วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

กบฏบวรเดช/ โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On November 1, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เดือนตุลาคมมีการโพสต์ภาพการย้าย “อนุสาวรีย์หลักสี่” อีกครั้ง ซึ่งเคยเป็นอนุสาวรีย์สำคัญหลังการปฏิวัติ 2475 แต่ปัจจุบันเสื่อมความสำคัญลง อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสงครามกลางเมืองครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยที่เรียกว่า “กบฏคณะกู้บ้านกู้เมือง” หรือ “กบฏบวรเดช” ซึ่งเกิดขึ้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ถือเป็นการประลองกำลังครั้งใหญ่ระหว่างคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยกับคณะเจ้าหรือฝ่ายนิยมเจ้าที่มุ่งหวังให้ย้อนกลับสู่ยุคกษัตริย์มีพระราชอำนาจสมบูรณ์

พอดีหนังสือเล่มใหม่ของ “ณัฐพล ใจจริง” ชื่อว่า “เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 กบฏบวรเดช” พิมพ์เผยแพร่ จึงเป็นโอกาสดีในการนำเหตุการณ์นี้มาสู่การพิจารณาอีกครั้ง

กบฏบวรเดชเป็นผลโดยตรงจากการปฏิวัติของคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำประเทศสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นที่ทราบดีว่ามีกลุ่มขุนนาง ข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายระบอบเก่านับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา

เหตุการณ์รัฐประหารครั้งแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเพื่อยุติการใช้รัฐธรรมนูญและปิดสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุดฝ่ายพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎร ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เพื่อกลับมาใช้รัฐธรรมนูญและประชุมรัฐสภาตามเดิม แต่เหตุการณ์ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจให้กลุ่มนิยมเจ้า จึงคบคิดและตระเตรียมกำลังตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งเดือนตุลาคมจึงลงมือกระทำการ

วันที่ 9 ตุลาคม คณะทหารที่เตรียมการก่อการกบฏประชุมกันที่เมืองนครราชสีมา ตั้งเป็นคณะกู้บ้านกู้เมือง เลือกพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า และ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นแม่ทัพหน้ากู้บ้านเมือง ข้ออ้างในการก่อการคือ คณะรัฐบาลกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กลับมามีบทบาทในบ้านเมือง และปล่อยให้นายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ประกอบด้วยหน่วยทหารนครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา เคลื่อนกำลังเข้าประชิดพระนครวันที่ 11 ตุลาคม โดยยึดกรมอากาศยานดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ หวังจะประสานกับหน่วยทหารเพชรบุรีและทหารในพระนครเพื่อให้รัฐบาลคณะราษฎรยอมแพ้ แต่ปรากฏว่าแผนไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย เพราะรัฐบาลคณะราษฎรตัดสินใจต่อสู้ ยิ่งกว่านั้นทหารในพระนครกลับร่วมกับฝ่ายรัฐบาลในการปราบปราม มีการสู้รบจนถึงวันที่ 16 ตุลาคม ฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองไม่ได้กำลังเสริม เพราะทหารเพชรบุรีที่ร่วมก่อการถูกหน่วยทหารราชบุรีตรึงกำลังไว้ ทหารจากนครสวรรค์และพิษณุโลกก็ถูกขัดขวางจากหน่วยทหารลพบุรีและหน่วยทหารปราจีนบุรี พระองค์เจ้าบวรเดชจึงสั่งให้ถอนกำลังกลับนครราชสีมา โดยมีคำอธิบายว่ามีพระราชหัตถเลขาจากรัชกาลที่ 7 ขอให้ “ถอนทหารออกไปจากแหล่งที่ปฏิบัติการ”

การถอนทหารนำมาสู่ความพ่ายแพ้ เพราะทหารฝ่ายรัฐบาลได้โอกาสรุกไล่ การรบครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่หินลับในวันที่ 23 ตุลาคม พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงครามเสียชีวิตในการสู้รบ พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาขึ้นเครื่องบินไปยังเมืองไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายทหารฝ่ายกบฏจำนวนหนึ่งก็หนีออกนอกประเทศไปยังอินโดจีนฝรั่งเศส คณะกู้บ้านกู้เมืองจึงประสบความพ่ายแพ้

ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต 17 คน ซึ่งมีการจัดงานรัฐพิธีที่ท้องสนามหลวงและสร้างอนุสาวรีย์จารึกชื่อของวีรชนเหล่านี้ที่หลักสี่เรียกว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่มีพานรัฐธรรมนูญเป็นแห่งแรก สำหรับนายทหารฝ่ายที่ร่วมการกบฏถูกจับกุมกว่า 600 คน รัฐบาลได้ตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีและตัดสินลงโทษ 230 คน ถูกปลดจากราชการ 117 คน ในจำนวนนี้ถูกลงโทษประหารชีวิต 5 คน ต่อมาได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต

ความสำคัญของหนังสือ “กบฏบวรเดช” ของณัฐพล ใจจริง ได้เล่าเรื่องว่า ประชาชนจำนวนมากมีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ โดยแสดงการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล มีการตั้งพลเมืองอาสาสมัครปราบกบฏ และบริจาคเงิน อาหาร และวัสดุอุปกรณ์จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลในการรักษาระบอบใหม่ โรงพิมพ์หลายแห่งช่วยพิมพ์คำแถลงฝ่ายรัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่มีจิตใจสนับสนุนฝ่ายกบฏ หลักฐานเหล่านี้เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนไทยสมัยนั้นไม่ได้นิ่งเฉย

บทเรียนสำคัญสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้าจากกรณีกบฏบวรเดชอาจเป็นความพยายามในการใช้กำลังทหารโค่นล้มระบอบใหม่และรื้อฟื้นระบอบเก่า แต่กลับสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับฝ่ายนิยมเจ้าเอง และเปิดทางให้ฝ่ายคณะราษฎรบริหารประเทศโดยสะดวกตามหลักนโยบายของตนไปอีก 15 ปี ฝ่ายอนุรักษ์นิยมยุคหลัง พ.ศ. 2490 จึงใช้วิธีต่อสู้ทางความคิด ครอบงำการศึกษา และใช้เวลาระยะยาวในการดำเนินการให้สังคมไทยเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมที่มีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย ต่อต้านสิทธิมนุษยชน และความเป็นนิติรัฐ

อนุรักษ์นิยมยุคใหม่ประสบความสำเร็จมากกว่า ส่งผลให้เกิดขบวนการประชาชนฝ่ายขวารักษาอำนาจกระแสหลัก และทำให้กองทัพกลายเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจกระแสหลัก ไม่มีลักษณะเป็นกองทัพพิทักษ์ประชาธิปไตยเช่นเมื่อ พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ


You must be logged in to post a comment Login