วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ปรับเปลี่ยนทัศนคติ “ทำแท้งถูก กม.” เรื่องที่ต้องพูด ไม่ใช่เรื่องของบุญบาปอีกต่อไป

On September 29, 2022

ผู้หญิงตั้งท้องไม่พร้อม ไม่ว่าจะมีสาเหตุอะไรก็ตาม รัฐควรจะเปิดโอกาสให้หญิงตั้งครรภ์เหล่านี้ได้มีทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยในชีวิต ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการทางการแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขควรปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าการทำแท้งไม่ใช่เรื่องของบุญบาปอีกต่อไป แต่ให้นึกว่าเป็นการช่วยชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งให้ได้มีโอกาสยุติการตั้งครรภ์ที่พร้อมให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยต่อไปในอนาคต

ในวันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันยุติการตั้งครรภ์สากล โดยในปีนี้ได้มีการใช้ชื่อกิจกรรม คือ Pro-voice 9 : Abortion Rights, Health Rights, Human Rights and Democracy สำหรับประเทศไทยแล้วนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเนื่องจากปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยประสบความสำเร็จอีกขั้นในการปรับแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง ส่งผลให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในระบบบริการสุขภาพ ด้วยระยะเวลาผ่านมามากกว่า 1 ปี มีสตรีจำนวนไม่น้อยยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ถึงแม้จะมีการปรับแก้กฎหมาย

 เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์: สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนา อาทิ กรมอนามัย เครือข่ายอาสา RSA เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ไม่พร้อม

***ประธาน กสม.แนะรัฐส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการยุติการตั้งครรภ์

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปว่า  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยได้แก้ไขและบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301  ที่กำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 305  ที่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด อย่างไรก็ดี จากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของ กสม. พบว่าภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ความล่าช้าในการส่งต่อผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังไม่พร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ (Refer) ไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ ซึ่งอาจทำให้อายุครรภ์ของผู้หญิงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และประสบปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งกสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ กสม. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับฟังจากเวทีในวันนี้ไปประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งนำไปสู่การจัดทำรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของประเทศไทยต่อไป 

** สสส.หนุน กม.การยุติการตั้งครรภ์

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส.มีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพในรูปแบบสร้างนำซ่อม ที่ผ่านมามีหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมหลายคนซื้อยาทำแท้งเอง แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสถานบริการสุขภาพได้ และในบางรายถึงขั้นเสียชีวิต นับเป็นข่าวดีล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน โดยจะมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 30 วัน ส่งผลให้ ผู้ให้บริการสุขภาพและสังคมกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ไทย มีความก้าวหน้าเรื่องกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

“ข้อมูลโครงการ “การติดตามผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถี  (New  Normal) ในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่” ที่สนับสนุนโดย สสส. พบว่า ณ เดือน ส.ค. 2565 ไทยมีสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จำนวน 110 แห่ง ส่วนใหญ่ให้บริการในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จากข้อมูลสายด่วน 1663 ให้บริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พบว่า ช่วง 12 เดือน (ก.ย. 2564 – ส.ค. 2565) มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึง 30,766 คน ในจำนวนนี้มี 180 คน ที่แจ้งว่า ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ปัญหานี้เปิดช่องว่างให้ยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เสี่ยงได้รับยาปลอม หรือขนาดยาไม่ตรงกับอายุครรภ์ อาจตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจเสียชีวิต งานวันนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้ได้รับสิทธิ บริการทางสุขภาพและสังคมที่ดีขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว

** อย่ามองเรื่องการทำแท้ง เป็นเรื่องเลวร้าย

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสรุปว่า เรื่องของการทำแท้งเป็นเรื่องของการมองของคนสองกลุ่มที่มีความแต่งต่างกัน โจทย์ใหญ่ในวันนี้คือ กฎหมายยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้หญิงที่ต้องการยุติตั้งครรภ์ จะด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม เช่น อาการเจ็บป่วย ตัวอ่อนพบความพิการ ปัจจัยไม่พร้อมในการเลี้ยงดู ซึ่งการยุติการตั้งครรภ์สังคมจะมองว่าไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีกลุ่มบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการยุติการตั้งครรภ์ จะถูกมองเป็นเรื่องเลวร้าย ผิดศิลธรรม เป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิติของตัวอ่อน และการตีความของกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในบางสถานการณ์ไม่มีความชัดเจน

ในปลายปี 2564 พบว่า 6 ใน 10 เคสที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจะจบลงด้วยกายุติการตั้งครรภ์ และในระดับโลกพบว่า 45% ของการยุติการตั้งครรภ์เป็นการยุติการตั้งครรภ์แบบไม่ปลอดภัย และส่วนมากเกิดในประเทศที่กำลังพัฒนา ในขณะเดียวกัน WHO ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามแนวทางที่ WHO แนะนำ และยังกล่าวอีกว่า การที่ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่สามารถเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในเวลาที่เหมาะสม ราคาที่จับต้องได้

 ซึ่งปัญหาการยุติการตั้งครรภ์จะกลายเป็นปัญหาสุขภาวะใหญ่ของโลก และปัญหาสิทธิมนุษยชนของโลก ดังนั้นรัฐจะต้องตั้งสติให้ดีกับกฎหมายยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย รัฐจะพยายามเข้าไปควบคุมกิจกรรมหรือเข้าไปโอบอุ้มพลเมืองของตนเองมีคุณภาพชีวิตได้ และรัฐจะเอาอย่างไร


You must be logged in to post a comment Login