วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่ / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On February 27, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

อาจารย์โคทมให้ภาพโดยรวมสถานการณ์ขณะนี้ว่า รู้สึกวนๆยังไงชอบกล ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป แล้วยังมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติกับการปรองดองอีก ร่างยุทธศาสตร์ชาติที่เผยแพร่ก็ดูจะล้ำเส้นรัฐธรรมนูญ ต้องรอรัฐธรรมนูญออกมาก่อนจึงจะทำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็บอกชัดเจนว่าปฏิรูปเพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงครบถ้วน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ทำออกมาผิดจังหวะ แต่เขาเอามาใส่ไว้ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดว่ารัฐบาลต่อไปนี้ 20 ปีจะเสนอนโยบายอะไรต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ยึดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในการแถลงนโยบาย ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็คล้ายๆกัน แต่แนวนโยบายแห่งรัฐก็ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ แถมยังเพิ่มหน้าที่ของรัฐขึ้นมาอีก ถ้าใครไม่ทำตามหน้าที่ของรัฐก็มีความผิด ผมสงสัยว่าจะเอาอันไหนกันแน่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็คงไม่รู้ว่าจะเอาตามสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือ ป.ย.ป. หรือเอาตามรัฐธรรมนูญ มันวนๆยังไงชอบกล

ส่วนเรื่องปรองดองก็เริ่มมาหลายรัฐบาลแล้ว สปช. ก็มีอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการปรองดอง ส่วน สปท. ก็มีคณะกรรมาธิการ ล่าสุด ป.ย.ป. มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ดูไปดูมาคล้ายกับว่า คสช. ฝากโจทย์ให้ สปช. ทำ ให้ สปท. ทำ ซึ่งก็เริ่มดีขึ้น แต่ทีมงานของ คสช. คงบอกไม่ไหวเลยเกิด ป.ย.ป. ขึ้นมาหรือเปล่า มันก็วนๆอย่างที่พูดไว้

ในมุมมองของผมเรื่องการสร้างความปรองดองของ คสช. นั้น ผมมีความเชื่ออยู่ 3 องค์ประกอบคือ 1.ต้องต่อรองเรื่องในอดีตแล้วก็เยียวยา ซึ่งต้องเอาเรื่องที่ขุ่นข้องหมองใจ เรื่องที่ค้างคาใจ เรื่องที่อยู่ในอารมณ์ เรื่องที่ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกต่อสังคมมาต่อรองกัน เล่าเรื่องในอดีตว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ให้อีกฝ่ายฟัง อธิบายกันไปอธิบายกันมา เมื่อรับฟังกันก็จะมีเหตุมีผล

บางคนบอกต้องค้นหาความจริงให้พบ ซึ่งความจริงอาจมีหลายฉบับ ฉบับวณิพก ฉบับพิสดาร ฉบับมั่งมีศรีสุข ถ้าพอจะรู้ว่าใครเป็นเหยื่อ ผู้เสียหาย เช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่มาวันหนึ่งรถยนต์ถูกทุบ ไม่รู้ว่าผู้ชุมนุมมุ่งทำร้ายให้ได้รับอันตรายหรือเปล่า ใครที่ทำก็มาบอกว่าอารมณ์พาไปหรือทำไปทำไม ถ้าทำด้วยอารมณ์แล้วก็ขอโทษ ถ้าคุณอภิสิทธิ์ฟังเรื่องราวแล้วมีเหตุพอที่จะให้อภัย อันนี้ถึงจะเกิดการคืนดีและปรองดอง

ปรองดองอีกมิติหนึ่งคือมิติปัจจุบัน หมายถึงเสรีในการแสดงออก การเคารพ การให้การยอมรับซึ่งกันและกัน ถ้าเราลดเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบันห้ามชุมนุม ห้ามโน่นห้ามนี่ บรรยากาศแบบนี้ยากที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้

ประเด็นที่ 3 ต่อรองอดีตแล้วเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะทำให้มีกำลังใจที่จะเดินไปข้างหน้า หรืออาจจะมีกติกาบางอย่างที่ได้จากการถกแถลง จากการสานเสวนากันเป็นร้อยเป็นพันครั้ง โดยให้ผู้เกี่ยวข้องคุยกันก่อนจะมาคุยให้กรรมการฟัง ไม่ใช่ทำข้อสอบให้ยื่นมาซิ ฉันให้โจทย์แล้วเธอไปตอบมา แล้วฉันจะไปดูไปวิเคราะห์วิจัยอีกที

บรรยากาศต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่ห้ามเถียงกัน เราจะเน้นการปรองดองเรื่องอะไร จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดการรวมศูนย์อำนาจ ต้องแยกการปรองดองจากการปฏิรูป ไม่งั้นจะปฏิรูปอะไรก็บอกว่าเป็นไปเพื่อการปรองดองทั้งสิ้น ก็จะวนไปวนมา

ดังนั้น เราต้องจำกัดขอบเขตเรื่องที่จะคุยกันเพื่อปรองดอง ผมขอย้ำว่าต้องต่อรองอดีต เยียวยาผู้เสียหาย เปิดกว้างปัจจุบัน อย่าตั้งเงื่อนไขที่จะพูดอนาคต เอาเฉพาะหลักการใหญ่ๆ วิสัยทัศน์ สิ่งที่เราเห็นร่วมกันเชิงคุณค่า ทะเลาะกันอย่างมีมารยาท มีกติกา ก็แค่นี้ คือปัญหาหลักๆที่เป็นอุปสรรคเป็นขุนเขาอยู่ข้างหน้า อย่างบอกว่าต้องแก้ที่นักการเมือง นักการเมืองดีทุกอย่างก็จะดี อย่าไปบอกว่าทหารเลิกรัฐประหารสักทีมันถึงจะดี บางคนบอกข้าราชการแหละตัวดี บางคนบอกพ่อค้าให้สินบน อย่างนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไร มันก็วนอีกแบบหนึ่ง

ตัวละคร ตัวแสดง ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ขอบเขตที่เป็นเรื่องการเมือง ไม่ต้องพูดเรื่องเศรษฐกิจ สังคมมากนัก ถ้าจะพูดเรื่องเศรษฐกิจและสังคมก็อาจพูดได้ในระดับใหญ่ เช่น จะเอาทุนนิยมแบบพอเพียง แปลว่าอะไรต้องพูดให้ชัด เรื่องสังคมเรายังเป็นสังคมมีลำดับชั้น ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้มีสถานภาพสูงกับผู้มีสถานภาพต่ำ ผู้มีการศึกษากับผู้ด้อยการศึกษา ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกัน เคารพกันอย่างไร

การแข่งขันกันทางการเมืองเหมือนแข่งกีฬา ต้องมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไม่ใช่กินรวบ ชนะแล้วจะใช้อำนาจหนักเลย ลดการใช้เงินเพื่อให้ได้อำนาจก็ต้องพูดคุยกันถึงจะเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ การมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ถกแถลงที่ต่างกันได้ ไม่ขี้ฉ้อ ไม่ขี้ปด ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ใช่บอกทำได้หรือรับปากแล้วไม่ทำ

จริงๆต้องสร้างกระแสให้เกิดการลงโทษทางการเมือง นักการเมืองต้องดูแลกันเองมากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถทำให้คนในสังคมยอมรับได้ เหมือนสื่อก็ต้องดูแลกันเอง

คสช. ยอมรับแนวนี้ได้หรือไม่

ไม่หรอกครับ ผมก็พูดไปอย่างนั้น พูดไปกับสายลมและแสงแดด ให้ความเห็นปรากฏในสาธารณะบ้าง ส่วน คสช. จะทำอะไร ผมก็ได้แต่เอาใจช่วยเท่านั้น ไม่ได้หวังให้เขาฟังอะไรผม ความปรองดองจะสำเร็จในยุค คสช. หรือไม่ผมไม่ทราบ อย่าไปต่อว่าต่อขานมากนัก เชื่อว่าเขาทำด้วยความจริงใจ คสช. อาจทำสำเร็จก็ได้

การนิรโทษกรรมหรือรัฐบาลแห่งชาติ

ผมคิดว่าการนิรโทษกรรม พอพูดออกมาคนก็จะงงๆ ผมเห็นร่าง พ.ร.บ. ของ สนช. เหมือนจะชื่อว่าการอำนวยความยุติธรรมในกรณีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง เขาก็เขียนดีพอสมควร แต่ไม่ใช้คำว่านิรโทษกรรม ใช้ว่าถ้าลงโทษแล้วก็อาจจะพักโทษ หรืออยู่ในกระบวนการพิจารณาก็อาจจะพักคดี ถ้ายังไม่ถึงศาลก็อาจไม่ฟ้อง ในกรณีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองก็ไม่ต้องนิรโทษกรรมก็ได้ เป็นการยกโทษให้ทั้งนั้น ถ้าจะให้เขาสำนึกผิดบ้าง ทำอะไรชดเชยสังคมบ้าง ก็เดินไปข้างหน้าด้วยกัน อย่างที่ผมบอกคือ ต่อรองอดีตให้ได้

ส่วนเรื่องรัฐบาลแห่งชาติเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วอย่างประหลาดๆคือ ต้องเป็นรัฐบาลที่ฝ่าย คสช. เอาด้วยคือ ส.ว. 250 คนสนับสนุน จะเป็นแห่งชาติแบบไหนไม่รู้ หรือไม่ก็ต้องครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้ ซึ่งดูแล้วไม่มีทางเป็นไปได้ในระบบการเลือกตั้งที่เขาออกแบบไว้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นรัฐบาลผสมระหว่างพรรคที่มี ส.ส. มากกว่า 251 คน กับการสนับสนุนจาก ส.ว. 250 คน จะเรียกเป็นรัฐบาลแห่งชาติก็ได้ โดยทิ้งให้เป็นฝ่ายค้านไว้บ้าง แต่จะปรองดองหรือไม่ก็ต้องดูการปฏิบัติ ถ้าใช้อำนาจแบบรวบหัวรวบหางโดยไม่แคร์ใคร ถึงจะเป็นแห่งชาติก็ต้องดูว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร ทำให้เกิดการปรองดองได้หรือไม่

คสช. เป็นคู่ขัดแย้งจะสำเร็จหรือ

คสช. เขาเป็นคู่ขัดแย้งอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นไร ถ้าจะทำอะไรก็ปล่อยเขาไป เราอย่าไปขัดแย้งกับเขาเพิ่มขึ้นอีก ถ้าเขาจะลอยตัวอย่างเดียว คุณบอกว่าไม่เกี่ยวได้อย่างไรเมื่อที่เขาทำก็เป็นเรื่องการเมืองทั้งหมด ซึ่งเขาได้อำนาจทางการเมืองไปโดยอาศัยฐานอำนาจของข้าราชการก็แค่นั้นเอง

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต้องคลี่คลายไปบ้าง เราจะติดหล่มอยู่อย่างนี้ตลอดไปก็เหมือนเราจะแช่งตัวเอง ต้องอยู่ขึ้นกับคนรุ่นใหม่ๆ เจเนอเรชั่น X, Y, Z แต่ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจที่ว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็น 4.0 เป็นตัวขับเคลื่อน

การเลือกตั้งปลายปี 2560

เราคงได้แต่ดู ถ้า คสช. จะเร่งก็ทำทัน ถ้าเขาจะเลื่อนเขาก็มีเหตุผลมาอ้าง ทำไมผมจะต้องเหนื่อยไปทำนายด้วยล่ะ ถามเขาเขาก็บอกว่าทัน เขาให้สัญญาบ่อยๆ ประชาชนจะได้รู้ว่าถ้าเขาไม่ทำตามสัญญามันหมายความว่ายังไง ส่วนตัวผม จะเลื่อนการเลือกตั้งไปปี 2561 ยังพอฟังได้ แต่ถ้าจะเลื่อนไปถึงปี 2562 นั้นผมมองไม่เห็นเหตุผล ผมขอย้ำอีกครั้งว่าใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ส่วนประชาชนคงไม่ออกมา เพราะ คสช. เขาก็ระมัดระวังมาก เขาทำทุกอย่างได้อยู่แล้วเพราะมีอำนาจเต็มที่ ถ้ายังทำไม่ได้ก็คือทำไม่ได้นั่นแหละ อย่าไปโทษสิ่งอื่นใด

ผลงานของ คสช.

เขาได้อานิสงส์จากการใช้อำนาจ บางอย่างก็สำเร็จ แต่มีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์แค่ไหน เช่น บอกว่าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมั่งคั่ง อยากวางระบบเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและมั่นคง แต่ที่เห็นขณะนี้ก็มีความมั่นคงเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องดูความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางทรัพยากร ว่ามีผลสัมฤทธิ์ในแง่นี้หรือไม่ในระยะยาว ขณะนี้ยากที่จะประเมิน เขาจะทิ้งมรดกรัฐประหารไว้หรือไม่ ตอนนี้ผมก็ยังดูไม่ออกว่ายั่งยืนแบบประชาธิปไตยทำอะไรไปแล้วบ้าง คงต้องรอดูผล ป.ย.ป. คราวนี้ ประชาชนอยู่ดีกินดี มั่นคงและยั่งยืนยังไง เป็นประชาธิปไตยแล้วยังจะมีรัฐประหารอีกมั้ย ประชาชนจะออกมาต่อต้านมั้ย ถ้ากระบวนการยุติธรรม ศาลไม่ออกมาคาน ประชาสังคมไม่ออกมาคานมันก็ไม่ยั่งยืน

โอกาสเกิดรัฐประหารปี 2560

ผมไม่สนใจ ไม่ประเมิน ประเมินไม่เป็น ผมประเภทสายตาสั้น หากเกิดรัฐประหารซ้อนจริงจะเป็นการสืบทอดอำนาจของกองทัพหรือไม่ผมก็ไม่รู้ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขารัฐประหารซ้อนปี 2520 และดูเหมือนเป็นครั้งแรกที่วางโรดแม็พ 12 ปี เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หลังจากนั้นก็บวกไปอีกประมาณ 12 ปีถึงมีการเลือกตั้งปี 2532 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นมามีอำนาจ แต่ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สมัยนั้นก็รัฐประหาร เพราะเสียงคัดค้านมันอ่อน รากหญ้ายังคล้อยตามอำนาจนิยมง่าย ภาคประชาสังคมก็ไม่แข็งแรง เดี๋ยวนี้เขายิ่งไม่ชอบหน้าภาคประชาสังคม

เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีการปฏิรูปจริงจังเกี่ยวกับความคิดเรื่องเหล่านี้ในองค์กรที่สามารถรัฐประหารได้ ไม่สร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายตุลาการ แม้ผิดกฎหมาย เขาก็ลอยนวล ประชาธิปไตยก็ยั่งยืนยาก เพราะคนอยากมีอำนาจ ความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารในเมืองไทยจึงเกิดได้ตลอดเวลา แต่ในอนาคตคงดีขึ้นบ้าง เพราะหลายประเทศเช่นโปรตุเกสเคยมีรัฐประหารซ้อน หรือที่สเปน แต่เวลาเขาลงจากอำนาจก็วางรากฐานประชาธิปไตยไว้ วันนี้ทั้งสเปนและโปรตุเกสก็ก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร

ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ของเรา ถ้าไม่มีเงื่อนไขหรือปัจจัยเพียงพอมันก็เป็นแบบนี้แหละ ยังวนเวียนอยู่อย่างนี้ คือมโนสำนึกของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยมันยังไม่พอ เมื่อยังไม่พอก็ต้านไม่ไหว รัฐประหารก็ยังวนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ไม่ได้หมายว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป ผมคิดว่าในอนาคตจะต้องมีจุดที่เปลี่ยนได้ มีโอกาสเห็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน แต่ไม่รู้เมื่อไร เราจึงต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นต่อไป อย่างนักศึกษาปัจจุบันก็เป็นความหวัง ซึ่งคนรุ่นใหม่มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย มันจะก่อตัวไปเรื่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจ สะสมปัญญา สะสมจิตวิญญาณประชาธิปไตย แต่เราจะหวังพึ่งนักศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ ไม่ว่าคุณภาพการศึกษา ไม่ต้องเป็นนิสิตก็ได้ จบมัธยมฯ จบอาชีวะอะไรก็ได้ เราต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ที่จะวางอะไรที่มันยั่งยืน ไม่ใช่กอบกู้อะไรขึ้นๆลงๆอยู่อย่างนี้


You must be logged in to post a comment Login