- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 15 hours ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 1 day ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 2 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 2 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 2 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 2 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 2 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 3 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 6 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 1 week ago
“ไพร่หมื่นล้าน-นิติราษฎร์” เปิดตัวพรรคใหม่
ปิยบุตร แสงกนกกุล นักนิติศาสตร์หนุ่มจาก “นิติราษฎร์” เปิดแนวคิดพรรคทางเลือกใหม่ร่วมกับ “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศภารกิจสำคัญเพื่อพาคนไทยออกจาก “เผด็จการ”
ในวัยใกล้เลขสี่ ของ ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาประกาศเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่เวทีการเมือง เพื่อผลักดันความฝัน ความเชื่อในการสร้างประเทศ
ปิยบุตรคือ “ศิษย์รุ่นแรก” ของ ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักนิติศาสตร์ฝีปากกล้าแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ แล้วขยับเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ร่วมโยนข้อเสนอทางกฎหมายและการเมืองอันแหลมคมออกสู่สังคมในนามคณะ “นิติราษฎร์”
- “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ “โรดแมป” การเมือง
- “พรรคทักษิณ” ในการเมืองหลังยุค “ชินวัตร”
ทว่ารัฐประหารปี 2557 นำมาซึ่งความ “ไม่สนุก” กับงานสอนหนังสือแก่นักวิชาการวัย 38 ปีรายนี้ ด้วยเพราะ เขาต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองที่เขาต้องสอนเป็นหลัก ภายใต้ยุคสมัยที่อุดมการณ์ “นิติรัฐ-ประชาธิปไตย” ครอบโลกไม่เว้นประเทศไทย ศาลถูกจับวางให้อยู่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุล
ปิยบุตรตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า “เรากำลังให้ความชอบธรรมกับศาลมากกว่าอำนาจของประชาชนหรือไม่” ทั้งที่นอกห้องเรียน เขาคือผู้ตรวจสอบบทบาทของฝ่ายตุลาการตัวยง ถึงขั้นออกหนังสือ “ศาลรัฐประหาร” เมื่อปีก่อน
ทางเลือกหนึ่งเพื่อเด้งออกจากความคิดสับสน-วนเวียน จึงอยู่ที่การยื่นเรื่อง “ลาสอน” เพื่อหยุดทบทวนตัวเอง ทว่ายังไม่ทันดำเนินการ ความคิด “ลาพัก” ได้พัฒนาเป็นการตัดสินใจเตรียม “ลาออก” เมื่อได้ปรับทุกข์-ผูกมิตรกับ “กัลยาณมิตร” หลายคน ในจำนวนนี้มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารหนุ่มไทยซัมมิท กรุ๊ป เจ้าของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” รวมอยู่ด้วย
“เราคุยด้วยกันมา เห็นตรงกันว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองทางเลือกใหม่เกิดขึ้น” ปิยบุตรกล่าวกับบีบีซีไทย
ชูแนวคิด พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ในยุโรป – พาคนไทยออกจากเผด็จการ
ปิยบุตรเล่าว่า เขามีความคิดเรื่องการสร้างพรรคทางเลือกใหม่มานานแล้ว แต่มาแจ่มชัดระหว่างลาไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้มีพรรคทางเลือกใหม่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น พรรคโพเดมอส (Podemos) ในสเปนซึ่งมาเป็นพรรคอันดับ 3 พรรคซีริซา (Syriza) ของกรีซได้เป็นรัฐบาล La France insoumise ของฝรั่งเศสกลายเป็นอันดับ 1 ของฝ่ายค้าน เพราะคนในสังคมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหน ไม่ว่าพรรคฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ก็ดำเนินนโยบายเหมือนกันคือเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ
เมื่อย้อนกลับมาดูวิกฤตการเมืองไทยในรอบ 13 ปี ซึ่งผู้คนจำนวนมากมองไม่เห็นทางออก ปิยบุตรชี้ว่า นี่คือสภาพการณ์ที่ต้องระวังให้ดี เพราะถ้าประคองไม่ดีจะเสร็จ “ตาอยู่” ซึ่งหมายถึง “เผด็จการ”
“ประเทศไทยอ่อนล้าเหนื่อยล้ากับความขัดแย้งมาสิบกว่าปี พรรคไหนชนะ อีกข้างหนึ่งก็จะต่อต้าน พรรคหนึ่งชนะ อีกข้างต่อต้าน แบบนี้ตลอดเวลา คนมีความรู้สึกว่าเลือกตั้งแล้วไม่จบ เลือกตั้งแล้วจะเจอการชุมนุม เกิดความวุ่นวาย ถ้ามีนายทหารคนหนึ่งขึ้นมาในนามของ ‘การรักษาความสงบ’ ขจัดความขัดแย้ง ทำให้บ้านเมืองสงบกลับมาเข้ารูปเข้ารอย มาในลักษณะแบบนี้ คนก็จะคิดว่าอย่างนี้เรา ‘ยอมพักประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว’ กลับไปอยู่กับเผด็จการดีกว่า” ดุษฎีบัณฑิตด้านนิติศาสตร์จากฝรั่งเศสให้มุมมอง
นี่จึงเป็น “ช่วงเวลาสำคัญ” ในการแจ้งเกิดพรรคทางเลือกใหม่ตามทัศนะของปิยบุตรกับเพื่อน โดยหวังใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้คนออกจาก “ระบอบเผด็จการ” กลับสู่การเมืองในระบบปกติหลังผ่าน “ทศวรรษที่สูญหาย” และเพื่อตอกย้ำว่าการหวนคืนสู่การเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าจะได้การเมืองแบบเดิม
อย่างไรก็ตามผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ยังไม่ขอเปิดชื่อพรรค แต่แย้มว่าจะสะท้อนอุดมการณ์ ความเป็น “พลเมืองรุ่นใหม่” และ “การเมืองแบบใหม่” และไม่มีคำว่า “ชาติ-ไทย-ประชาธิปไตย” ในชื่อแน่นอน
เช่นเดียวกับตำแหน่งในพรรคที่ยังไม่มีการจัดวางตัวบุคคล เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามประชุมพรรค แต่เขาพร้อมยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคและดำเนินการตามข้อกฎหมาย
“นอมินีทักษิณ”?
นอกจากการขึ้นสู่อำนาจทางลัดของ คสช. จะเป็น “แรงผลัก” ให้ ปิยบุตรกระโจนสู่การเมือง ยังมีอีก “แรงดูด” จากปรากฏการณ์การเมือง “หลังยุคชินวัตร” (Post-Shinawatra Era) ที่เขาเห็นว่าเป็นการเปิดพื้นที่การเมืองใหม่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามา “ลงมือทำ”
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองฝั่งนายทักษิณ ชินวัตร ย่อมทำให้พรรคของ ปิยบุตร-ธนาธร สุ่มเสี่ยงต่อการถูกสงสัยว่าเป็น “พรรคตัวแทนทักษิณ”
“ผมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง เราทำของเราเอง ไม่ได้มาเป็นนอมินีของใคร ใครส่งมาไม่มี เราทำของเราเอง เดี๋ยวเปิดตัวไป เห็นรายชื่อ ก็จะรู้เองว่าไม่เกี่ยวอะไรเลย เป็นคนใหม่ทั้งหมด”
เมื่อครั้งยังเป็นนักวิชาการเต็มขั้น ปิยบุตรมักเปรียบเปรยสิ่งที่เขาทำว่าเป็นการ “ทำงานทางความคิด” โดยชี้ว่าปัญญาชนมีหลายลักษณะ มีทั้งผู้ที่ชอบหมกตัวอยู่ในห้องสมุด ค้นคว้า อ่าน เขียน ลงพื้นที่ศึกษาวิจัย และปัญญาชนที่เข้าไปผูกมัดกับอุดมการณ์ความคิด ถ้าเชื่ออย่างไรก็ต้องลงไปปฏิบัติให้เกิดผล
“ผมและเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่งเคยเสนอความเห็นออกสู่สาธารณะหลายครั้ง ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับ ในทางการเมืองเขาทำไม่ได้ นักวิชาการก็ต้องคิดว่ามันถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องลงไปทำเอง” ปิยบุตรกล่าว
สำหรับเขา “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” และ “การเมืองคือความเป็นไปได้ ถ้าเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มาทำ”
ติดภาพนิติราษฎร์?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมรู้จักปิยบุตรจากบทบาทนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2549 เพื่อทวงคืนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย หนึ่งในข้อเสนออันแหลมคมที่ถูกโยนออกมาสู่สังคมคือการลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทว่าภายใต้สถานการณ์ในยุค “เปลี่ยนผ่านทางการเมือง” น่าสนใจว่า “ภาพจำในอดีต” จะย้อนกลับมาเป็นอุปสรรคในการทำงานการเมืองของนักกฎหมายหนุ่มหรือไม่?
ปิยบุตรชี้แจงว่า “หัวใจหลัก” ของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ออกมาต่อเนื่อง คือต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐที่ร่ำเรียนกันมา จึงไม่คิดจะลบภาพลักษณ์ หรือล้างภาพจำใด ๆ ทั้งสิ้น
“ผมคิดว่ามันลบไม่ได้ มันก็คือตัวเรา มันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วผมพูดไปด้วยความสุจริตทั้งสิ้น ไม่ได้อาฆาตมาดร้ายที่จะอะไรทั้งสิ้น แต่แนวคิดหลักคือต้องการให้สถาบันทางการเมือง สถาบันหลักที่อยู่ในรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับประชาธิปไตย และอยู่ได้อย่างเป็นเกียรติ” ปิยบุตรกล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
“เสี่ยง.. แต่คุ้ม”
เมื่อปัญญาชนที่ชื่อปิยบุตรเลือกผูกมัดตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ภาคต่อไปของเขาจึงอยู่ที่การผลักดัน-สร้างสนามประชาธิปไตยในสังคมไทยอีกครั้ง ทว่ามีความเสี่ยงระดับสูงที่ต้องประเมิน
หนึ่งใน “เสียงสนับสนุน” ที่มีน้ำหนัก ดังขึ้นจาก ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งไม่เพียงเป็น “ครูกฎหมาย” ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โทของเขา แต่ยังร่วมขับเคลื่อนแนวทาง “นิติศาสตร์เพื่อราษฎร” มาด้วยกัน
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมตัดสินใจนี่ เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน ผมก็บอก พอบอกอาจารย์วรเจตน์ก็ไม่ค้าน ก็สนับสนุน แต่ก็เป็นห่วง กังวล ก็อย่างที่เราทราบการเมืองไทยมันก็โหดร้ายทารุณอยู่พอสมควร”
แม้รู้ว่าการทำงานการเมืองมีความ “เสี่ยง” แต่เขาคิดว่า “คุ้ม”
“การเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณปฏิเสธไม่ได้หรอกกว่าเสี่ยง คุณเสนออะไรที่มัน.. เขาคิดว่าก้าวหน้าเกินไป หรือเขาคิดว่าอันตรายต่อเขา เขาอาจหาวิถีทางกำจัดออกไป อย่างประสบการณ์ที่เราพบเห็นมาตลอดตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ ประวัติศาสตร์มันบอกไว้ ถามว่าความเสี่ยงลักษณะแบบนี้มันพร้อม มันคุ้มไหมที่จะลองมาเสี่ยงดู ผมคิดว่ามันคุ้ม”
“มันเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ทำตอนนี้ โอกาสนี้อาจจะหลุดมือไป ห้วงเวลาประวัติศาสตร์นี้อาจจะหลุดมือไป” เขากล่าวทิ้งท้าย
ปิยบุตรพูดถึงครู-ศิษย์-เพื่อน “ผู้ไม่ยอมจำนน”
ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดถึง “ชาย 3 คน” ที่เขาให้ความเคารพในความคิด โดยมีจุดร่วมกันคือเป็นคนที่มีหลักการ ความเชื่อ และเป็นตัวอย่างของการ “ไม่ยอมจำนน” โดยพร้อมออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปรับความลำบาก ไปต่อสู้ในรูปแบบที่แตกต่างกันเพื่อรักษาหลักการที่ตนยึดถือเอาไว้
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ครูที่เคารพที่สุด – มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติทั้งในเรื่องส่วนตัว และเรื่องวิชาการ เป็นแบบอย่างที่ดี
- รังสิมันต์ โรม : ศิษย์ที่ภูมิใจที่สุด – มีความคิด ความเชื่อ ความฝัน เมื่อเห็นว่าสิ่งที่เรียนมาเป็นแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็ออกมาท้าทาย เผชิญหน้า ประท้วง ต่อสู้
- ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : เพื่อนที่กล้าหาญที่สุด – เขาอยู่ในที่ ๆ อยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่กล้าตัดสินใจมาเสี่ยงตรงนี้เพื่อสร้างการเมืองใหม่
ที่มา : ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวกับบีบีซีไทย
You must be logged in to post a comment Login