วันพฤหัสที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เปิดแผนที่ขุมทรัพย์การลงทุนแห่งอนาคต

On October 22, 2024

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่  22 ต.ค.  67)

“Cash vs Stock vs Real Estate Investments เปิดแผนที่ขุมทรัพย์การลงทุนแห่งอนาคต” ลงทุนอะไรดี จึงจะมีอนาคตที่ชัดเจน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2567 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ได้ร่วมอภิปรายในงาน Bitkub Summit 2024 ในเรื่อง “Cash vs Stock vs Real Estate Investments เปิดแผนที่ขุมทรัพย์การลงทุนแห่งอนาคต”

งานนี้จัดขึ้นโดย บจก.บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป และบริษัท ฯ ในเครือ โดยได้ถ่ายทอดสดแมตช์ประชันมุมมองด้านการลงทุน อาทิ หุ้น คริปโทเคอร์เรนซี และอสังหาริมทรัพย์ เพื่ออัปเดตเทรนด์การลงทุนในปัจจุบันและอนาคตจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ พร้อมเรียนรู้กลยุทธ์การลงทุน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุน ในวันที่ 20 ตุลาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 13.40 น. – 15.10 น. ณ เพลนารีฮอลล์ ชั้น 1ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผู้ที่มาแลกเเปลี่ยนมุมมองด้านการลงทุนคือ คุณวีรวัฒน์ วลัยเสถียร Investor ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด คุณซีเค เจิง CEO of Fastwork และ Moderator อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย คุณหนุ่ย พงศ์สุข Founder and CEO of Show No Limit ซึ่งล้วนมีประสบการณ์กันคนละรุ่น

ในส่วนของผมก็พูดถึงอสังหาริมทรัพย์ เช่น ในช่วงสงครามใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นเพราะการเมืองโลกของเราช่างเปราะบางเหลือเรา เราควรถืออะไร ในแต่ละสงครามอาจแตกต่างกัน เช่นในช่วงสงคราม “สิ้นชาติ” ในอินโดจีน ทรัพย์ที่มีค่าที่สุด ก็คือทองคำหรือเพชรนิลจินดาต่างๆ ทรัพย์เหล่านี้นำมาแลกเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตรอดได้  ในช่วงเดือนมกราคม 2518 ตอนที่กรุงกัมพูชาแตก ประชาชนเขมรจำนวนมากทะลักเข้ามาตามตะเข็บชายแดน การกินอยู่ของผู้อพยพเหล่านี้แสนยากลำบาก ในขณะนั้นธนบัตรเขมรคงกลายเป็นแค่ “แบงค์กงเต๊ก” ชาวเขมรที่พอมีฐานะจะนำทองคำมาแลกสิ่งของอำนวยความสะดวกหรืออาหารประทังชีพ ในยามนั้นทรัพย์สินอื่นคงแทบไร้

เพื่อนชาวซิกข์จากรัฐปันจาป อินเดีย ก็ให้ข้อคิดให้อีกอย่างหนึ่งว่า รัฐนี้เป็นรัฐที่ผู้รุกรานอินเดียกรีธาทัพผ่านมาและไปเสมอ เช่น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (ราว 2,200 ปีก่อน) มุสลิม (ราว 1,300 ปีก่อน) และเจงกิสข่าน (ราว 800 ปีก่อน) พอกองทัพผ่านมา  ก็กวาดต้อนผู้คน เอาเพชรนิลจินดาไปแทบหมด  ไม่เว้นแม้แต่ลูกเมีย แต่สิ่งหนึ่งที่บรรพบุรุษชาวซิกข์ตระหนักดีก็คือ อสังหาริมทรัพย์ เช่น ตึกรามบ้านช่องต่างๆ ก็ยังอยู่ กองทัพใดๆ ก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ เพราะมันติดตรึงกับพื้นที่  ดังนั้นในสงครามหลายครั้งจึงมีการเผากรุง เผาเมืองเพื่อไม่ให้ประชาชนกลับมาซ่องสุมกันอีก

ด้วยเหตุนี้ชาวซิกข์ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 138 ปี (พ.ศ.2427) เมื่อกิจการรุ่งเรืองขึ้นจึงซื้อบ้าน สร้างบ้าน สร้างตึกกันมากมาย  อาคารชุดพักอาศัย อพาร์ตเมนต์ให้เช่าในย่านสุขุมวิทมีเป็นจำนวนมากที่เป็นของคหบดีครอบครัวชาวซิกข์ เพราะนี่คือรูปแบบการสะสมความมั่งคั่ง  กรณีนี้อาจต่างจากครอบครัวคนจีน อย่างยายผมที่ย้ายมาอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 80 ปีก่อน พวกท่านคิดอย่างเดียวว่าจะย้ายกลับประเทศจีน ได้เงินมาเท่าไหร่ก็จะไปไถ่นาที่จำนองไว้ เผื่อจะกลับไปอยู่ประเทศจีน มีลูกหลานก็ส่งกลับไปเรียนหนังสือที่ประเทศจีน

อย่างไรก็ตามก็มีกรณีที่แตกต่างกันออกไป นั่นคือกรณีที่เขมรแดงพาคนในกรุงพนมเปญออกไปอยู่ชนบท จนเกิดกรณีทุ่งสังหาร (Killing Field) ในระหว่างปี 2518-2522 ทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปประมาณ 1.4 ล้านคน หลังจากช่วงดังกล่าวมาถึงยุคฮุนเซ็น ประชาชนก็ต่างกลับเข้าเมืองมา อาคารตึกแถวใจกลางเมืองที่ปิดร้างไว้นาน ตึกมี 3 ชั้น ก็เริ่มมีผู้มาจับจอง คนมาก่อนก็อยู่ชั้น 3 แล้วกวักมือเรียกคนมาทีหลังให้มาอยู่ชั้น 2 และชั้นล่าง  ในยุคสงครามมีโจรปล้นสะดมกันบ่อยมาก จึงทำให้ผู้ที่มาก่อนไม่พยายามอยู่ชั้นล่างๆ เพราะจะถูกปล้นก่อนจะอยู่ชั้นบน

ดังนั้น ในแต่ละชั้นของตึกแถวเหล่านั้นจึงมีเจ้าของที่แตกต่างกัน แม้แต่บนชั้นดาดฟ้าก็เป็นอีกเจ้าของหนึ่ง   ส่วนเจ้าของเดิมก็สูญหายหรือตายไปแล้ว ทั้งนี้คาดการณ์กันว่ามีผู้ถูกสังหารประมาณ 1.4 ล้านคน หากรวมพวกที่ตายเพราะโรคและความอดอยากในช่วงทุ่งสังหาร ตัวเลขอาจสูงถึง 1.7 – 2.5 ล้านคน แต่สถานการณ์แปรเปลี่ยนไป ผู้ที่จับจองอยู่ชั้นล่างกลับได้เปรียบเพราะสามารถทำการค้าได้  บางคนที่ร่ำรวยขึ้นและอยู่อาศัยในตึกแถวเหล่านั้นก็ทะยอยซื้อ “สิทธิ์” ของผู้อยู่อาศัยชั้นอื่นๆ เพื่อให้ตึกแถวในแต่ละคูหาเป็นเจ้าของเดียว

ส่วนในกรณีของประเทศลาว หลังสงครามอินโดนจีนแล้ว รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้คนลาวที่ “หนีตาย” ไปอยู่ต่างประเทศ กลับมาอ้างสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนเองได้ แม้แต่ในประเทศเวียดนามก็ให้สิทธิ์พวก “เวียดเกี่ยว” (ชาวเวียดนามโพ้นทะเล) ให้กลับมาอ้างสิทธิ์ได้แต่ ต้องกลับมาอยู่อาศัย มาพัฒนาชาติของตนเองด้วย  ไม่ใช่ให้กลับมาอ้างสิทธิ์แล้วก็ขายต่อทำกำไรทันทีแต่อย่างใด

ส่วนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามีแต่ “ทอง” เท่านั้นที่อาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดเพราะสามารถแลกเปลี่ยนเป็นอื่นได้ง่าย  ส่วนตลาดหลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์หรืออื่นๆ แทบจะไม่มีราคายกเว้นผู้ที่มีสายป่านระยะยาวจริงๆ (https://bit.ly/3C3FQwL) อันที่จริงทองเป็นสิ่งมีค่าที่ใช้เป็นวัตถุหรือสื่อในการแลกเปลี่ยนกันมาถึง 40,000 ปีมาแล้ว (https://bit.ly/3psRY5f) อย่างไรก็ตามตลาดหลักทรัพย์ของประเทศผู้ชนะสงครามโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา  ก็คึกคักมาก และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยตลอด

ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนี ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสงคราม (ที่ยังไม่รู้มีใครแพ้หรือชนะ) และหลังจากแพ้สงครามราคาหลักทรัพย์ก็ถูกแช่แข็ง ในช่วงปี 2485-2491 และตกต่ำลงจนแทบไม่มีค่าในปี 2491 เป็นเวลาราว 2 ปี จึงค่อยฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ (https://bit.ly/3Hq8ide) จะสังเกตได้ว่าสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในช่วงสงครามก็ยังมีกำไร และหุ้นก็ยังไม่ตก ในช่วงวิกฤติโดยรวมก็เป็นโอกาสของคนบางกลุ่มเช่นกัน  ดังนั้นหากเกิดสงครามขึ้น สินค้าที่จะส่งออกไปต่างประเทศอาจจำกัด สินค้าที่ไม่จำเป็นอาจมีราคาตกต่ำลง แต่ที่ได้ประโยชน์จากสงครามก็คงเติบโตต่อไป

ส่วนบิตคอยน์ที่ไม่มีหลักทรัพย์อะไรหนุนยกเว้นการอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสร้างขึ้น ซึ่งคนอื่นก็สร้างได้ตลอด ย่อมเป็นเพียง “ของเล่น” ที่ไร้ค่าอย่างแน่นอน เพราะยังไม่มีรัฐบาลไหนหนุน (ยกเว้นประเทศ “ด้อยพัฒนา” อย่างเอลซัลวาดอร์) ยิ่งกว่านั้น ก็ไม่มีใครรู้จัก “หัวนอนปลายเท้า” ของคนสร้างบิตคอยน์ด้วยซ้ำไป พวกคนดังที่เล่นพนันบิตคอยน์และเป็นตัวชักจูงให้ “แมงเม่าบินเข้ากองไฟ” ก็คงเลิกเล่นสิ่งสมมตินี้ในภาวะสงคราม หันมาเก็บทอง เก็บหุ้นหรือทรัพย์สินที่แปลงค่าอื่นๆ ได้ทันทีดีกว่า  อนาคตของบิตคอยน์ที่ไม่มีสิ่งมีค่าใดมาหนุน (นอกจากมโนกันไป) จึงย่อมหมดค่าไป  ผู้คนก็จะได้ “ตาสว่าง” เสียทีกับแฟชั่นบิตคอยน์

ถึงเวลาปิดสวิตช์ บิตคอยน์ก็อาจไร้ค่ายิ่งกว่า “ความคลั่งดอกทิวลิป” (https://bit.ly/3473hJ6) ในปี 2180 หรือ “จตุคามรามเทพ” (https://bit.ly/3ptjWOu) ในปี 2550 หรืออาจถือเป็นเช่น “เครื่องรางยุคใหม่” เท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login