่อน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกจะเสร็จคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีอำนาจสูงสุดอยู่ดี สถานการณ์จะเปลี่ยนทันทีที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง แต่คงไม่เปลี่ยนอะไรมากมาย เพราะคนคุมกติกาทั้งหมดก็ยังเป็น คสช. สิ่งที่เปลี่ยนไปคือแต่ละพรรคการเมืองจะนำเสนอนโยบายอย่างไรมากกว่า ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ค่อนข้างมาก เพราะ ส.ว. ไม่มีจุดที่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย ทั้งที่ ส.ว. จะเป็นผู้ที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มีอำนาจโหวตกฎหมายและคว่ำร่างกฎหมาย

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร

เท่าที่ดูคร่าวๆ เขาว่าเร็วสุดกันยายน 2561 ช้าสุดปลายปี 2561 ถ้าถามผมว่าเชื่อได้หรือเปล่า เราอย่านึกถึงเรื่องพวกนี้ เราต้องประเมินสถานการณ์ คือ คสช. ก็ต้องดูว่าใครจะมาเป็นนักการเมืองชุดเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ถ้าเขาโอเคกับโรดแม็พของ คสช. หรือทำตามแนวทางของ คสช. ก็คงมีการเลือกตั้ง ถ้าดูแล้วไม่โอเคก็คงยังไม่มีเลือกตั้ง

ถามว่าจริงๆแล้วมีใครแคร์หรือเปล่า ผมว่า คสช. คงไม่แคร์เท่าไร ดังนั้น ปลายปี 2561 เราอาจจะยังไม่เห็นการเลือกตั้งก็ได้ เพราะเป็นแค่การคาดหมายว่าปลายปี 2561 น่าจะมีการเลือกตั้ง แต่อาจไม่มีก็ได้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าต้องมีการเลืองตั้งได้แล้ว ถ้าเราดูจากผลงานของ คสช. ที่ผ่านมาไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย เราไม่ได้พูดว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไปถามคนที่เชียร์ คสช. ก็ต้องได้รับคำตอบว่า คสช. เข้ามาแป๊บเดียวมีผลงานมากมาย แต่ถ้าถามว่ามีผลงานอะไรบ้างคงตอบไม่ได้ คือเราต้องการผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ใช่ผลงานรายวัน เช่น กลัวคนตายก็ใช้มาตรา 44 ให้รัดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งไม่ใช่ผลงานที่ยั่งยืน

พูดตรงๆเลยผมคิดว่า คสช. รู้ตัวดี เพราะฉะนั้นเขาควรจะหาคนอื่นมาทำงานตรงนี้ได้แล้วถ้าเห็นว่าตัวเองเอาไม่อยู่แล้ว แต่ถ้าคิดว่าที่ตัวเองทำมาโอเค มีกองเชียร์เยอะ เอาอยู่ เขาอาจจะอยู่ต่อก็ได้ถ้าเห็นว่า นักการเมืองจะไม่ทำตามโรดแม็พที่วางไว้

ที่สำคัญสถานะของ คสช. ยังกุมอำนาจความได้เปรียบทางการเมืองอยู่ ต้องไม่ลืมว่าประกาศ คสช. ยังมีผลอยู่ เช่น ห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้แล้ว แต่มาตรา 265 ยังรับรองอำนาจของ คสช. จึงไม่เห็นมีพรรคการเมืองใดออกมาทำกิจกรรมเลย เป็นไปตามประกาศของ คสช. ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

อีกประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองคือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถ้ากฎหมายลูกถูกคว่ำจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าทำได้ทุกทาง บางทีกฎหมายลูกอาจทำไม่เสร็จก็ได้ หรือเสร็จแต่ไม่สามารถกำหนดวันได้ เพราะสามารถใช้อำนาจมาตรา 44 ห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งก็ได้ ตอนนี้การเลือกตั้งถูกใช้เป็นตัวประกันไปแล้ว ส่วนจะอีกนานเท่าไรนั้นตอบไม่ได้ เป็นการต่อรองกันระหว่าง คสช. กับฝ่ายการเมือง ถ้าไม่ทำตามโรดแม็พก็ยังไม่ต้องเลือกตั้ง

ความจริง คสช. ส่งสัญญาณไปยังทุกพรรคการเมือง โรดแม็พของ คสช. ไม่ใช่อะไรที่ทำง่าย ทำแล้วประเทศจะก้าวหน้า ดูอย่างระบบขนส่งทางราง เราไม่พูดถึงรถไฟความเร็วสูง คือผมเลิกหวังแล้ว คงไม่ได้เห็นในรุ่นผม คงฝากที่รุ่นลูกผม อย่างการขนส่งทางรางหรือการขยายตามแผน ถ้าดูตั้งแต่สมัยคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งแผนการค่อนข้างชัดเจนว่าอะไร อย่างไร แต่ถูกคว่ำเพราะศาลรัฐธรรมนูญ ทีนี้มาดูของ คสช. จนถึงขณะนี้ยังตกลงไม่ได้เลยว่าจะเอาของจีนหรือญี่ปุ่น เส้นนี้ของใคร ตรงนี้สำคัญ เพราะมาตรฐานการขนส่งของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จะทำก็ต้องฟันธงไปเลย เป็นแผนระยะยาวไปเลย ไม่ใช่จะทำแต่ไม่รู้จะทำยังไง ดังนั้น โรดแม็พของ คสช. จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำตามได้

ถ้าปลายปี 2561 ไม่มีเลือกตั้ง

ผมคิดว่าปัจจัยความเป็นประชาธิปไตยของไทยจะไม่ส่งผลต่อประชาคมโลกเท่ากับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตรงนี้ต่างชาติเขามองว่าถ้ามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีเผด็จการ ความเชื่อมั่นก็ต้องสูงกว่าอยู่แล้ว ความเสียหายตรงนี้บรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ ถ้าถามว่าวันนี้เศรษฐกิจเราพินาศแค่ไหน ก็ไปเดินดูตามห้างสรรพสินค้าหรือตลาดก็ได้ว่าเงียบแค่ไหน แต่กระแสกดดันจากนานาชาติคงไม่มีอะไร ถ้ามีก็คงมีมานานแล้ว เหมือนเราลองจินตนาการว่าเราพูดแล้วคนไม่ฟังก็คือไม่ฟัง

อยู่ในสภาพถูกแช่แข็ง

ใช่ครับ ที่จริงประเทศเราถอยหลังไปแล้ว ถ้าเราไม่หลอกตัวเอง ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่เคยเดินหน้าไปเลยแม้แต่ครึ่งก้าว ดีที่สุดคือย่ำอยู่กับที่ แต่ที่เลวที่สุดคือถอยหลังไปไกลแล้ว ถามว่าทำไม คสช. ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้ง่ายๆ ผมประเมินว่า เพราะเขากลัวว่าจะกลายเป็นแบบเดิม คือเหลืองแดงตีกัน ถ้าเราดูแนวโน้มและสถานการณ์ของ คสช. คือการเอื้อประโยชน์ให้ระบบราชการแท้ๆ ไม่นิยมนักเลือกตั้ง หลังจากที่ระบบราชการหายไปตั้งแต่ปี 2540 พอ คสช. อยู่ในอำนาจ พวกข้าราชการชอบ เพราะเหมือนเป็นระบบที่เขาเคยชินและถูกฝึกมาแบบนั้นมากกว่า

การเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ผมคิดว่าคงไม่ต่างกับตอนนี้เท่าไร ตอนนี้คนเริ่มชาชินแล้ว ผมยังเริ่มชินเลย จริงๆถ้าเราไม่มีพลังกลุ่มอื่นๆเข้ามาต่อรองกับ คสช. ผมคิดว่าก็คงอยู่กันไปอย่างนี้ อย่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เรายังพอฝากความหวังไว้กับนักการเมืองได้บ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรเลย ดังนั้น ต่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้เมื่อไร ก็ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาความไม่เป็นประชาธิปไตยเหมือนเดิม ต่อให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะตัวกฎหมายแม่บทไม่ใช่ สภาพของพรรคการเมืองต่างๆหลังการเลือกตั้ง อย่างที่วิเคราะห์กันว่า คสช. คงจะล็อบบี้พรรคการเมืองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลไว้เรียบร้อยแล้ว ยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่จะเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่เป็นนายกฯเองแล้ว คงหาคนที่มีความสามารถแทนมากกว่า แต่สามารถคุมได้ หรือนายกฯที่มาจากคนนอก จะกลายเป็นยิ่งกว่าสืบทอดอำนาจอีก คือเหมือนเอาปืนไปจี้หัวนักการเมืองบอกว่าต้องเลือกฉัน ซึ่งผมคิดว่ามีหลายคนที่ทนไม่ไหวกับ คสช. ถ้าทำอย่างนี้ มันยิ่งทุเรศ ไม่ต้องมีการเลือกตั้งดีกว่า คือเลือกแล้วให้นักการเมืองต้องเลือกคนนอก ในทางกลับกันถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯคนนอก ผมคิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยน เพราะเราชินกับแกมาหลายปีแล้ว

อนาคตพรรคการเมืองต่างๆ

พรรคการเมืองใหญ่ต้องอิงกับระบบราชการ อยู่ภายใต้การควบคุมของข้าราชการ กลับไปสู่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยเป็นนายกฯ สุดท้ายเราต้องไปหาผู้มีบารมีในระบบราชการในกองทัพมาเป็นนายกฯ ซึ่งจะมีการต่อรองโควตารัฐมนตรีอีก สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ผมคิดว่าจะไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่เหมือนเดิม เพราะกลุ่มคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกไปแล้วและประกาศไม่เล่นการเมืองอีกแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจะจริงเท็จแค่ไหน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ใช่พรรคการเมืองใหญ่

ส่วนพรรคเพื่อไทยคงจะเกาะกันอยู่อย่างนี้ ต้องเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ถูกเล่นงานมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น เขาต้องเกาะกันไว้ให้แน่น จะแตกตัวไปอยู่ที่ไหน ผมว่าไม่ใช่เวลาที่จะทำแบบนั้น หลังการเลือกตั้งโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ผมคิดว่ายังมีโอกาส แต่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยยังอยู่เหมือนเดิมคือ 19 ล้านเสียง เพราะแฟนคลับค่อนข้างเหนียวแน่น พรรคเพื่อไทยยังจะได้คะแนนเสียงมากขึ้น แต่ตั้งรัฐบาลได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนอดีตนายกฯทักษิณต้องยอมรับความจริงว่า ทุกวันนี้ที่พรรคเพื่อไทยยังรวมมวลชนได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ แต่คุณทักษิณก็บอกว่าจะไม่ยุ่งอีกแล้ว จึงต้องดูบทบาทคุณทักษิณว่าจะยังไง พรรคเพื่อไทยจะใช้การหาเสียงอย่างไร อาจชูนโยบายเดิมของคุณทักษิณที่เคยได้ผลมาก่อน ส่วนผู้นำคนใหม่ที่มองว่าอาจเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นั้น ผมคิดว่าผลงานที่ผ่านมาก็เป็นผู้นำพรรคได้ บริหารพรรคได้ แต่ถ้าสมมุติพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆจะเอาใครเป็นนายกฯ นี่คือปัญหา เป็นปัญหาของทุกพรรคทั่วโลก

บทบาทภาคประชาชนขณะนี้

ผมคิดว่าภาคประชาชนยังไม่มีพลังนัก อย่างกรณีล่าสุดที่มีคำสั่งย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ สาเหตุจากร่วมคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมถามว่าเรื่องนี้ใช่กิจกรรมของทหารหรือไม่ที่จะไปย้ายหมอ แม้หมอจะมีอุดมการณ์ทางการเมือง จะเป่านกหวีดอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หมอเป็นนักกิจกรรมชุมชนในพื้นที่ ถามว่าแล้วอย่างนี้ใครจะกล้าทำกิจกรรมล่ะ

อีกพวกคือกลุ่มนักศึกษาพวกประชาธิปไตยใหม่หรือกลุ่มดาวดินพวกนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็น อย่างไผ่ ดาวดิน ขอประกันตัว 9 ครั้งก็ไม่ได้ ถามว่าตอนนี้ใครกล้าเสี่ยง ทุกคนเก็บเนื้อเก็บตัวกันก่อนดีกว่า ดังนั้น ภาคประชาชนขณะนี้จึงมีสภาพที่อ่อนแอ แม้มีจำนวนคน แต่ไม่สามารถต่อรองได้ ถ้าพูดกันตรงๆอนาคตของภาคประชาชนนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษ ถ้ารัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษ โอกาสที่ภาคประชาชนจะมีพลังต่อรองก็น้อย ส่วนกลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง ผมว่าแทบไม่เหลือพลังอะไรอีกแล้ว รวมถึง กปปส. ด้วย เพราะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเหนื่อยหรือรู้สึกเบื่อไปหมด พอเราไม่ได้ต่อสู้นานๆก็ทำให้เหนื่อย ทั้ง นปช. และ กปปส. ก็เหนื่อย คือทำสงครามกันแล้วพังทั้งคู่

แนวโน้มอนาคตประเทศไทย

จริงๆผมไม่อยากพูดเท่าไร ผมว่าอนาคตของประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนจากนี้ไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี ถ้าเรายังไม่มีพลังอย่างอื่นมาขับเคลื่อน เช่น พลังจากภาคประชาชนที่เข้มแข็งมาเปลี่ยนแปลงอะไรพวกนี้ เราก็จะอยู่กันไปแบบนี้อีกประมาณ 10 ปี โดยเฉพาะสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่หลอกตัวเอง มันแย่มากๆ กำลังซื้อก็ไม่มี ทั้งจากภายใน ภายนอกประเทศ อัตราการบริโภคค่อนข้างต่ำ คนไม่กล้าใช้เงิน เพราะความผันผวนทางการเมืองสูง กลุ่มคนที่อยู่ได้คือพวกข้าราชการ อย่างโรงพยาบาลรัฐก็มีข่าวว่าขาดทุน แต่กองทัพกลับเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำกับรถถัง มันเหมาะกับสภาพแบบนี้หรือไม่

อนาคตของประเทศคงไม่ต่างกับปัจจุบันเท่าไร ไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าว่าสดใสอย่างไร ประเทศจะอยู่ในสภาพถูกแช่แข็งไปอีกอย่างน้อย 10 ปี ถ้าเราไม่มีปัจจัยอื่นๆมาแทรกจริงๆ


You must be logged in to post a comment Login