วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ม.มหิดลไต่อันดับ QS Asia University Rankings 2020 เดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยโลก

On November 27, 2019

จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยล่าสุดของ QS Asia University Rankings 2020 เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยมหิดลมีคะแนนที่ดีขึ้นถึง 7 ตัวชี้วัด และดีขึ้นจากปีที่แล้ว 4 อันดับ โดยในปีนี้ได้อันดับที่ 48 ในภูมิภาคเอเชียจากเดิมปีที่ผ่านมาได้อันดับที่ 52

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนโดยถือเป็นนโยบายหลักของทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลในทุกสมัยต่อมา ซึ่งหากพิจารณาที่ผลคะแนนรวมจากการจัดอันดับทุกด้าน (Overall Ranking Score) จะพบว่ามหาวิทยาลัยมหิดลยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศมาได้โดยตลอด

นอกจากความโดดเด่นในเรื่องปริมาณงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงใส่ใจในเรื่องของ “คุณภาพ” งานวิจัยด้วย จากจำนวนการอ้างอิงจากฐานข้อมูล Scopusซึ่งเป็นฐานข้อมูลนานาชาติที่สำคัญที่นักวิจัยทั่วโลกใช้ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อประกอบการทำวิจัย และใช้เพื่อตรวจสอบการอ้างถึงผลงานวิจัย พบว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมียอดการอ้างอิงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปี พ.ศ.2559 จำนวน 50,108 ครั้ง ปี พ.ศ. 2560 จำนวน 56,494 ครั้ง และปี พ.ศ.2561 จำนวน 60,673 ครั้ง

โดยวารสารของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับการยอมรับเพื่อบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ได้แก่ “Environment and Natural Resources Journal” ของ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ “Pharmaceutical Sciences Asia” ของ คณะเภสัชศาสตร์ “Journal of Population and Social Studies” ของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และ “Siriraj Medical Journal (SMJ)” ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

2RANK2020

ซึ่งจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS Asia University Rankings 2020 จากตัวชี้วัด “International Research Network”ที่วิเคราะห์จากการใช้ข้อมูลจากการตีพิมพ์ร่วมกับนักวิจัยชาวต่างประเทศในฐานข้อมูล Scopus ในปีนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้ 88.4 คะแนน โดยดีขึ้นจากปีที่แล้วได้ 87.1 คะแนน (จาก 100 คะแนนเต็ม) และมีอันดับที่ดีขึ้น อยู่อันดับที่ 59 จากเดิมอันดับที่ 60

นอกจากนี้ จากการจัดอันดับในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลยังมีคะแนนที่ดีขึ้นจากตัวชี้วัดในด้านการได้รับการยอมรับจากนายจ้าง (Employer Reputation)อัตราส่วนของจำนวนนักศึกษาทุกระดับต่อจำนวนอาจารย์ทั้งหมด (Faculty Student)การได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ (Academic Reputation)สัดส่วนของจำนวนนักศึกษาต่างชาติต่อจำนวนนักศึกษาทั้งหมด (International Students)ตลอดจนจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยน (Inbound & Outbound Exchange Students)

“ผลคะแนนและอันดับที่สูงขึ้นของตัวชี้วัดเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งเน้นทั้งในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมระดับโลก (Global Research and Innovation)และ การศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ และวิชาการที่เป็นเลิศ (Academic and Entrepreneurial Education)ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จนสามารถเดินหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก (World Class University)ได้ต่อไป” ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย

 

เขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


You must be logged in to post a comment Login