วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ไม้หลักปักขี้เลน! / โดย พระพยอม กัลยาโณ

On September 23, 2016

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม
ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

ผลสำรวจโพลระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถติด เพราะการไม่มีวินัยและฝ่าฝืนกฎจราจร ทั้งยังสนับสนุนให้เพิ่มโทษกับผู้กระทำผิดมากขึ้น เพราะปัญหารถติดทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจและงบประมาณแผ่นดินมากมายแล้ว ยังทำให้เสียสุขภาพจิตอีกด้วย

คนส่วนใหญ่จึงสนับสนุนให้แก้ปัญหาด้วยความเฉียบขาด เพราะถ้ายังแก้กันอย่างที่ผ่านมาก็แก้ไม่ได้ จึงต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาด ใช้ยาแรง เพราะการจราจรในกรุงเทพฯอาการหนัก รถติดมากที่สุดในโลกไปแล้ว

แก้ได้ก็จะทำให้ประเทศไทยพอจะมีหน้ามีตาขึ้นมาได้บ้างว่า ไม่ว่าจะเลวร้ายยังไงเราก็แก้ไขได้ อยู่ที่ว่าจะทำกันอย่างจริงจังหรือไม่เท่านั้น

เหมือนการทุจริตคอร์รัปชัน บอกกันว่าประเทศไทยจะเหลืองบประมาณไปพัฒนาบ้านเมืองได้อีกมากมาย หากแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้ แก้ปัญหาจราจรได้

ลองทำเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องโกงให้ทันสิ้นซาก อย่างเรื่องความเสียหายการขายข้าวที่มีข่าวกระทรวงพาณิชย์ ท่านปลัดกระทรวง ท่านรัฐมนตรี โยกโย้กันไปมากว่าจะยอมเซ็น ก็ต้องมองด้วยว่าทำอะไรมันก็ต้องไม่ผิดหลักเกณฑ์ ผิดกติกา มันต้องทำให้เป็นขั้นตอนที่ถูกต้องและรอบคอบด้วย ไม่ใช่ให้เซ็นอะไรก็เซ็นปั๊บถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นล่ะ

อย่างกรณีเขาพระวิหาร คุณนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านแย่ไปเลย คนเชียร์ คนเร่งเร้าก็ยุ คนที่อยากให้อีกฝ่ายเสียหาย เสียแต้มก็เร่งจัดการ บอกว่าถ้าไม่จัดการหรือทำแค่นี้ไม่ได้ก็ลาออกไปซะ

การเป็นข้าราชการนี่ก็ลำบาก ถ้าทำอะไรลงไปแล้วเกิดปัญหาในภายหลังก็ยุ่งยาก เหมือนกรณี “โฉนดถุงกล้วยแขก” ที่วัดสวนแก้ว ถ้าเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินบางใหญ่แย้งหรือชะลอที่จะชี้แจงต่อศาล แม้ว่าศาลจะมีคำสั่ง แต่ถ้ายังมีข้อแย้งอะไรได้ ศาลก็จะได้ข้อมูลจากทนาย ทนายก็รู้อยู่แล้วว่าโฉนดจะมีการเซ็นทางโน้นปั๊บ โฉนดที่มีการเซ็นรับรองก็ต้องถือว่าถูกต้อง ไม่ใช่คนมาซื้อคนที่ 3 ต้องได้รับความเสียหาย แล้วยังไม่มีใครรับผิดชอบอีก มีแต่รองอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนที่บอกว่า กรมที่ดินก็ผิดเหมือนกัน เพราะเป็นคนออกโฉนด แต่ก็ต้องให้ศาลสั่ง

ถ้าไม่รอบคอบ ศาลก็ได้ข้อมูลมาผิด ทั้งที่กรมที่ดินเซ็นให้โฉนดออกมาก็ผิด แต่ผิดแล้วกับไม่มีการเยียวยาอะไรเลย ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมไป ทั้งไม่ใช่ประชาชนธรรมดาด้วย แต่เป็นองค์กรการกุศล

ไอ้ที่ลื่นเกินไปนักก็ไม่ดี แต่รถติดขัดนี่มันก็ไม่ไหว แต่ถ้าข้าราชการจะรับใช้ประชาชนอย่างราบรื่นลื่นไหล ผิดยังไงก็ว่ากันไป จะทำให้ระดับผู้บริหารนโยบายจะได้รู้ว่าข้าราชการเขาก็อึดอัด

อย่างกรณีของอาตมา ศาลไม่ต้องรับผิดชอบ กรมที่ดินรับผิดชอบ ใครจะเสียหายก็เสียไป อย่างนี้ก็ต้องดูด้วยว่าหากลื่นไปแล้วเสียหายก็มี ลื่นไปแล้วสะดวกสบายก็เยอะ แต่ลื่นไปแล้วเสียหายก็ต้องระมัดระวังกันหน่อย อย่างการออกโฉนดลื่นตามที่ศาลสั่ง เซ็นชื่อตัวเองก็ตามที่ศาลสั่ง แต่พอศาลมีชุดใหม่ก็บอกว่าไม่ได้แล้ว ที่สั่งไปที่แล้วมันมีคนมาแย้ง ก็ต้องสั่งเพิกถอนอีก อย่างนี้แล้วก็เป็นไม้หลักปักขี้เลน ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด แต่คนเสียหายก็ยากจะได้กลับคืนมา

ก็ขอฝากไว้ให้ราบรื่น แต่ก็ให้ราบรื่นเหมือนกับจราจรไม่ติดขัด ข้าราชการจะเซ็นอะไร จะรับรองอะไรให้ลื่นตามอีกฝ่ายหนึ่งที่ยั่วยุก็ต้องระมัดระวัง เพราะลื่นไปแล้วอีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย ทั้งที่มันไม่เป็นธรรม ทำอะไรก็ต้องให้เป็นบรรทัดฐานที่แน่นอนบ้าง

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login