- กลืนเลือดไม่ให้เสียใจPosted 2 days ago
- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 2 days ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 3 days ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 4 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 4 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 4 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 4 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 4 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 5 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 1 week ago
ตามรอยมวยไทยในบริบทศรีวิชัย(1) / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก
เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยและสภามวยไทยโลกได้จัดอภิปรายในโครงการแกะรอยมวยไทย โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการอิสระ มาถ่ายทอดให้ความรู้ว่ามวยไทยเกิดขึ้นที่ใด? เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงว่าศิลปะมวยไทยที่มีมาคู่กับคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณนั้นมีที่มาในทางประวัติศาสตร์อย่างไร?
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เริ่มต้นนำเสนอโดย บริษัท กูรูทีวีกรุ๊ป จำกัด เพื่อจัดทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับมวยไทย โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นจะนำไปประชาสัมพันธ์ทาง “KURU Television” และในระยะยาวอาจมีการต่อยอดเพื่อเชื่อมโยงไปยังทั่วโลก เพื่อเป็นการผลักดันรณรงค์ให้มวยไทยกลายเป็นมรดกโลก ประกอบกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปที่โตเกียว ทางโอลิมปิกสากลได้บรรจุกีฬามวยไทยเป็นชนิดกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก
เรื่องมวยไทยจึงถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นโครงการในระดับโลกไปแล้ว โดยมีความหมายอยู่หลายนัย อาจจะด้วยความบังเอิญที่ผมมีความสนิทสนมและได้รับความเชื่อถือจาก ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ที่เป็นที่ปรึกษาใหญ่ของกูรูทีวีกรุ๊ป จึงได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ด้วย ซึ่งขอบเขตต้องเชื่อมโยงเกี่ยวข้องทั้งกับสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สภามวยไทยโลก รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผมเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะกีฬามวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเคยประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เห็นชอบให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันมวยไทย” โดยถือวันที่พระเจ้าเสือหรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประสูติ ณ จังหวัดพิจิตรได้เสด็จขึ้นครองราชย์ วันดังกล่าวถือเป็นวันเทิดพระเกียรติ ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นอย่างมาก จึงเห็นสมควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเทิดพระเกียรติและส่งเสริมคุณค่าของศิลปะมวยไทย
นอกจากนี้ยังมีพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปะมวยไทย อาทิ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มีตำรามวยชื่อว่า “มวยพระนเรศวร” หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมทั้งขุนศึกอีกหลายท่านที่ได้ใช้มวยไทยเป็นอาวุธในการต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองมาแต่โบราณ เช่น เจ้าพระยาพิชัยดาบหัก
ดังนั้น เมื่อได้รับเชิญให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการในงานเขียนและค้นคว้าทางวิชาการเรื่อง “แกะรอยมวยไทย” ซึ่งเป็นผลงานของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ตลอดจนสำนักทั้ง 5 ของมวยไทย ไม่ว่าจะเป็นมวยไทยโคราช มวยไทยท่าเสา มวยไทยลพบุรี มวยไทยไชยา และมวยไทยพระนคร
ความจริงงานนี้ไม่ใช่งานธรรมดา แต่เมื่อ ดร.ณัฐวุธบอกว่าผมเป็นคนเก่ง คือเป็นทั้งนักเขียน เคยผ่านงานบรรณาธิการมากมาย ทั้งยังเคยเป็นทหาร เป็นนักมวยอาชีพในช่วงสั้นๆ จึงเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือแกะรอยมวยไทย และยังมีโครงการต่อเนื่องที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่สู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่เป็นประโยชน์กับศิลปวัฒนธรรมของชาติ ผมจึงตกลงเข้าร่วมในงานนี้
เมื่อเริ่มรับงานในฐานะบรรณาธิการ ผมจึงต้องทำหน้าที่นี้ตั้งแต่เริ่มต้น และได้ให้แนวคิดว่าการทำงานของทุกๆฝ่ายรวมทั้งผู้เขียนต้นฉบับจำเป็นที่จะต้องมีหลักยึดและแนวคิดทฤษฎีในการทำประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ จึงจะทำให้งานประวัติศาสตร์แกะรอยมวยไทยมีคุณค่าที่ครบสมบูรณ์ได้
ข้อแรก ผมแนะนำว่าการทำงานเช่นนี้มีความจำเป็นมากที่จะต้องใช้วิธีการต่อจิ๊กซอว์ งานเขียนจึงจะสามารถแกะรอยมวยไทยได้ หรือใช้คำพูดอีกอย่างว่าเป็นวิธีการที่เรียกว่า Time Matching ซึ่งเป็นวิธีการที่ Valerie Hansen ใช้ในการเขียนงานเรื่อง The Silk Road ทั้งนี้เพราะเรื่องราวที่เกี่ยวโยงและผ่านมานานจนร่องรอยหลักฐานหลายอย่างกลายเป็นสิ่งที่สืบค้นยาก จึงต้องใช้วิธีปะติดปะต่อเรื่องราวเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เอาสิ่งที่เลือนหายไปในอดีตกลับมาเล่าใหม่ วิธีนี้เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะสืบค้นในการแกะรอยมวยไทยให้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์
ทฤษฎีทางความคิดประวัติศาสตร์ต่อมา ผมเห็นว่าจำเป็นจะต้องยึดถือแนวคิดของ E.H. Carr ที่ถือว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไม่เหมือนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของความคิดและจินตนาการและข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์
นั่นคือบทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับข้อมูลของเขา ซึ่งแน่นอนว่าความคิดในงานเขียนประวัติศาสตร์เป็นความคิดของผู้เขียนที่จะต้องรับผิดชอบผลงานของตัวเอง และอาจหนีไม่พ้นที่จะมีลักษณะเข้าข้างหรือเป็นชาตินิยมอยู่บ้าง คือมีการคลั่งไคล้ใหลหลง บางครั้งอาจมีความจงรักภักดี มีอคติหรือภยาคติปนอยู่ในงานเขียนประวัติศาสตร์ด้วยเป็นธรรมดา จนบางครั้งเป็นลักษณะของวาทกรรมหรือวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
ผมเชื่อว่านักประวัติศาสตร์ทุกคนย่อมมีอุดมคติของตนเอง อย่าง ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ถูกยอมรับในสังคมวิชาการนานาชาติ เคยกล่าวว่า “นักประวัติศาสตร์ทุกคนมีความปรารถนาหรือเขียนสิ่งที่เรียกว่า A good story ออกมา”
ผลงานแกะรอยมวยไทยเล่มนี้ ผมเข้าใจว่าก็จะเป็นไปเช่นนั้น นี่เป็นเพียงบทเริ่มต้นเท่านั้น แรงดลใจหรือแนวคิดที่จะทำผลงานเล่มนี้ออกมายังมีอีก คงต้องไว้อ่านต่อฉบับหน้าล่ะครับ
You must be logged in to post a comment Login