- เอาไม้หวดก้นให้เข็ดPosted 23 hours ago
- อย่าไร้จิตสำนึกPosted 2 days ago
- กระสุนตกPosted 3 days ago
- ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวรPosted 4 days ago
- คดีตัดยอดหมดอนาคตPosted 1 week ago
- ต้องระวังไว้ด้วยPosted 1 week ago
- อย่าเผาเศรษฐกิจPosted 1 week ago
- ระวังความ “เสื่อม”Posted 1 week ago
- นึกถึงศีลธรรม-โลกร่มเย็นPosted 2 weeks ago
- รัฐบาลเอาศีลธรรมกลับมาPosted 2 weeks ago
คนส่งน้ำแข็งในตำนาน
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 30 สิงหาคม-6 กันยายน 2562)
ในยุคสมัยก่อนที่จะมีตู้เย็นใช้ ชาวบ้านที่ต้องการเก็บถนอมรักษาอาหารไว้หลายๆวันจะต้องสั่งซื้อน้ำแข็งธรรมชาติที่สกัดเอามาจากทะเลสาบทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา เรียกได้ว่าทุกครัวเรือนต้องใช้บริการคนส่งน้ำแข็ง หลังจากเกิดกระแสข่าวลือว่าคนส่งน้ำแข็งส่วนใหญ่ทำงานเกินหน้าที่ ทำให้ชายทั้งหนุ่มและแก่ใฝ่ฝันอยากทำงานส่งน้ำแข็ง
ธุรกิจส่งน้ำแข็งรุ่งเรืองมากในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ชาวชนบทหลั่งไหลมาหางานทำในเมืองใหญ่ ทำให้พวกเขาห่างไกลจากแหล่งอาหารสด น้ำแข็งจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเมือง เพราะในยุคสมัยนั้นยังไม่มีตู้เย็น มีแต่สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “กล่องน้ำแข็ง”
กล่องน้ำแข็งเกิดจากความคิดของโทมัส มัวร์ ชาวไร่คนหนึ่งในมณฑลมอนต์กอเมอรี รัฐแมริแลนด์ นอกจากโทมัสจะทำไร่เลี้ยงปศุสัตว์แล้ว เขายังเป็นช่างทำตู้อีกด้วย ปี 1802 โทมัสเกิดความคิดที่จะสร้างกล่องน้ำแข็งเพื่อถนอมรักษาเนยแข็ง เพราะเขาต้องการนำเนยแข็งไปขายที่เมืองจอร์จทาวน์ เขตมณฑลเคนต์
ในฤดูร้อนเนยแข็งจะอ่อนตัวจนเหลวหากไม่เก็บไว้ในที่เย็น แน่นอนว่าการบรรทุกเนยแข็งไปขายยังต่างเมืองที่อยู่ห่างไกลย่อมทำให้เนยแข็งอ่อนตัวหรือไม่ก็เหลวเละเป็นโจ๊กไปเลยเมื่อไปถึงจุดหมาย ซึ่งพ่อค้าเนยแข็งประสบปัญหานี้เหมือนกันทุกคน แต่โทมัสนำเนยแข็งบรรจุลงในกล่องน้ำแข็ง ทำให้เนยแข็งของเขายังคงจับตัวเป็นก้อนไม่เสียรูปทรง ลูกค้าจึงเลือกซื้อเนยแข็งของโทมัสมากกว่าที่จะซื้อจากพ่อค้าคนอื่น
สิ่งประดิษฐ์ของโทมัสกลายเป็นนวัตกรรมพลิกโลก เพราะไม่เพียงช่วยเก็บรักษาเนยแข็งเท่านั้น แต่มันยังสามารถเก็บถนอมรักษาอาหารชนิดอื่นๆได้อีกด้วย ทำให้ชีวิตคนเมืองมีความสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าจะต้องสั่งซื้อน้ำแข็งมาเติมทุกวัน หรืออย่างมากก็วันเว้นวัน ขึ้นอยู่กับขนาดของกล่องน้ำแข็งและอุณหภูมิอากาศในวันนั้นๆ
นวัตกรรมพลิกโลก
กล่องน้ำแข็งทำจากไม้โอ๊ก ไม้สน หรือไม้แอช มีลักษณะเป็นตู้มากกว่ากล่อง แต่ภาษาอังกฤษเรียก Icebox ด้านในบุด้วยผ้าขนสัตว์ ถ่าน ไม้คอร์ก และเส้นใยลินิน ชั้นวางของทำจากไม้ เหล็กชุบกัลวาไนซ์หรือสังกะสี และกระเบื้อง โดยทั่วไปกล่องน้ำแข็งมี 2 ขนาดคือ บรรจุน้ำแข็ง 25 ปอนด์ และ 50 ปอนด์
น้ำแข็งธรรมชาติในสมัยนั้นมีราคา 15 เซ็นต์ต่อน้ำแข็ง 25 ปอนด์ เมื่อใส่ลงในกล่องน้ำแข็งจะสามารถอยู่ได้ 1 วัน หรืออย่างมากไม่เกิน 2 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ น้ำแข็งจะค่อยๆละลายเป็นน้ำไหลลงสู่ถาดรอง คุณแม่บ้านมีหน้าที่นำถาดรองน้ำไปเททิ้งบ่อยๆวันละหลายครั้ง มิเช่นนั้นน้ำจะล้นถาดไหลนองทั่วพื้นบ้าน
หลังจากนั้นกล่องน้ำแข็งถูกนำไปดัดแปลงเป็นระบบทำความเย็นให้กับสถานบันเทิงขนาดใหญ่ เช่น คาร์เนกีฮอลล์ และเมดิสันสแควร์การ์เดน เฉพาะเกาะแมนฮัตตันและเขตบรูคลินเพียง 2 แห่ง บริโภคน้ำแข็งมากถึงปีละ 1.3 ล้านตัน หรือเท่ากับ 25% ของการบริโภคน้ำแข็งทั้งประเทศอเมริกา
น้ำแข็งธรรมชาติที่ส่งมายังเกาะแมนฮัตตันและเขตบรูคกลินได้มาจากทะลสาบและบึงในเขตหุบเขาแม่น้ำฮัดสัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากทะเลสาบร็อคแลนด์ มันจึงถูกขนานนามว่าเป็น “โรงน้ำแข็งแห่งกรุงนิวยอร์ก” คนงานใช้เลื่อยตัดลงบนผิวหน้าทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็งให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยม จากนั้นลากไปเก็บไว้ในโรงน้ำแข็งรอการขนส่งให้กับลูกค้า
มีใช้ทุกบ้าน
เมื่อถึงทศวรรษ 1890 ทุกครัวเรือนมีกล่องน้ำแข็งใช้ นอกเสียจากว่าเป็นครอบครัวที่จนมากจริงๆถึงจะไม่มีปัญญาซื้อกล่องน้ำแข็งมาใช้ ดังนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของน้ำแข็งธรรมชาติ เฉพาะกรุงนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวมีรถส่งน้ำแข็งมากถึง 1,500 คัน
อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่ากล่องน้ำแข็งต้องเปลี่ยนน้ำแข็งก้อนใหม่ทุกวันหรืออย่างมากก็ไม่เกิน 2 วัน ขณะที่คุณผู้ชายส่วนใหญ่ออกจากบ้านไปทำงาน คุณผู้หญิงจึงทำหน้าที่สั่งซื้อน้ำแข็ง วิธีการสั่งซื้อก็โดยการเขียนป้ายแปะติดไว้กับหน้าต่าง เมื่อคนขับรถบรรทุกน้ำแข็งผ่านมาเห็นก็จะหยุดรถและแบกน้ำแข็งขึ้นไปส่งที่บ้านหรือที่ห้องพัก
การส่งน้ำแข็งไม่เหมือนการส่งจดหมายหรือส่งนมที่สามารถวางไว้หน้าประตูบ้านได้ เพราะนอกจากมันจะละลายแล้ว การขนย้ายน้ำแข็งต้องมีอุปกรณ์ช่วย และน้ำแข็งมีน้ำหนักมาก อีกทั้งก้อนน้ำแข็งอาจมีขนาดไม่พอดีกับช่องในกล่องน้ำแข็ง คนส่งน้ำแข็งมีหน้าที่สกัดก้อนน้ำแข็งให้ใส่ลงในกล่องน้ำแข็งได้พอดี
ด้วยเหตุนี้เองคนส่งน้ำแข็งจึงสามารถเข้าไปภายในบ้านลูกค้าได้ทุกหลังคาเรือน โดยที่มีคุณแม่บ้านอยู่บ้านตามลำพังเพราะคุณพ่อบ้านออกไปทำงาน ขณะที่คนส่งน้ำแข็งส่วนใหญ่มีรูปร่างกำยำล่ำสันเพราะต้องแบกน้ำแข็งทั้งวัน นั่นเองจึงเป็นที่มาของข่าวลือว่าคนส่งน้ำแข็งส่วนใหญ่ทำงานเกินหน้าที่
คนสร้างกระแส
จะว่าไปแล้วเรียกข่าวลือก็คงไม่ถูกต้องเท่าไรนัก จริงๆแล้วเรียกว่าเป็นเรื่องตลกสัปดนน่าจะถูกต้องกว่า เช่น ถ้าครอบครัวไหนมีลูกที่มีสีผมต่างจากคนเป็นพ่อ เพื่อนๆก็จะล้อเลียนว่าลูกมีสีผมเหมือนคนส่งน้ำแข็งหรือเปล่า? แรกเริ่มนั้นก็แค่หยอกล้อกันในกลุ่มเพื่อนฝูง ต่อมามีนักแต่งเพลงคนหนึ่งเอาตลกสัปดนเรื่องนี้ไปแต่งเป็นเพลงและเกิดฮิตติดหูขึ้นมา เลยกลายเป็นเรื่องคนส่งน้ำแข็งในตำนาน
เจ. เฟรด เฮล์ฟ เป็นชาวเคนทักกี เดินทางมาแสวงโชคมองหาหนทางเข้าสู่วงการดนตรีที่กรุงนิวยอร์กราวทศวรรษ 1890 เมื่อถึงปี 1899 เขาโด่งดังเป็นพลุแตกจากผลงานเพลงชื่อ “How’d You Like to Be the Iceman?” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับคนส่งน้ำแข็งทำงานเกินหน้าที่
เพลงของเฮล์ฟดังมากจนถึงขนาดมีคนลอกเลียนแบบหลายคน และมีคนแต่งเพลงแก้ชื่อเพลง “All She Gets from the Iceman is Ice” ซึ่งโด่งดังติดอันดับท็อป 100 บิลบอร์ดเช่นเดียวกัน ขณะที่สำนวน “How’d You Like to Be the Iceman?” ถูกนำไปพิมพ์ลงบนสินค้าหลากหลายชนิดตั้งแต่โปสการ์ดไปจนถึงเข็มกลัดติดเสื้อ
คนส่งน้ำแข็งหน้าตาหล่อเหลา ร่างกายบึกบึนพอมีอยู่บ้าง เช่น ฮาโรลด์ แกรนจ์ กองหลังอเมริกันฟุตบอลชื่อดังที่เคยทำงานเป็นเด็กส่งน้ำแข็งก่อนที่จะมาเล่นอเมริกันฟุตบอลอาชีพให้กับทีมชิคาโกแบร์และนิวยอร์กแยงกี้ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังคงกลับมาทำงานส่งน้ำแข็งในช่วงที่ไม่มีตารางการแข่งขันฟุตบอลเพื่อหารายได้พิเศษ
แต่ในความเป็นจริงคนส่งน้ำแข็งส่วนใหญ่ไม่ได้มีเสน่ห์ชวนให้หลงใหล พวกเขาทำงานหนักแลกกับค่าแรงเพียงน้อยนิด ขณะที่คุณแม่บ้านส่วนใหญ่ก็มักต่อว่าคนส่งน้ำแข็งที่ชอบโก่งราคาขายแพง คำพูดที่กล่าวว่า “คนส่งน้ำแข็งทำงานเกินหน้าที่” จึงเป็นเพียงเรื่องตลกสัปดนที่เอามาล้อกันเล่นในหมู่เพื่อนสนิทเท่านั้น
ปี 1913 เฟรด ดับบลิว. วูฟ ประดิษฐ์ตู้เย็นพลังงานไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ตลาดกล่องน้ำแข็งก็ค่อยๆซาลง เพราะคนหันไปใช้ตู้เย็นไฟฟ้าที่ไม่ต้องคอยเติมน้ำแข็งทุกวัน เมื่อถึงปี 1950 คนอเมริกัน 90% มีตู้เย็นใช้ อุตสาหกรรมน้ำแข็งธรรมชาติปิดตัวลงอย่างถาวร อาชีพเด็กส่งน้ำแข็งล้มหายตายจากไป พร้อมกับเรื่องตลกสัปดนที่คนรุ่นหลังส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความหมาย
1.คนงานตัดน้ำแข็งในทะเลสาบ
2.คนส่งน้ำแข็งในเมืองบอสตัน
3.กล่องน้ำแข็งใช้เก็บถนอมอาหาร
4.ระบบทำความเย็นสำหรับอาคารในปี 1865
5.เจ. เฟรด เฮล์ฟ ผู้สร้างกระแสคนส่งน้ำแข็งในตำนาน
6.บทเพลง How’d You Like to Be the Iceman?
7.เพลงแก้ All She Gets from the Iceman is Ice
8.ฮาโรลด์ แกรนจ์ เด็กส่งน้ำแข็งขวัญใจแม่บ้าน
9.ฮาโรลด์รับจ๊อบส่งน้ำแข็งหารายได้พิเศษ
10.ตู้เย็นเครื่องแรกของโลก
You must be logged in to post a comment Login