วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

อนาคตการผังเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

On November 5, 2024

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  5 พ.ย. 67)

บทความนี้เป็นบทความที่ส่งมาโดยอดีตข้าราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง สะท้อนปัญหาการวางผังเมืองในปัจจุบัน ลองพิจารณากันดู

ผมเคยทำงานที่สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ต่อมาก็เป็นกรมการผังเมือง และกรมโยธาธิการและผังเมืองในที่สุด  ผมจึงอยากเขียนบทความนี้จากประสบการณ์ตรง

การรวมกรมการผังเมือง ให้เข้ากับกรมโยธาธิการ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น ก็ด้วยความหวังว่าการวางผังต่างๆ จะได้รับการตอบสนอง หลายท่านอาจไม่ทราบว่ากฎหมายผังเมืองฉบับแรกของไทยมีตั้งแต่ปี 2495 แต่ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับแรกกลับเกิดขึ้นในปี 2535 หรือ 40 ปีให้หลัง แสดงให้เห็นว่าการผังเมืองแทบไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ จึงมีความหวังว่าหากรวมกับกรมโยธาธิการ  การตัดถนนต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้จริง

แต่ทว่านับตั้งแต่การรวมกันและกลายเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง งานผังเมืองที่เป็นงานวางแผนการพัฒนาพื้นที่ที่ควรมีความสำคัญ กลับลดบทบาทลงเนื่องจากผู้บริหารมาจากฝ่ายโยธาฯ ก็คิดแบบโยธาฯ  นับแต่นั้นนโยบายงานผังเมืองก็ให้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ (เอาแบบที่ทางโยธาฯจ้างผู้รับเหมาทำงานก่อสร้าง) เป็นผู้ดำเนินการ งานผังเมืองที่เราเคยถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นก็จบลง องค์ความรู้ที่เราสะสมกันมาก็ขาดตอนลง เพราะไม่ได้ลงมือทำเองแล้ว ไม่ได้เจอปัญหา ไม่ได้ถ่ายทอดความรู้หรือแสวงหาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ เท่าที่ควร และคนที่มีอยู่จำนวนมากก็ไม่ได้ทำงานอะไรด้วยตนเอง สูญเสียทรัพยากรบุคคลไปเท่าไหร่

บางครั้งอาจเกิดข้อครหาว่าการจ้างบริษัทที่ปรึกษา “ไม่รู้มีอะไรกัน มีนอกมีในรึเปล่า” การที่ได้แต่ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งมีคนในองค์กรไปช่วยด้วยหรือไม่  มีการหักหัวคิวกันถึง 20%-30% แบบการก่อสร้างถนนต่างๆ หรือเปล่า บรรดาผู้เกี่ยวข้องรวยอู้ฟู่กันมากมายหรือไม่ มีการตรวจสอบความร่ำรวยกันหรือไม  และขณะนี้งานจ้างที่ปรึกษา มีหลายร้อยโครงการ ขอถามว่าเอาไปใช้ประโยชน์หรือวัดผลสัมฤทธิ์กันอย่างไร จ้างซ้ำจ้างซ้อน ทิ้งๆ ขว้างๆ จ้างเสร็จก็เป็นเศษกระดาษชั่งกิโลขายกันไปเมื่อเวลาผ่านไปไม่ได้เอามาใช้อะไรหรือไม่ ไม่ทราบสำนักงบประมาณผู้อนุมัติงบประมาณ ปปช. สตง. เคยเอามาดูบ้างหรือไม่ถึงความคุ้มค่าในการว่าจ้างต่างๆ

ในการว่าจ้างของทางราชการในส่วนราชการต่างๆ มักมีข้อครหาว่า ตอนเขียนโครงการก็เขียนวัตถุประสงค์ไว้อย่างสวยหรู ข้ออ้างอันหนึ่งที่ใช้คือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ใช้  แต่ในความเป็นจริง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้จริงหรือไม่ ประเทศไทยมีอำเภออยู่ราว 900 แห่ง เอกสารผังอำเภอที่จ้างกันทั้งประเทศนั้นท้องถิ่นได้เอาไปใช้อะไรบ้าง แถมตอนนี้ก็ไม่รู้เอาไปเก็บไว้ที่ไหนด้วยซ้ำไปหรือไม่ ค่าจ้างหมดไปเท่าไหร่ ประโยชน์จริงมีหรือไม่

ปกติแล้วงานราชการต่างๆ อาจมีข้อครหาว่า งานจ้างที่ปรึกษา เป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทำขึ้นมาเพื่อกินหัวคิวกันจนร่ำรวยจริงหรือไม่ หน่วยราชการที่มีประสิทธิภาพ พึงตรวจตราในเรื่องนี้  เราได้ว่าจ้างงานที่ปรึกษาแบบเข้าระบบ E-Bidding หรือไม่ หรือว่าจ้างกันเองแบบระเบียบงดเว้นไว้ให้ใช้การคัดเลือกได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับภาพพจน์ของส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ที่ผ่านมาแต่ละสำนักในกรมต่างๆ ก็คิดโครงการจ้างที่ปรึกษากันมาเต็มไปหมด เด็กๆ ใหม่ๆ ที่บรรจุเข้ามาก็ทำหน้าที่คอยเขียน TOR ตรวจเอกสารคำผิดคำถูก แต่ไม่สามารถ Guide ให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้ เพราะไม่ได้สั่งสมประสบการณ์ในการทำงานมาเหมือนพี่ๆ รุ่นก่อนๆ  นักผังเมืองหลายคนอาจย้ายไปส่วนราชการอื่นกระทั่งฝ่ายตุลาการศาลปกครอง อาจเป็นเพราะพวกเขารับไม่ได้กับระบบนี้หรืออย่างไร ทำให้การถ่ายทอดองค์ความรู้จากพี่ๆ สู่น้องๆ สิ้นสุดลงไป เมื่อก่อนกรมโยธาธิการและผังเมืองมี GTZ (จากเยอรมนี) หรือมี JICA จากญี่ปุ่น มาร่วมทำงาน ให้การสนับสนุนกับกรม แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วหรืออย่างไร

อีกอย่างหนึ่งก็คือการที่ผังเมืองรวมไม่มีการหมดอายุ ใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผังเมืองใหม่เสร็จ อย่างนี้ก็เท่ากับการใช้ที่ดินไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง การวางผังต่างๆ ก็อาจไม่เหมาะสม แบบนี้ได้คิดหรือไม่ว่าการวางผังเมืองที่เชื่องช้า ทำให้เกิดปัญหา สร้างปัญหาให้กับการพัฒนาเมืองในระยะยาว ความเป็นระบบระเบียบต่างๆ ก็ไม่มี การจราจร ก็อาจขาดประสิทธิภาพ การเดินทางก็ยาวนาน เปลืองเงินและทรัพยากรของประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองอย่างมหาศาลหรือไม่

ฝากกรมโยธาธิการและผังเมือง ลองดูนะครับ ถือว่าช่วยกันกระทุ้งเพื่อผังเมืองไทย เพื่อชาติครับ


You must be logged in to post a comment Login