วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ปีไก่ทองรัฐบาลทหาร / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On December 28, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี 2560 ซึ่งตรงกับปีระกาที่ท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทั้งหลายมุ่งหวังจะให้เป็นปีไก่ทอง เพื่อให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดีมีความสุขมากขึ้นในแบบฉบับ “เราจะทำตามสัญญา” แต่ทำไปทำมาแม้ตัวเลขภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่สามารถรับรู้ได้ว่าตัวเองมีสตางค์ในกระเป๋ามากขึ้น

หรือตัวเลขที่รัฐบาลเอามาโชว์เป็นตัวเลขที่เกินข้อเท็จจริง เรื่องนี้ผมช่วยยืนยันอีกแรงว่าตัวเลขเฉพาะที่ฝ่ายเศรษฐกิจของท่านผู้นำสูงสุดนำมาประกาศต่อสาธารณะนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงแต่เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นเฉพาะภาพรวมเท่านั้น หากท่านใดอยากทราบรายละเอียดมากกว่านั้นก็ต้องขวนขวายศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ความลับแต่อย่างใด

ดังนั้น ตัวเลขสาธารณะเหล่านี้จึงต้องขึ้นอยู่กับผู้รู้ที่ต้องวิเคราะห์แปลความหมายและประเมินผลแบบตรงไปตรงมา โดยต้องอธิบายสถานการณ์ต่างๆตามข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน มิฉะนั้นจะกลายเป็นการอธิบายความโดยใช้ข้อมูลเพียงบางส่วน และทำให้การประเมินสถานการณ์ต่างๆไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงตามที่ควรจะเป็น

วันก่อนผมมีโอกาสได้ฟัง “อาจารย์โกร่ง” ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย วิพากษ์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันของประเทศในภาพรวม ถือเป็นโชคดีที่ได้ฟังความเห็นจากปูชนียบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่รุ่นเก๋าจนถึงรุ่นเยาว์ว่าท่านไม่เคยเป็น “นักวิชาการตกยุค” และเป็น “กูรู” ที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ

ท่านบอกว่าอยากเริ่มต้นที่สถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาก่อน ซึ่งโดยปรกติเศรษฐกิจของสหรัฐมีขนาดใหญ่และมีการขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 2% ต่อปีเท่านั้น แต่สำหรับปีนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 50% หรือโตจาก 2% เป็น 3% ถือว่าขยายตัวได้ดีมาก และในปีหน้าเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ดีมากกว่านี้เสียอีก ที่สำคัญคืออัตราเงินเฟ้อซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราค่าแรงอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก จึงมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะร้อนแรงอย่างแน่นอน

เมื่อเศรษฐกิจเมืองลุงแซมอยู่ในช่วงขาขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปรวมถึงญี่ปุ่นอู้ฟู่ไปด้วย แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่ในซีกโลกตะวันออกอย่างจีนก็จะชะลอตัวลง ซึ่งไม่ส่งผลดีกับประเทศไทย  เพราะไทยเคยมีปริมาณการค้ากับฝ่ายโลกตะวันตกมากกว่า 40% ในอดีต แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 20% ไม่ถึงครึ่งของเดิม เพราะไทยมาขยายตลาดใหม่กับจีนและอาเซียน แถมราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในช่วงขาลงอีก

ราคาน้ำมันโลกตกต่ำมีผลต่อราคาผลผลิตทางการเกษตรของไทยโดยตรง เพราะจะทำให้ราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าธัญพืชต่างๆที่สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนได้มีราคาตกต่ำลงไปด้วย ดังนั้น การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปต่างๆจึงได้รับผลกระทบเต็มๆ ซึ่งหมายถึงรายได้ของเกษตรกรจะต้องลดลงตามไปด้วย

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า มีเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจภาคการเกษตรสูงถึง 30-40% การที่ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำจึงทำให้เกิดผลกระทบกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยป๋าเปรมเป็นนายกฯ แต่ในสมัยของท่านผู้นำสูงสุดดูจะโชคดีกว่ามาก เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบันมีอยู่อย่างเหลือเฟือ ต่างกับสมัยท่านรัฐบุรุษที่เหลืออยู่น้อยมาก ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเวลาอันใกล้นี้จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษตรกรมีรายได้ลดลงย่อมทำให้กำลังซื้อในตลาดล่างหดหายตามไปด้วย ส่วนตัวเลขการส่งออกผลผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นก็ยังไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนสำคัญ เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมยังใช้กำลังการผลิตเพียงแค่ 60% เท่านั้น แปลว่ายังไม่มีการลงทุนอะไรใหม่ๆ ดังนั้น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจึงยังไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างไร

สรุปแล้วการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้องที่รัฐบาลควรกระทำ แต่การดำเนินการที่ใช้ระบบ “รัฐราชการ” เป็นตัวขับเคลื่อนยังถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะมีความอุ้ยอ้ายเชื่องช้า กว่าจะสามารถลงทุนในโครงการของรัฐต่างๆได้ก็ต้องรอแล้วรออีก โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลวางแผนไว้ก่อนหน้านี้ก็ล่าช้าไปมากกว่าแผนงานแทบทั้งสิ้น

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าแม้เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสภาวะขาขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น เพราะภาคการเกษตรของประเทศยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาผลผลิตตกต่ำอย่างหนัก มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้เลย

ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็ยังใช้วิธีการกินบุญเก่าอยู่เหมือนเดิม เมื่อไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิตก็ย่อมไม่มีการลงทุนใหม่ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ธุรกิจสมัยใหม่ที่เรียกว่า “Startup” ยังไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร อีกทั้งกฎหมายและระเบียบของทางราชการก็ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจมากกว่าจะเป็นเครื่องมือที่เอื้อประโยชน์เหมือนที่ประเทศอื่นๆเขาทำกัน

ยกเว้นภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว มั่นคง และสร้างรายได้ให้กับรัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ หากดูตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนประเทศไทยกว่า 30 ล้านคน ต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดาจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากแดนมังกรมากถึง 15 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองไทยยังมีระยะเวลาในการพักอาศัยอยู่ในประเทศและค่าใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้นด้วย ถือว่าเป็นผลงานที่ต้องชมเชยและให้เครดิตกับผู้รับผิดชอบในทุกระดับชั้น แต่อย่างไรก็ดี ในมุมของเศรษฐกิจสภาพนี้ถือว่าดีเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่รายได้ที่เกิดขึ้นยังถือเป็นรายได้ที่กระจุกตัว ไม่กระจาย คือดีเฉพาะบางจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเท่านั้น

ผมเองค่อนข้างประหลาดใจที่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดพบว่า รัฐมนตรีสุภาพสตรีที่มีผลงานเข้าตาประชาชนมากที่สุดกลับถูกปรับพ้น ครม. ออกไป แต่ผมคงไม่สามารถไปก้าวล่วงการตัดสินใจของท่านผู้นำสูงสุดได้ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมาได้รับคำยืนยันจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นจำนวน “หลักพัน” ที่แสดงความคิดเห็นแทนประชากรกว่า “70 ล้านคน” ของประเทศมาโดยตลอดว่า “ท่านผู้นำสูงสุดและฝ่ายบริหารทุกท่านสามารถสร้างความพึงพอใจและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้นอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลเลือกตั้งคณะไหนได้รับมาก่อน”

ขึ้นต้นเรื่องเศรษฐกิจอยู่ดีๆกลับมาลงท้ายเรื่องนี้ได้ยังไงก็ไม่รู้ พบกันฉบับหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login