วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

สสส.-สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566

On June 6, 2023

สสส.-สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566  พบ ยาเสพติด – บุหรี่ไฟฟ้า – อุบัติเหตุ เป็นสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ต้องเร่งรับมือระดับนโยบาย เน้นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

โครงการการศึกษาสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนไทยเพื่อจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย 2566-2568 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม “Forum รายงานสุขภาพคนไทย 2566” ในวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย Forum รายงานสุขภาพคนไทย 2566 เป็นการคืนข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งใน สสส. และภาคีเครือข่ายรวมกว่า 50 คน

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม, สสส. กล่าวเปิดการประชุมว่า สสส.สนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากรายงานสุขภาพคนไทยทั้งภายในและภาคีเครือข่ายในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ว่า Forum รายงานสุขภาพคนไทย 2566 จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโครงการสุขภาพคนไทย สสส. และภาคี เกี่ยวกับการจัดทำเนื้อหาและการนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ ได้แนะนำหนังสือรายงานสุขภาพคนไทยซึ่งจัดทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นปีที่ 20 แล้ว โดยเป็นการรวบรวมข้อมูล สถิติ เนื้อหาจากข่าวสาร และสังเคราะห์ประเด็นสำคัญด้านสุขภาวะ เพื่อเผยแพร่กับคนทุกช่วงวัย ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นบทความสั้น คลิปสั้น เผนแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หลายช่องทางทั้ง Website, Facebook, TikTok, Twitter เป็นต้น  

รายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2566 ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ เรื่องพิเศษประจำฉบับ ในประเด็น คำสัญญาของไทยใน “คอป” (COP: Conference of Parties) กับการรับมือ “โลกรวน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร นำเสนอสถานการณ์โลกรวนที่สร้างความเสียหายอันไม่อาจกู้ให้กลับคืน แม้ว่าจะสามารถควบคุมอุณภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 °C ในปี 2583 ก็ตาม ประเทศไทยมีหลายภาคส่วนที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงที่ให้ไว้ในเวทีคอป 26 แต่ยังพบปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ในรายงานสุขภาพคนไทยฉบับ ปี 2566 จึงรวบรวมข้อค้นพบและข้อเสนอแนะไว้ว่า 1) ควรมีความชัดเจนในรายละเอียดการแก้ปัญหาเพื่อเร่งเป้าหมายที่ไทยให้ไว้ในเวทีคอป 26 2) NDCs Roadmap เป็นแผนที่ดำเนินงานในหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ทำให้ประเด็นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ ยังคงเป็นเรื่องน่ากังวล 3) ในภาคการเกษตร ควรมีแผนที่นำทางเฉพาะเนื่องจากการเปลี่ยนโมเดลการทำการเกษตร ต้องอาศัยทั้งความรู้และงบประมาณ 4) ภาคเอกชนมีการดำเนินการที่ต่อเนื่องและก้าวหน้าอย่างมาก มีอิสระในการตัดสินใจ และเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลาย จึงสามารถสร้างแรงผลักและการเปลี่ยนแปลงได้มาก 5) ควรสนับสนุน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการให้ทำงานร่วมกันแบบเป็นหุ้นส่วน และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หลักของแผนที่นำทาง 6) การการรณรงค์ให้คน “รักษ์” โลก นับว่าประสบความสำเร็จแล้วขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 7) การมีตัวเลขดัชนีความเสื่อมถอย และความก้าวหน้าในการรักษาสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จังหวัด จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เกิดความตื่นตัวในการดูแลสภาพแวดล้อม รศ.ดร.ภูเบศร์ ได้ปิดท้าย campaign ที่น่าสนใจว่า “ใครไม่ Change….Climate Change”  หากเราไม่เปลี่ยน เราก็จะต้องเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับหมวด “10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2564” และ “4 เรื่องดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คัดเลือกประเด็นจาก 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ มานำเสนอ 4 เรื่อง ได้แก่ ประเด็น รู้ทัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” มีปัญหาบัญชีม้าที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและอายัดบัญชีได้โดยเร็ว รวมทั้งปัญหาด้านกฎหมายหลายฉบับ ต้องประสานหลายหน่วยงาน ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ารุกคืบในไทย ต้องเร่งควบคุม ซึ่งยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ และทัศคติเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ ประเด็นปัญหายาเสพติดในชุมชน จะควบคุมอย่างไร? มีข้อเสนอแนะว่า ควรบูรณาการการทำงาน มีการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ ที่ผ่านมามีมาตรการปัดกวาดบ้าน การรณรงค์ในโรงเรียนและสถานศึกษา จึงควรยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน และควรพัฒนาแนวทางและมาตรการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดและการลักลอบนำเข้า ประเด็นประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยยังขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งและยั่งยืน ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารสูงขึ้นจากระบบโลจิสติกส์ การขาดเอกภาพและการบูรณาการของหน่วยงานและภาคีต่างๆ กฎหมายและองค์กรภาครัฐขาดความยืดหยุ่น และผู้บริโภคจำนวนมากยังคงเลือกซื้ออาหารที่ไม่มีคุณภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา กล่าวว่า ใน 12 หมวดตัวชี้วัด นำเสนอ “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” 5 ประเด็น ได้แก่ 1) ปัจจัยสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม มีข้อมูลสำคัญพบว่า ความชุกการสูบบุหรี่ ลดลง ขณะที่บุรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมใหม่ที่ต้องจับตา นอกจากนี้ การพบเห็นโฆษณาอาจส่งผลต่อวัฒนธรรมการดื่มโดยเฉพาะเยาวชน  2) สภาพความเป็นอยู่และการทำงาน พบว่า สภาพการทำงานมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยง และการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3) เครือข่ายสังคมและชุมชน ซึ่งมีสถิติการจัดการพื้นที่และกิจกรรมชุมชน ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางกายของคในพื้นที่ และพบว่าการอยู่คนเดียวมีความเสี่ยงต่อการดื่มมากกว่าผู้อยู่อาศัยแบบอื่นๆ 4) ปัจจัยวิถีชีวิตบุคคล ข้อมูลสำคัญพบว่า ระดับสถานะทางเศรษฐกิจส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การไม่มีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพทำให้ต้องใช้รถจักรยานยนต์ของเด็กและเยาวชน วิถีชีวิตแบบเมืองอาจส่งผลให้คนบริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ 5) อายุ เพศ และปัจจัยอื่นๆ มีสถิติที่น่าสนใจ ได้แก่ เด็กอายุ 5-17 ปี มีกิจกรรมทางกายเพีบงพอต่ำที่สุด ชายอายุ 15-19 ปี ที่ขับขี่จักรยานยนต์เสี่ยงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงที่สุด จากข้อมูลดังกล่าว จะทำให้เราเข้าใจและเชื่อมโยงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพไปสู่ระดับบุคคลได้ ทั้งนี้ รศ.ดร.มนสิการ กล่าวสรุปว่า สุขภาพไม่ใช่ปัญหาของบุคคล และการทำความเข้าใจเรื่องปัจจัยกำหนดสุขภาพจะช่วยสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้    

ใน Session ที่ 2 ได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรายงานสุขภาพคนไทยในการดำเนินงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย 3 ประเด็น ได้แก่

การใช้ข้อมูล “ตัวชี้วัด” จากรายงานสุขภาพคนไทย 2566 เพื่อกำหนดนโยบาย แผนการทำงาน และการติดตามประเมินผลของ สสส. โดย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอว่า สสส. มีการใช้ข้อมูลจากรายงานสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะข้อมูล ตัวชี้วัด “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ทั้ง 12 ตัวชี้วัด ที่ยึดตามยุทธศาสตร์ภายใต้ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ของ สสส. ซึ่งเน้นการทำงานตามเป้าหมายหลัก 7 ประเด็น ได้แก่ ยาสูบ แอลกอฮอล์และยาเสพติด อาหารและโภชนาการ กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุทางถนน สุขภาพจิต มลพิษสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน นโยบาย ยังเป็นประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญในด้านจของการเป็นปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทยด้วย 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลรายงานสุขภาพคนไทย 2566 ในการขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น ว่า สสส.เลือกทำเรื่องสำคัญ โดยเริ่มจากงานวิชาการ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย การขับเคลื่อนสังคม ผ่านสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ตามยุทธศาสตร์ 7+1 ของ สสส. การณรงค์งดสูบบุหรี่ ปี 2564 ลดลงเหลือ 17.4% แต่บุหรี่ไฟฟ้ามาแรง ต้องควบคุม ส่วนแอลกอฮอล์โดยรวมลดลง แต่จากนโยบายภาคการเมืองอาจจะทำให้ สสส. ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น สสส. ยังคงรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” ต่อไป นอกจากนี้ ประเด็นอุบัติเหตุบนท้องถนนจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ความย่อหย่อนของกฎหมาย ประเด็นกิจกรรมทางกาย สสส. รณรงค์ให้ขยับร่างกายเพราะการไม่ขยับมีผลกระทบมากกว่าการสูบบุหรี่ ประเด็นอาหาร พบว่า มีการณรงค์ ลดหวาน และการบริโภคผลักผลไม้เพิ่มขึ้น ลดโรค NCDs สำหรับด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต ซึ่งภาควิชาการอยู่ระหว่างการแก้โจทย์ ประเด็นสภาพแวดล้อม สสส. มุ่งรณรงค์การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพื่ออากาศที่ดีต่อคนไทย      ดร.นพ.ไพโรจน์ ทิ้งท้ายว่า ข้อมูลที่ สสส. นำมาใช้ในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ เป็นข้อมูลที่มีความทันสมัย สอดคล้องกับแผน สสส. และน่าเชื่อถือ

ประเด็นการจัดการนโยบายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เพื่อเตรียมรับมือระยะยาว โดย ดร.กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้เราเข้าสู่โลกที่อุณหภูมิจะแตะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งกระทบถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงเกิดคำว่า Climate Crisis, Climate Disaster, Climate Emergency, Climate Justice, Climate War ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แต่โจทย์ใหญ่ที่สุด คือ การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่รุนแรง ซับซ้อน และถี่มากขึ้น เช่น เกษตรกรเชิงเดี่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งภัยพิบัติ การขาดแคลนน้ำ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า หากเปรียบโลกเป็นมนุษย์ เราจะพบว่า “โลกกำลังป่วย” ซึ่งจะนำไปสู่หายนะทุกรูปแบบ ขณะที่แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ยังห่างไกลจากเป้าหมายของโลกมาก และแม้ว่าจะหยุดการปล่อยก๊าซตั้งแต่วันนี้ก็อาจจะไม่ทันการณ์ เว้นแต่จะมุ่งทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยต้องลดการปล่อยพลังงานจากก๊าซธรรมชาติให้เร็วที่สุด รวมถึงการเปลี่ยนเกษตรเคมีเป็นเกษตรธรรมชาติให้มากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจก 


You must be logged in to post a comment Login