วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำบ้านให้เป็นโรงงาน / โดย ณ สันมหาพล

On March 27, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

การย้ายโรงงานไปไว้ที่บ้านเป็นกระบวนการ maker movement เพื่อเน้นที่ “คนทำ” ไม่ว่าจะเป็นคนทำเสื้อผ้า ทำผม ทำไฟ ทำอาหาร ทำเครื่องประดับ ฯลฯ ครั้งหนึ่งคนไทยเคยเรียกคนเหล่านี้ว่า ช่างเสื้อผ้า ช่างทำผม ช่างไฟ ช่างเครื่องประดับ ฯลฯ ซึ่งคนที่มีอาชีพเหล่านี้จะต้องมีเครื่องมือและแบบแผนการทำงานของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ มักใช้บ้านพักเป็นสถานที่ทำงาน

ปัจจุบันรูปแบบการทำงานของผู้มีอาชีพเหล่านี้เริ่มกลับมาอีก และอาจทำให้เกิดการผลิตที่เปลี่ยนไปคือ จากการผลิตหรือทำในโรงงานก็จะไปอยู่ที่บ้านเหมือนในอดีต เป็น maker culture หรือวัฒนธรรมคนทำ เหมือนการเปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มาเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพื่อใช้งานส่วนตัว จนมาถึงโน้ตบุ๊คที่หิ้วไปได้ทุกที่ ใช้งานได้ทุกรูปแบบและส่วนตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพเหมือนนั่งทำงานในออฟฟิศ

การทำงานในลักษณะนี้ทำให้ผู้ที่ชอบทำงานในเชิง do-it-yourself (DIY) คือทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีมานานแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้วคือ คนที่ชอบใช้เวลาว่างทำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเอง ตั้งแต่ตู้ โต๊ะ จนถึงการทำอาหาร ขณะนี้ที่นิยมกันมากคือ เสื้อผ้าหรูๆของบรรดาคนดังที่ใส่ตอนไปปรากฏตัวในงานต่างๆ

การทำอะไรด้วยตัวเองเป็นการฝึกลูกหลานให้รักการทำงานและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น แต่วัฒนธรรมคนทำก็ไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการคนทำ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้วิทยาการใหม่ๆมีการสื่อสารและเผยแพร่ผ่านสังคมออนไลน์ ทำให้เห็นการทำงานต่างๆได้อย่างละเอียดและครบวงจร โดยเฉพาะการผลิตแบบ 3 มิติ หรือ 3D printing เปิดให้คนทั่วไปสามารถผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำได้ไม่ยาก

เมื่อรูปแบบการผลิตถูกผนวกเข้ากับการสื่อสารออนไลน์ สิ่งที่ปรากฏตามมาคือ เว็บไซต์ต่างๆ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารในกลุ่มผู้ที่รักการทำงานอิสระ หรือที่เราเรียกเว็บไซต์แบบนี้ว่า hackerspaces แปลตรงๆคือ พื้นที่ของนักเจาะฐานข้อมูล เดิมเว็บไซต์ใช้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนและพบปะสังสรรค์ของคนที่มีความคิดแบบเเดียวกัน ก่อนจะเกิดเป็นกระบวนการคนทำ ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างให้อยากทำมากมายในเว็บไซต์ เฉพาะในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีมีกว่า 100 เว็บไซต์ ยังไม่นับรวมเว็บไซต์ลักษณะเดียวกันแต่เรียกว่า fab labs ย่อจาก fabrication laboratories หรือห้องทดลองเพื่อประดิษฐ์สิ่งของ ส่วนใหญ่เป็นของสถาบันการศึกษากับหน่วยงานรัฐบาล

เว็บไซต์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่างๆจึงเป็นเหมือนห้องสมุด ห้องทดลอง และห้องปฏิบัติงาน ให้ผู้ที่นิยมทำสิ่งของเครื่องใช้เองสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อนำไปต่อยอดงานได้

อย่างนิตยสาร Make ถือเป็นคัมภีร์ของบรรดา DIY เช่นเดียวกับบล็อก Boing Boing และ Etsy เว็บไซต์ซื้อขายผลิตภัณฑ์ทำด้วยมือที่แต่ละปีมียอดซื้อขายกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากจำนวนคนขายกว่า 1 ล้านคน

ส่วนใครที่อยากสัมผัสวิทยาการชั้นสูงต้องขยับไปที่ MIT Hobby Shop ของสถาบันเอ็มไอที กับ CMU Robotics Club ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้-เมลลอน

นอกจากนี้ยังมี SpaceShop Rapid Prototyping Lab ขององค์การนาซ่า ซึ่ง fab lab แห่งนี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ว่านาซ่ากำลังทำอะไรและจะทำอะไร ทั้งยังเป็นแหล่งความรู้ด้านการผลิตสิ่งของต่างๆด้วยตัวเอง โดยรัฐบาลกลางสหรัฐมีนโยบายให้หน่วยงานรัฐเปิดพื้นที่แบบนี้เพื่อสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งมีหน่วยงานรัฐหลายแห่งปฏิบัติตาม

หรือ Xinjechian ในจีน แม้จะเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดด้านเสรีภาพออนไลน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องวัฒนธรรมและกระบวนการคนทำ จีนกลับเปิดให้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับ Hackerspace SG ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็น hackerspace แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความน่าสนใจคือ การบริหารทำแบบชุมชน และมีสถานที่ให้ชุมชนพบปะเพื่อเรียนรู้และสังสรรค์

การเปิด hackerspace และ fab lab สามารถทำได้ทุกหนทุกแห่ง ยกตัวอย่าง Lamba Labs ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน แม้คนในเมืองหลวงจะแตกแยกกัน แต่ผู้สนใจทำสิ่งของเครื่องใช้ด้วยตัวเองกลับรวมตัวกันเปิดเว็บไซต์เพื่อสื่อสารระหว่างกัน

เห็นเช่นนี้แล้วอดไม่ได้ที่จะต้องโยงถึงคนใน 4 จังหวัดภาคใต้ของไทยที่ต้องการผลิตของพื้นเมืองมาขาย ซึ่งหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและรายได้ กระบวนการคนทำสามารถรวมตัวกันผลักดันให้เป็นกระบวนการคนทำระดับนานาชาติได้ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ทันสมัยและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


You must be logged in to post a comment Login