วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

ศอ.บต. จับมือเครือข่าย MOU ขับเคลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น

On May 9, 2023

ศอ.บต. – สสส. – ม.อ. สานพลัง ผู้ว่าฯ – นายก อบจ. – ภาคีเครือข่าย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ MOU ขับเคลื่อนวาระจังหวัดชายแดนใต้ไร้ครรภ์วัยรุ่นภายในปี 2570 หลังพบการตั้งครรภ์ซ้ำแซงระดับเขตและประเทศ มุ่งหนุนเสริมเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ นำร่องแล้ว 19 พื้นที่

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 ณ รร.คริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา จังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 13 ฝ่าย ขับเคลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อกำหนดวาระ “จังหวัดชายแดนใต้ไร้ครรภ์วัยรุ่นภายในปี พ.ศ. 2570” 

พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่น เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อตัวอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคม จากปัญหาครัวเรือนยากจน การว่างงาน การเข้าถึงการศึกษาที่จำเป็น ศอ.บต. สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมแก้ปัญหาโดยคำนึงถึงบริบทในพื้นที่ ทุนทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรมและมิติอื่น ๆ เช่น ส่งเสริมบทบาทสตรีแกนนำในระดับหมู่บ้าน เพื่อเป็นเครือข่ายดูแลเด็กและสตรีกลุ่มเปราะบาง การเสริมพลังอำนาจตัดสินใจในกลไกที่มีในระดับพื้นที่ ได้แก่ สภาสันติสุขตำบล ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ยุติธรรมชุมชน การ MOU วันนี้ ศอ.บต. ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งครรภ์วัยรุ่นในจังหวัดชายแดนใต้ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นอย่างครบวงจร ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และกฎกระทรวงตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งยุทธศาสตร์การดำเนินงานในระดับชาติ พ.ศ. 2560-2570

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็น 1 ในประเด็นสำคัญอย่างเร่งด่วนของงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศของ สสส. โดยช่วงปี 2554-2555 อัตราการคลอดของวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ซึ่งการตั้งครรภ์ในช่วงวัยรุ่นก่อให้เกิดการสูญเสียหรือรายได้ที่ลดลง จากรายงานวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย ของ TDRI พบการลดลงของรายได้ตลอดช่วงชีวิตของกลุ่มผู้หญิงอายุ 15-19 ปี จากการมีบุตรเร็ว อยู่ที่ประมาณ 255 พันล้านบาท คิดเป็น 1.6% ของ GDP ประเทศ การดำเนินงานที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด อีกทั้งร่วมผลักดัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ควบคู่กับการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดต้นแบบจังหวัดบูรณาการที่มีการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ในปี 2564 อัตราการคลอดของวัยรุ่นไทยลดลงเหลือ 24.4 แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เห็นชอบปรับค่าเป้าหมายใหม่ในการลดอัตราการคลอดของวัยรุ่น อายุ 15 – 19 ปี จากไม่เกิน 25 เป็น ไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิงอายุ 15 – 19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570 

“พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความเปราะบางในเชิงวัฒนธรรม  การเมือง เรื่องเพศ จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจถึงวิธีการช่วยเหลือ หาทางออก แนะนำทางเลือก สร้างพื้นที่เรียนรู้สุขภาวะทางเพศที่ปลอดภัย สร้างทักษะชีวิตสำคัญให้ให้วัยรุ่นและคนใกล้ชิด สสส. สานพลัง สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.อ. พัฒนารูปแบบเสริมสร้างสมรรถนะของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการจัดทำหลักสูตรการเสริมสร้างสมรรถนะ พชอ. ทดลองใช้ใน 4 พื้นที่นำร่อง อ.ยะหริ่ง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี อ.รามัน จ.ยะลา และ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จากนั้นพัฒนารูปแบบการดำเนินงานแบบเครือข่าย ภายใต้ความร่วมมือของกลไก พชอ. และภาคีเครือข่ายสุขภาพ 19 อำเภอ ทำให้เกิดบทเรียนการทำงานมากมาย อาทิ ตัวอย่างรูปแบบการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นของ พชอ. แนวทางในการผลักดันนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน” นายชาติวุฒิ กล่าว

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและนโยบายสาธารณะ ม.อ. กล่าวว่า แม้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นอาจดูไม่สูง แต่การตั้งครรภ์ซ้ำสูง ผลการสำรวจล่าสุด ในปี 2565 พบว่า การตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ใน จ.ยะลาอยู่ที่ 18.28% ปัตตานี 19.85% และนราธิวาส 20.71% ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับเขตอยู่ที่ 16.18% และระดับประเทศอยู่ที่ 14.29% สถาบันนโยบายสาธารณะ จึงร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการ “การพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ภายใต้ความร่วมมือของกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และภาคีเครือข่ายสุขภาพ: กรณีจังหวัดชายแดนใต้” ในพื้นที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 19 อำเภอ ระยะเวลาดำเนินงาน 19 เดือน (15 ต.ค. 2564 – 14 พ.ค. 2566) ทำให้เกิดมาตรการชุมชนและนโยบายสาธารณะทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตของวัยรุ่น พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อวัยรุ่น   

นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 12 และที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ พบว่า บทบาทของ พชอ.ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นใน 19 อำเภอนำร่องของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มี 3 ลักษณะ คือ 1.พชอ.ขับเคลื่อนประเด็นตั้งครรภ์วัยรุ่นในภาพรวมอำเภอ อาจกำหนดเป็นประเด็นหลัก หรือประเด็นร่วมในการดำเนินงาน โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน 2.พชอ. แต่งตั้งอนุกรรมการย่อยต่อประเด็นการตั้งครรภ์วัยรุ่น เน้นการมีโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานที่สามารถเชื่อมต่อในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อนำนโยบายของ พชอ. ไปปฏิบัติอย่างชัดเจน 3.พชอ. ดำเนินงานร่วมกันกับคณะกรรมการพัฒนาชีวิตระดับตำบล (พชต.) ในตำบลที่มี พชต.และภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความพร้อม โดย พชอ. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง


You must be logged in to post a comment Login