วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ความรุนแรงทางศีลธรรม / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On December 12, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

บทความของ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” ในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา เรื่อง การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรมและความรุนแรง : จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน” อธิบายว่า การลดทอนความเป็นมนุษย์มีส่วนสำคัญมากในการสร้างความชอบธรรมให้กับการก่อความรุนแรงทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้กลายเป็นความชอบธรรมทางศีลธรรม และมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด

การลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanisation) เป็นกระบวนการอันหนึ่งที่ปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์คนอื่นว่าไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องปฏิบัติต่อกลุ่มนั้นอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ด้วยกัน โดยมากแล้วกระบวนการนี้จะมาจากการตั้งมาตรฐานทางค่านิยมและสถาบันขึ้น และถือว่ามาตรฐานนั้นคือความดีงามสูงสุด เป็นศีลธรรมที่ไม่อาจละเมิดได้

ดังนั้น ถ้าหากเห็นว่าใครก็ตามคือผู้ละเมิดมาตรฐานนั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อความดีงามของสังคม คนเหล่านั้นคือคนชั่วที่พ้นจากมาตรฐานความเป็นมนุษย์และต้องทำลายล้างไป และการทำลายล้างนั้นถือว่าถูกต้องชอบธรรมตามหลักศีลธรรม การก่ออาชญากรรมในนามของความดีงามจึงไม่ถือเป็นความผิด

ประจักษ์ได้เริ่มต้นจากคำสัมภาษณ์ของพระกิตติวุฑโฒ ซึ่งนำมาสู่คำขวัญว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในนิตยสารจัตุรัส เมื่อเดือนมิถุนายน 2519 โดยประเด็นสำคัญคือ การลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ผ่านคำอธิบายทางศีลธรรม ทำให้สอดคล้องกับพุทธศาสนา โดยกล่าวว่า เมื่อสังคมไทยมีความจำเป็นต้องปกป้องพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ก็สามารถใช้ความรุนแรงในการกำจัด “มาร” คือคอมมิวนิสต์ และการใช้ความรุนแรงเป็นการกระทำความดีเหมือน “ฆ่าปลาแกงถวายพระ” แม้ว่าจะมีบาปแต่บุญที่ได้รับมีมากกว่า

ในกระบวนการเดียวกันในช่วงก่อน 6 ตุลา กลุ่มชนชั้นนำไทยได้เคลื่อนไหวสร้างความคิดลดทอนความเป็นมนุษย์ของขบวนการนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ว่าเป็นพวกหนักแผ่นดิน มารศาสนา ปิศาจยักษ์มาร ไม่ใช่คนไทย เป็นสมุนคอมมิวนิสต์ ทาสต่างชาติ ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวาทกรรมใส่ร้ายอื่นๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าฝ่ายนักศึกษากำลังเป็นภัยคุกคามต่อศูนย์กลางของความเป็นไทย การใช้ความรุนแรงในการจัดการขบวนการนักศึกษาจึงถูกต้อง การสร้างกระแสนี้นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในกรณี 6 ตุลา

ตัวอย่างต่อมาคือ ความรุนแรงในกรณีของ กปปส. ซึ่งมีการนิยามว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนดี เป็นการต่อสู้ระหว่างมวลมหาประชาชนที่เป็นคนเมืองที่มีความรู้กับฝ่ายชาวบ้านที่โง่เขลาของนักการเมืองและพวกสนับสนุน ที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนไหวของฝ่าย กปปส. ไม่เคยปฏิเสธที่จะใช้ความรุนแรง “อหิงสา” ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อ้างกลายเป็นถ้อยคำอันว่างเปล่า ดังนั้น ยุทธวิธีของฝ่าย กปปส. หลายครั้งจึงเป็นความรุนแรงและสร้างสภาวะอนาธิปไตย เพราะเห็นว่าในการสู้กับฝ่ายทรราชรัฐสภา การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่จำเป็น การยึดสถานที่ราชการ ล้มการเลือกตั้ง และปิดกรุงเทพฯ เป็นกระบวนการที่มุ่งสร้างภาวะอนาธิปไตย

ส่วนการตั้งกองกำลังของกลุ่มนักศึกษารามคำแหงที่นำโดยอุทัย ยอดมณี หรือกองกำลังพระพุทธะอิสระที่ถนนแจ้งวัฒนะ ก็มีการใช้ความรุนแรงอย่างเปิดเผย และในท่ามกลางการต่อสู้ของฝ่าย กปปส. มีการสร้างวาทกรรมลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่พวกเขาเห็นว่าเป็นศัตรูตลอดเวลา โดยสร้างภาพให้เป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมะและอธรรม ฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคนเสื้อแดงเป็น “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ปลูกฝังความคิดนี้แม้กระทั่งยุวชน เช่น น้องแป้งอายุ 5 ขวบ ถูกผลักดันให้ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพวก “ควายแดง” ว่าไม่จงรักภักดี เพื่อจะตอกย้ำว่าการต่อสู้ของพวกเขาชอบธรรม

ประจักษ์เห็นว่า ฝ่าย กปปส. ได้แปรเปลี่ยนการต่อสู้ทางการเมืองให้เป็นเรื่องศีลธรรม ซึ่งไม่อาจประนีประนอมได้ เช่นเดียวกับการกระทำของพระกิตติวุฒโฑเมื่อ พ.ศ. 2519 อัตลักษณ์ของคนดีจึงไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ แต่อยู่บนการกดความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ดังนั้น ชุดภาษาของ กปปส. จึงต้องสร้างขั้วตรงข้ามและระบายสีให้ฝ่ายตรงข้ามเป็น “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” เป็นฝ่ายอธรรมสมบูรณ์แบบ นี่จะเป็นการขับเน้นผู้ชุมนุม กปปส. ให้สูงขึ้น

ประจักษ์อธิบายว่า แม้ว่าจะเกิดความรุนแรงกับผู้ชุมนุม กปสส. ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรุนแรงที่เกิดกับผู้ชุมนุม กปปส. เท่านั้น จึงมีการจัดรำลึกและทวงความยุติธรรม เมื่อความรุนแรงเกิดกับฝ่ายที่ถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเยาะเย้ยถากถางสะใจ ตัวอย่างเรื่องมือปืนป๊อปคอร์น ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธโจมตีกลุ่มที่เข้าใจว่าเป็นฝ่ายคนเสื้อแดง แต่เหยื่อคือผู้บริสุทธิ์ชื่อ นายอะแกว แซ่ลิ้ว ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสและต่อมาก็เสียชีวิต แต่มือปืนป๊อปคอร์นกลับได้รับการยกย่องเป็นฮีโร่ การทำร้ายผู้บริสุทธิ์ถูกกล่าวถึงด้วยความสะใจ ไม่มีใครในฝ่าย กปปส. ที่เห็นว่าอาชญากรรมของมือปืนป๊อปคอร์นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเป็นการปกป้อง “คนดี” ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อที่เชื่อกันว่าเป็น “ควายแดง” ถูกกล่าวหาว่าต้องรับผิดชอบ ท้ายสุดป๊อปคอร์นถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับการชุมนุม

ประจักษ์อธิบายตัวอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องชี้ว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะภาวะไร้ศีลธรรม แต่กลายเป็นว่าเงื่อนไขทางศีลธรรมนั่นเองที่ผลักดันให้มนุษย์ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น เพราะกระบวนการมองโลกแบบขาวกับดำ ธรรมะกับอธรรม ฝ่ายชนชั้นนำกระแสหลักจึงเป็นฝ่ายดีโดยสมบูรณ์ ฝ่ายทักษิณ คนเสื้อแดง เป็นฝ่ายคนชั่วโดยสมบูรณ์ ดังนั้น การที่คนเสื้อแดงจะถูกสังหารหมู่กลางเมืองหลวงนับร้อยคนเมื่อ พ.ศ. 2553 จึงเป็นเรื่องที่ปราศจากความหมาย วาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นว่าคนเหล่านี้ “เผาบ้านเผาเมือง” ก็เพียงพอสำหรับความชอบธรรมในการเข่นฆ่าหรือนำเอาคนเหล่านี้มาติดคุก ทั้งที่คิดในทางเหตุผลแล้ว ต่อให้คนเหล่านี้ “เผาบ้านเผาเมือง” จริง การสังหารหมู่ก็มิได้มีความชอบธรรมแม้แต่น้อย แต่ถ้าคนเหล่านี้ถูกลดคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ กลายเป็น “ผู้ไม่ภักดี” เป็น “ขี้ข้าทักษิณ” เป็น “ควายแดง” เป็น “เสี้ยนหนามแผ่นดิน” ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรม การเข่นฆ่าสังหารก็เป็นไปเพื่อรักษาความสงบของสังคมและกลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

บทสรุปเรื่องนี้เป็นการชี้ว่า เมื่อการก่ออาชญากรรมกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมในทางศีลธรรม สังคมไทยก็เป็นสังคมที่น่ากลัวมาก


You must be logged in to post a comment Login