วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

Toynbee กับนายกฯคนนอก / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On September 5, 2016

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

งานเขียนของ Arnold Toynbee ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมหรือประวัติศาสตร์ ซึ่งเน้นการท้าทาย (challenge) และการตอบสนอง (respond) โดยมองจาก moral และ religious โดยเขาศึกษาจากเหตุการณ์ดังๆในทางประวัติศาสตร์ และเจาะประเด็นไปที่การกำเนิดขึ้นของอารยธรรม

บทความชิ้นนี้เป็นการเก็บประเด็นจากการอ่านข้อเขียนของ Toynbee มากมาย เก็บเล็กเก็บน้อยเอามาประมวลในการมองปัญหาของมนุษย์กับประชาธิปไตย ซึ่ง Toynbee ได้เน้นตรงความสำคัญของจิตหรือความคิดของมนุษย์

ดังจะเห็นจากประโยคที่เขากล่าวว่า “thought is a prior to fact”

จึงได้ข้อสรุปว่า “…เขามองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลง มนุษย์จึงเปรียบเสมือนปมรากของผักและผลไม้ทั่วโลก…”

หมายถึงสภาวะชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกทั่วไปของโลก

ดังนั้น ถ้าไม่มีโลก มนุษย์ก็อยู่ไม่ได้

Toynbee ยังกล่าวว่า ชีวิตมนุษย์เป็นอภิปรัชญามากกว่าจะเป็นฟิสิกส์ หรือกาย หรือรูป แต่ชีวิตของความสัมพันธ์ที่สัมพันธ์กับรูปและนามนั้นไม่ได้เป็นอภิปรัชญา แต่เป็นฟิสิกส์

ตรงนี้ค่อนข้างจะเข้าใจยากสักนิด แต่พอจะอธิบายออกมาได้ว่า อภิปรัชญาที่เป็นปฏิสัมพันธ์มีทั้งความสอดคล้องและความขัดแย้ง ความขัดแย้งจึงเป็นสภาวะชีวิต สภาวะชีวิตจริงจึงเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนและมีเงื่อนไข

นี่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตของ Toynbee อธิบายคล้ายกับข้อคิดของโสเครติส ซึ่งถือว่าเป็นผู้วางรากฐานให้แก่นักปรัชญาตะวันตก

แม้ว่าโสเครติสจะไม่เคยเขียนหนังสือออกมาสักเล่ม แต่ข้อคิดของเขาก็แพร่หลายมาก ได้รับการถ่ายทอดผ่านคำพูดของเพลโตและนักปราชญ์กรีกอีกหลายๆคน เขามองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงในการผลักดันสังคมเพื่อแก้ไขปัญหา จึงต้องกระทำเพื่อมนุษย์ และต้องมองมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ มนุษย์ไม่ใช่ชาวนา เศรษฐี ทหาร หรือศาสตราจารย์ แต่คือมนุษย์ที่เหมือนๆกัน

ประวัติศาสตร์ต้องเกิดขึ้นและขับเคลื่อนไปด้วยจิต แต่จิตนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยอิสรภาพ ด้วยเหตุผลเช่นนี้เขาจึงสรุปว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นมันยืดหยุ่น ซึ่งสามารถตอบสนองจิตวิญญาณที่หลากหลายของมนุษย์ได้ อยู่ท่ามกลางความหลากหลายของโลกนานา

โดยเฉพาะเรื่องของเสรีภาพในจิตเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อนมาก และมีความย้อนแย้งเปลี่ยนแปลงตลอด

นี่เป็นความเห็นของ Toynbee ที่เก็บมาจากหลายข้อเขียนที่บอกว่าเหตุใดประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องจำเป็นของมนุษย์ ไม่ว่าสังคมจะเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือแบบอาณาจักร หรือแบบสาธารณรัฐ ก็ต้องถือว่านั่นคือประกาศนียบัตรของผู้คนส่วนตัวเท่านั้น

เมื่อย้อนไปมองปรากฏการณ์ในยุโรปตอนศตวรรษที่ 20 กว่าๆ จะมีกระบวนการต่อต้านลัทธิชาตินิยมบ้าง ลัทธิทหารบ้าง ลัทธิรัฐธรรมนูญบ้าง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงมายาภายนอกที่ปกปิดความจริง เพราะปัญหาต้นตอจริงๆสืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ปัญหาโรคระบาด และปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการถกกันมากในเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยคำถามพ่วงหลังจากผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็มีการโต้แย้งในประเด็นว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะมีสิทธิพิเศษหรือนัยแฝงเร้นอะไรหรือไม่?

นอกเหนือจากมีสิทธิยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ด้วยหรือไม่?

หลายฝ่ายเห็นต่าง บางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว. มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ แต่ให้เป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่จะเสนอ ทั้งในรอบแรกที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองและรอบสองที่อาจเป็นนายกฯคนนอกหากไม่สามารถเลือกนายกฯในบัญชีรายชื่อได้

นายกฯคนนอกจึงยังเป็นประเด็นทางการเมือง รวมถึงการเคลื่อนไหวของบางกลุ่มที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

ข้อนี้ผมไม่มี comment อะไร แต่อยากจะยกประสบการณ์ของ Toynbee ที่สรุปว่า ในการศึกษาอารยธรรมโลกถึง 23 อารยธรรม อารยธรรมที่ประสบความสำเร็จในการเกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยดีเป็นเพราะบรรดาชนชั้นนำทางอำนาจได้ตอบสนองรับกับการ Challenge ของพลังขับเคลื่อนใหม่ จึงเกิดสภาวะที่เรียกว่า compose หรือการผสมกลมกลืนกัน

ประเด็นดังกล่าวจึงมีข้อสรุปลงท้ายได้ว่า จะเป็นนายกฯคนนอกหรือนายกฯคนในนั้นไม่สำคัญ แต่ประชาชนโดยทั่วไปต้องการให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการบ้านเมือง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และต้องดำเนินไปภายใต้ระบอบประชาธิปไตย!


You must be logged in to post a comment Login