วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

การค้ายุคสื่อออนไลน์ / โดย ณ สันมหาพล

On May 1, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

วงการค้าและธุรกิจมีการใช้สื่อออนไลน์เพื่อส่งเสริมการขายอย่างคึกคักในขณะนี้ทั้งทางโทรศัพท์และเว็บไซต์ที่มีการค้นหา ส่งข้อมูล และสนทนา จนสื่อดั้งเดิมทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ กลายเป็นเรื่องล่าช้า สื่อออนไลน์มีการบริหารจัดการแบบหลากหลายที่เรียกว่า omnichannel management หรือการบริหารการสื่อหลากหลายช่อง

อย่างทีมอเมริกันฟุตบอลนิวยอร์ก เจ็ตส์ ซึ่งเพิ่มความสนุกสนานให้กับแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น โดย เจ้าของทีมจะเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการบริหารจัดการดังกล่าว โดยตลอดเวลาจะคอยดูข้อมูลทุกด้านเกี่ยวกับทีม ตั้งแต่หุ้นส่วนและเจ้าหน้าที่บริหาร จนถึงพนักงาน ครูฝึก ผู้เล่น และคนดู ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมาจากทุกสื่อ รวมทั้งจากเว็บไซต์สนทนาและการส่งภาพ แล้วศูนย์บัญชาการจะประมวลผลและเผยแพร่ข้อมูลไปทุกช่องทาง

ที่สำคัญคือ โทรศัพท์มือถือของบรรดาแฟนคลับจะใช้แอพฯของทีมเพื่อจะได้รู้ถึงความเคลื่อนไหวทุกด้านของทีม รวมทั้งการสั่งซื้อสินค้า เมื่อถึงวันสำคัญคือวันแข่งที่เป็นการแข่งแบบเหย้าก็จะมีการเตรียมการเป็นอย่างดี โดยเจ้าหน้าที่และพนักงานประจำศูนย์บัญชาการจะดูความเคลื่อนไหวของแฟนคลับตั้งแต่ออกจากบ้านจนไปถึงสนาม เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางไม่ว่ารูปแบบไหนก็จะไม่มีปัญหา คนที่เดินทางด้วยรถยนต์จะมีที่จอดรถกำหนดไว้ให้ แม้จะมีจำนวนหลายพันคันก็สามารถให้ทุกคันเคลื่อนเข้าไปในลานจอดรถในเวลาที่กำหนดไว้ได้

ทั้งหมดอยู่ที่การจัดการของพนักงานว่ารถคันไหนควรไปทางไหนเพื่อให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ แต่งานของศูนย์บัญชาการยังไม่หมดเท่านั้น เพราะต้องติดตามเรื่องการซื้อบัตรเข้าชม การเข้าห้องสุขา จนถึงการหาที่นั่งดูการแข่งขัน ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งตรงถึงแฟนคลับผ่านแอพฯ เช่น จะซื้อบัตรช่องไหน ห้องสุขาอยู่บริเวณใด จะแวะซื้อของกินหรือนั่งกินตรงไหนก็จะมีการแนะนำให้ นอกจากนี้จะคอยสอดส่องถึงปริมาณอาหารของแต่ละร้าน เพื่อให้ทางร้านเตรียมอาหารให้เพียงพอกับความต้องการอีกด้วย

ยังไม่หมดแค่นั้น ระหว่างนั่งดูการแข่งขันแฟนคลับยังสามารถใช้แอพฯฟังผู้บรรยายการเล่นที่เป็นผู้บรรยายคนโปรด หรือสามารถพูดคุยกับเพื่อนแฟนคลับด้วยกันแบบทันเหตุการณ์ ซึ่งโทรศัพท์มือถือจะมีแผงข้อมูลการแข่งขันที่ศูนย์บัญชาการส่งไปให้ เป็นข้อมูลที่เคลื่อนไหวตามเวลาการแข่งขันในสนาม

เห็นความเป็นเลิศในการให้บริการดิจิตอลของทีมนิวยอร์ก เจ็ตส์ แล้ว หากคิดว่าการใช้สื่อหลากหลายช่องเช่นนี้จะแพร่หลายในไม่ช้าก็คิดผิด เพราะที่ผ่านมายังมีการใช้น้อยมาก เนื่องจากมีปัญหาใหญ่คือการลงทุนที่ต้องใช้เงินมากและคนที่มีความรู้ไม่น้อยมาทำงาน ทั้งยังมีความกังวลเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ เช่น การแยกฝ่ายการตลาดและจำหน่ายออกให้ชัดเจนตามสื่อแต่ละสำนัก ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และไลน์ หลังจากนั้นยังต้องคิดวิธีบริหารจัดการผ่านสื่อนั้นๆ รวมทั้งการประเมินผลและวัดผล ซึ่งเป็นความรู้ใหม่

คำถามว่าทำไมนิวยอร์ก เจ็ตส์ จึงลงทุน คำตอบก็คือ เจ้าของนอกจากเป็นมหาเศรษฐีแล้วยังเป็นคนที่ทันสมัย เป็นนักธุรกิจกลุ่มใหม่ที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างแท้จริง เนื่องจากนับวันผู้บริโภคจะไม่ให้ความสนใจผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้า เพราะมีทางเลือกมากขึ้นและหลายช่องทาง ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายทางออนไลน์มีให้เลือกนับไม่ถ้วนและแทรกตัวไปทุกที่

ทางเลือกของผู้บริโภคจึงหลากหลายและสะดวก โดยเฉพาะที่นิยมมากที่สุดคือร้านค้าออนไลน์ จึงต้องทำให้ผู้ซื้อที่ใช้สัญลักษณ์รถเข็นไม่ยกเลิก อย่างรถเข็น 10 คัน จะมีการยกเลิกในช่องจ่ายเงินมากถึง 7 คัน เนื่องจากเปลี่ยนใจกะทันหัน

การได้พูดคุยกับผู้บริโภคหรือการเห็นภาพและข้อความเกี่ยวกับสินค้าที่จะซื้อปรากฏบนจอภาพจะทำให้ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มีความมั่นใจในช่วงเวลานั้น

ดังนั้น หากเจ้าของและผู้จำหน่ายสินค้ารายใดไม่สามารถดึงให้ผู้บริโภคมั่นใจ ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะมีปัญหาการขายจนถึงขั้นอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าความสำเร็จของนิวยอร์ก เจ็ตส์ คือการคืนทุนให้กับผู้บริโภคด้วยการให้ความรู้แก่ผู้สนใจ ซึ่งในอนาคตการซื้อขายทางออนไลน์จะมีการใช้ประสบการณ์ต่างๆเพิ่มมากขึ้น เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งผู้ที่คิดจะทำธุรกิจออนไลน์ต้องรู้


You must be logged in to post a comment Login