วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ทางด่วนยึดทรัพย์

On September 8, 2016

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

โบราณว่า “ไม่มีไฟย่อมไม่มีควัน” ดังนั้นข่าวเรื่องจะใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวยึดทรัพย์ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการขายข้าวโครงการรับจำนำจึงต้องมีที่มาที่ไปไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มีประเด็นนี้ออกมา

กรณีนี้เกิดขึ้นจาก นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่ามีการหารือกันในวงกว้างเพื่อพิจารณาข้อเสนอของ นางอภิรดี ตันตรา
ภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ใช้มาตรา 44 ยึดทรัพย์นักการเมือง และข้าราชการ 6 คนที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวแบบจีทูจี

จากคำบอกเล่าถึงยังไม่มีข้อสรุปแต่ทำให้รู้ว่ามีข้อเสนอและมีการรับมาพิจารณาความเป็นไปได้

สำหรับผู้ที่จะต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจี ประกอบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าต้องชดใช้ 1,770 ล้านบาท

ส่วน นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ คาดว่าต้องชดใช้คนละ 4,000 ล้านบาท

หากพิจารณาจากคำชี้แจงของมือกฎหมายรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็พบว่าจะอำนาจมาตรา 44 เพื่อให้เกิดการยึดทรัพย์จากผู้ทำให้เกิดความเสียหายในคดีจำนำข้าวจริง

เพียงแต่ไม่ได้ออกคำสั่งยึดทรัพย์โดยใช้มาตรา 44 โดยตรง

ประเด็นมีอยู่ว่ากระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการขายข้าวจีทูจีไม่มีอำนาจในการยึดทรัพย์

อำนาจยึดทรัพย์เป็นของกรมบังคับคดี แต่กรมบังคับคดีจะใช้ยึดทรัพย์ได้ต้องมีคำสั่งศาล

แต่การเรียกค่าเสียหายจะออกเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ใช่คำสั่งศาล จึงต้องใช้อำนาจมาตรา 44 เข้ามาแก้ปมนี้

คือใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้อำนาจกรมบังคับคดีทำการยึดทรัพย์

ถึงจะไม่ใช้มาตรา 44 สั่งยึดทรัพย์โดยตรง แต่การยึดทรัพย์ก็เกิดจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ทำให้เกิดขึ้นนั่นเอง โดยให้เหตุผลว่าต้องเร่งดำเนินการเพราะตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด คดีดังกล่าวมีอายุความสั้นจึงต้องเร่งทำ

ถ้าสุดท้ายแล้วออกช่องทางนี้ใช้มาตรา 44 ให้เกิดการยึดทรัพย์จากการขายข้าวจีทูจี

แนวทางนี้ก็คงนำไปใช้กับการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตกเป็นจำเลยคดีจำนำข้าวเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการพิจารณาการรับผิดทางแพ่ง ที่มี นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานได้เคาะตัวเลขค่าเสียหายที่จะให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ออกมาเรียบร้อยแล้ว

แม้จะไม่ได้บอกตัวเลขที่แน่ชัด แต่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักนายกรัฐมนตรีได้ระบุความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวไว้ที่ 2.86 แสนล้านบาท

ผลจากโครงการจำนำข้าวมีคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล แต่รัฐบาลจะเร่งใช้คำสั่งทางปกครอง และอำนาจมาตรา 44 อำนวยความสะดวกในการยึดทรัพย์ผู้ถูกกล่าวหา โดยไม่รอผลคดีอาญา

ไม่ต้องถามว่าหากคิดว่ามีความเสียหายทำไมไม่ฟ้องแพ่ง

เพราะเป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำก่อนหมดอำนาจ


You must be logged in to post a comment Login