วันพฤหัสที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สสส.ผนึกภาคีเครือข่ายปลดล็อกวิกฤตพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยการอ่าน

On August 1, 2019

1

แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) จัดเวทีภายใต้แนวคิด “ปลดล็อกวิกฤตพัฒนาการเด็กปฐมวัย ด้วยการอ่านและกองทุนสุขภาพในชุมชนท้องถิ่น”ขยายองค์ความรู้งานวิจัย การดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย ด้วยหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน : กรณีศึกษาจังหวัดสุรินทร์ มุ่งให้เห็นเส้นทางการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เป็นเครื่องมือปลดล็อกวิกฤตและส่งเสริมพัฒนาการเด็กในพื้นที่ โดยใช้ช่องทางการเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

2

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย  กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำรวจพบ พัฒนาการเด็กปฐมวัย (0–6 ปี) ล่าช้าโดยรวมร้อยละ 32.50 โดยพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2560 เฉลี่ยร้อยละ 24.76 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม ซึ่ง การสร้างนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย เด็กที่เกิดมาต้นทุนเท่ากัน ระดับสติปัญญาเริ่มต้นก็จะไม่ต่างกันมาก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมหรือไม่ได้รับความใส่ใจจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง เด็กก็อาจจะกลายเป็นเด็กหลังห้อง และมีผลการเรียนต่ำ เพราะว่าขาดแรงกระตุ้น แรงจูงใจในการเรียนรู้ และการทุ่มเทให้เกิดการพัฒนาตามวัย

“สิ่งที่สำคัญของการช่วยเสริมการเรียนรู้ คือ กิน เล่น กอด เล่า หมายถึงต้องดูแลโภชนาการต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เพราะสมองเด็กต้องการอาหารไปหล่อเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นไอโอดีน ธาตุเหล็ก ส่วนการเล่นคือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว ทั้งศิลปะ ดนตรี จินตนาการ กอด คือ การสัมผัสของพ่อแม่ ความอบอุ่นที่ทำให้เด็กหลั่ง “สารเนิฟ โกรธ ฮอร์โมน” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง และ เล่า นั้น พบว่า การอ่านหนังสือ พูด คุย เด็กตั้งคำถามแล้วพ่อแม่ตอบ เด็กรู้จักเล่าเรื่อง อ่านหนังสือด้วยกัน จะช่วยพัฒนาระบบวิธีคิดของเด็กเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาศักยภาพของสมองเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือทุ่มเทให้เด็กได้พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

3

ดร.นพ.ไพโรจน์  เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการบูรณการ 4 เครือข่ายสร้างสุขภาวะ ทั้ง สช. สปสช. สช. และ สสส. เพื่อพันธกิจการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. มุ่งเน้นการทำงานเชิงบูรณาการ และการหนุนเสริมศักยภาพของกลไกเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งถือเป็นฐานรากที่สำคัญ เครื่องมือและกระบวนการส่งเสริมการอ่านเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ขับเคลื่อนเพื่อสร้างครอบครัวอบอุ่น และชุมชนเข้มแข็ง เป็นตัวชี้วัดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพระดับประเทศ

4

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้เกิดสวัสดิการหนังสือในระดับชุมชน และมีกระบวนการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กปฐมวัย โดยให้ประชาชน กลุ่มบุคคลในชุมชนท้องถิ่น สามารถเข้าถึงกองทุนฯ เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมแก้ไขวิกฤติพัฒนาการเด็กปฐมวัย ถือเป็นจุดคานงัดและเป็นการปลดล็อกครั้งสำคัญในการแก้ปัญหาสถานการณ์พัฒนาการเด็กล่าช้าได้ ยิ่งถ้าในพื้นที่ใดเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และองค์กรหรือกลุ่มประชาชนในพื้นที่นั้นๆ สามารถเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น การพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้ ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เด็กๆ จะกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต

5

อาจารย์วรเชษฐ  เขียวจันทร์ นักวิจัย/นักวิชาการอิสระด้านมานุษยวิทยา กล่าวว่า จากกรณีศึกษาของพื้นที่ต้นแบบระบบนิเวศการอ่านในจังหวัดสุรินทร์ ของพื้นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เขต 9 พบว่า การใช้กองทุนสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย ด้วยหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ทำให้เกิดสวัสดิการด้านการอ่านในชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งยังมีการขยายผลไปยังชุมชนปฏิบัติการพื้นที่อื่นๆ เช่น เขต 10 อุบลราชธานี เขต 7 ขอนแก่น และเขต 4 สระบุรี จนทำให้ชุมชนที่มีความพร้อมและเห็นความสำคัญในการพัฒนาเด็กมากขึ้น ผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่เด็กมากกว่าเดิม คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจนเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน  ซึ่งหากพื้นที่อื่นนอกเหนือจากขอบเขตการศึกษาวิจัยดำเนินการตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้นการดำเนินโครงการดังกล่าวก็มีโอกาสผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพด้วยเช่นกัน

นางมีนา  ดวงราษี  ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน กล่าวว่าเด็กไทยช่วยพัฒนาประเทศได้มากกว่าเป้าหมาย หากเด็กของเราในวันนี้ได้รับการส่งเสริมสุขภาวะตามพัฒนาการครบทุกด้าน มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีไม่เสี่ยงโรคภัย มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสุขเป็น อยู่ร่วมและช่วยเหลือคนอื่นได้ มีทักษะชีวิตคิดเป็น เท่าทันการเปลี่ยนแปลงฯ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดได้ง่ายดาย เพียงเด็กๆ ได้ฟังนิทานทุกวัน ได้อ่านหนังสือหลากหลาย จากการที่ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม “บ้านพัฒนาการเด็ก” “บ้านอ่านยกกำลังสุข” ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์นอกห้องเรียน มีการร่วมออกแบบจากผู้เกี่ยวข้องและมีคนในชุมชนเป็นเจ้าภาพ เพียงเปิดโอกาสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีสิทธิเข้าถึง “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่/ตำบล”จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง

6

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดบูธนิทรรศการ อ่านสร้างเสริมสุขภาพ : การใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบล เพื่อพัฒนา IQ, EQ เด็กปฐมวัย ด้วยหนังสือและการอ่าน กิจกรรมภารกิจแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสนอแนะจากหลากหลายองค์กร


You must be logged in to post a comment Login