วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วิถีชีวิตมนุษย์ / โดย คุณพ่อประยูร พงษ์พิศ

On October 10, 2016

คอลัมน์ : แสงธรรม
ผู้เขียน : คุณพ่อประยูร พงษ์พิศ

วิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันทุกวันนี้ถูกกระทบ แตกแยก และล่มสลายไปไม่น้อย จึงจำเป็นที่จะต้องทบทวน หวนคิด และไตร่ตรอง เพื่อทำให้เกิดความรอบคอบชอบธรรมในการ ดำเนินวิถีชีวิตประจำวันด้วยความไม่ประมาท

วิถีชีวิตมนุษย์ตามธรรมชาติของความเป็นพ่อ-แม่-ลูก มีสายเลือดผูกพันในกันและกันไปชั่วชีวิต นั่นเป็นประการแรก

วิถีชีวิตมนุษย์ตามความเชื่อศรัทธา และศีลธรรมกำกับในศาสนาที่ตนนับถือ เป็นสายสัมพันธ์ที่ยึดเหนี่ยวทางใจร่วมกัน นั่นเป็นประการที่สอง

ส่วนวิถีชีวิตมนุษย์ตามสายใยรักเมตตาที่เป็นรูปธรรมในภาคปฏิบัติที่พึงมีต่อสรณะ ที่พึ่งทางใจและต่อสาธารณชนทั่วไปที่ถือเป็นพี่น้องเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกและร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันนั้น ก็เป็นสายใย รักใคร่ไมตรีที่พึงมีต่อกัน และเชื่อมโยงกันฉันพี่น้องเป็นภราดรภาพ สากล นั่นเป็นประการที่สาม

หากเราดำเนินตามวิถีชีวิตด้วยสายเลือด สายสัมพันธ์ทางความเชื่อศรัทธา และสายใยรักเมตตาทั้งสามนี้ อย่างสอดคล้องกลมกลืน สมดุลสม่ำเสมอ และสนับสนุนส่งเสริมกันไป ก็ย่อมเสริมสร้างชีวิตของเราโดยส่วนตัว ครอบครัว และสังคมให้สมบูรณ์เป็นทวีคูณยิ่งขึ้นในความร่มเย็นเป็นสุขที่พึงมีพึงเป็นร่วมกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น จึงสมควรที่จะเรียกว่าวิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันด้วยความรักฉันพ่อ-แม่-ลูก ฉันพี่น้องเพื่อนมนุษย์ อันจะเชื่อมโยงไปสู่ความรักตราบนิรันดร์กาลกับพระเจ้าและชาวสวรรค์ทั้งหลายด้วย วิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปลูกฝังและบำรุงหล่อเลี้ยงภายในจิตใจในชีวิตประจำวันของเราให้เป็นกิจจะลักษณะที่บอกบ่งโดยพฤตินัย เป็นที่ปรากฏออกมาอย่างประจักษ์ชัดแจ้ง ทั้งด้วยวิสัยและวินัย จนกลายเป็นนิสัยติดตัว

สำหรับสิ่งภายนอกไม่ว่าส่วนประกอบหรือส่วนที่จำเป็นด้วยปัจจัยสี่ ล้วนแต่ใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยเอื้ออำนวยคุณประโยชน์ต่อวิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนี้ทั้งนั้น เพราะเหตุนี้การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังจึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักด้วยจิตสำนึกถึงสายเลือด สายสัมพันธ์ทางความเชื่อศรัทธา และสายใยรักเมตตาดังกล่าวอย่างไม่ต้องละเว้น

น่าเสียดายที่สมัยนี้มักหลงลืมที่จะใช้วิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันในลักษณะนี้ จึงทำให้พ่อ-แม่-ลูกต้องห่างกัน คนไปวัดน้อยลง หรือทิ้งวัดไปเลย และที่สุดของที่สุดก็มักจะสะดุดที่ตัวเอง คือไม่เห็นแก่พระ ไม่เห็นแก่กัน ทิ้งครอบครัว ทิ้งวัดวาศาสนา และสมาชิกในสังคม รวมทั้งในพระศาสนจักรด้วย กลับไปจมปลักกับความรักที่เห็นแก่ตัว อันเป็นสาเหตุที่จะก่อให้เกิดบาปหรือกิเลส ตัณหา อุปาทาน

ในทรรศนะของพี่น้องชาวคริสต์-ชาวพุทธที่พึงมาเสวนาหาทางออกร่วมกัน เพื่อฝ่าทางตัน หาทางออก จนกว่าจะบรรลุถึงทางรอด ซึ่งต้องเริ่มต้นดำเนินวิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ด้วยกันอย่างมีคุณค่า คุณภาพ และคุณธรรม บนโลกนี้ แบบก้าวไปด้วยกันและรอดด้วยกันในโลกหน้า


You must be logged in to post a comment Login