วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

“สาธิต” หนุน แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กฯ เน้นหลักการ 5 ข้อ ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก

On February 1, 2023

“สาธิต” หนุน แผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กฯ (ปี 66-73) เน้นหลักการ 5 ข้อ มีหลักฐาน-ทำได้จริง-เท่าเทียม-สร้างการมีส่วนร่วม-ยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก “EMPACT” เดินหน้าสร้างสภาพแวดล้อมเหมาะสม กระตุ้นเยาวชนมีวิถีชีวิตกระฉับกระเฉงเพิ่ม หลังพบวัยโจ๋ขยับร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่า

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนาและประกาศนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทยว่า ไทยประกาศใช้แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561–2573 ครอบคลุมประชาชนทุกช่วงวัย มีวิสัยทัศน์ที่ว่า ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตสู่เป้าหมายหลัก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มุ่งเป้าให้ทุกคนมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 85 ปี และอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี 75 ปี

“กลุ่มที่น่าห่วงคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูงและมีระดับการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ต่ำกว่าผู้ใหญ่กว่า 30% สะท้อนแนวโน้มปัญหาด้านการสาธารณสุขในการจัดการกับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต ช่วงต้นปี 2566 สธ. สานพลัง สสส. และภาคี เร่งวางรากฐานการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด พร้อมขับเคลื่อนแคมเปญเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก กุญแจของความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการ และภาคีเครือข่าย ผลักดันนำยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน ช่วยสร้างเสริมพลังแห่งการเล่น สู่พลังแห่งชีวิต” ดร.สาธิต กล่าว

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สถานการณ์โควิด-19 ใน พ.ศ. 2563 ที่ลดลงอย่างมาก กลุ่มเด็กและเยาวชนมีระดับกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่นถึง 2 เท่า คือมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ 17.7% เมื่อเทียบกับวัยทำงานอยู่ที่ 54.7% วัยสูงอายุอยู่ที่ 52.9% สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้สานพลังวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชน (พ.ศ. 2566–2573) มีหลักการพื้นฐาน 5 ข้อ 1.ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ 2.นำไปปฏิบัติได้จริง 3.ความเท่าเทียม เสมอภาค 4.การมีส่วนร่วม 5.ความยั่งยืน เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เด็กและเยาวชนไทยมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงเพื่อสุขภาวะที่ดี”

ดร.อารีกุล อมรศรีวัฒนกุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กฯ มี 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ชื่อว่า “EMPACT” 1.E : Educational setting ส่งเสริมกิจกรรมทางกายในสถานศึกษา 2.M : Manage (family) การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของครอบครัว 3.P : Policy สนับสนุนด้วยนโยบาย 4.A : Academic พัฒนาศักยภาพงานวิจัยและการส่งเสริมกิจกรรมทางกายเครือข่ายภาควิชาการและประชาสังคม 5.C : Community การสนับสนุนพื้นที่จัดกิจกรรมจากชุมชน/สังคม 6.T : Technology เทคโนโลยีและการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งเป็นครั้งแรกในไทยที่จะมีการร่วมพลังจากทุกภาคส่วน โดย รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) พร้อมร่วมสนับสนุนงานฐานข้อมูล วิจัยนวัตกรรมและต้นทุนการขยายเครือข่ายโรงเรียนฉลาดเล่น ไปพร้อมกับกองกิจกรรมทางกาย กรมอนามัย และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมยกระดับการมีกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน ทำให้การมีกิจกรรมทางกายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดี


You must be logged in to post a comment Login