วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ชู”โรงเรียนปลอดบุหรี่” ช่วยสกัดนักสูบหน้าใหม่ได้

On June 29, 2022

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเยาวชน โรงเรียนนอกจากจะเป็นบ้านที่ให้ความรู้แล้วยังต้องเป็นบ้านที่มีความปลอดภัยในทุกๆด้าน โดยเฉพาะสารเสพติดอย่างบุหรี่ ที่เป็นอันตายกับร่างกาย สิ่งแวดล้อม คนรอบข้างแล้ว บุหรี่ยังอาจเป็นสารตั้งต้นของเยาวชนในการทดลองสิ่งเสพติดต่างๆได้อีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเรามีโรงเรียนปลอดบุหรี่ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้สนับสนุนการดำเนินของโรงเรียนปลอดบุหรี่เพื่อสังกัดนักสูบหน้าใหม่ และให้เยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ ในวันนี้(29 มิ.ย.) ได้มีจัดงานเวทีเชิดชูเกียรติ 10 โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ และเสวนาเรื่อง “ความสำคัญของโรงเรียนปลอดบุหรี่” ที่ ห้องราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย (เขตราชเทวี กรุงเทพฯ)

“ ตนได้พูดถึงเรื่องภัยของบุหรี่มา 46 ปีแล้วและขับเคลื่อนมาตลอดพอในปี 2529 เป็นปีที่ผู้ชายประเทศไทยสูบบุหรี่กันมาก จึงต้องมีการทำโครงการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่กันขึ้นมาและในปีเดียวซึ่งขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมเรื่องการบริโภคยาสูบ เราจึงตั้งเป้าหมายกับคน 3 กลุ่มคือ พระ ครู แพทย์ ที่เราคิดว่าจะเป็นผู้นำทาสังคมไทยและเป็นสามกลุ่มที่มีการสูบบุหรี่มากที่สุดจึงได้เกิดแนวที่คิดนำพระ ครู แพทย์ มาเปลี่ยนค่านิยมในการสูบบหรี่ เหตุเพราะว่าคนสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สังคมไทยให้ความนับถือมาก และมีโอกาสได้เจอและสัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก”จากคำกล่าวส่วนหนึ่งของ รศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่กล่าวถึงที่มาของการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่

รศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า หากเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการสูบบุหรี่ ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปีจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 อัตราการสูบบุหรี่ 6.2% ลดลงจาก ปี 2560 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ 9.7% ขณะที่จำนวนนักสูบหน้าใหม่เมื่อปี 2560 เท่ากับ 447,084 คน ส่วนในปี 2564 จำนวนนักสูบหน้าใหม่ลดลงเหลือ เท่ากับ 155,813 คน ซึ่งคุณครูทุกท่านมีส่วนที่ทำให้ภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนเราลดลงไป และหากทุกโรงเรียนทั่วประเทศทุกสังกัด กำหนดนโยบายการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ร่วมกับการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และกิจกรรมนอกหลักสูตร เกี่ยวกับความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องจะยิ่งช่วยป้องกันเยาวชนไม่เข้าสู่วงจรการสูบบุหรี่

“จำไว้เลยว่าขณะนี้นิโคตินกำลังแปลงอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า ในอเมริกามีการระบาดในกลุ่มวัยรุ่น อัตราการสูบบุหรี่ลดลง แต่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นถึง 20% และเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าคือเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งเด็กและผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่ไฟฟ้าจะเลิกยากกว่าบุหรี่ทั่วไป เพราะว่าในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินสูง ดังนั้น การสนับสนุนและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่สังคมเกี่ยวกับ 9 เหตุผลที่ประเทศไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดทั้งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตรายและผลกระทบของการสูบบุหรี่บุหรี่และไฟฟ้า ร่วมกับการรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบ ก็จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน ลดลงได้” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง คณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่า เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิด “โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์” ที่มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยตั้งแต่ปี 2564 ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนับสนุนให้โรงเรียนต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ด้วยแนวทาง 7 มาตรการ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่ที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 และ เขต 2 ส่งผลให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่พื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 74 โรงเรียน และมี 10 โรงเรียน ที่ได้พัฒนายกระดับและผ่านเกณฑ์ประเมินสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีจุดเด่นชัดด้านการพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ คือ เกิดการขับเคลื่อนงาน กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดย การทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติเดิมที่เคยทำมาก่อน และเกิดการพัฒนาต่อยอดจากเดิมด้านการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ในโรงเรียน

นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวว่า กทม. สนับสนุนและมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงปลอดกัญชาทุกรูปแบบ ตามที่ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แถลงไว้ และคาดหวังว่าหากทุกโรงเรียนได้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มแข็ง และเข้มข้นที่สุดที่จะช่วยปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันการเกิดนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ได้

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากผลการสำรวจจากการวิจัย เรื่อง ผลการสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียนในภูมิภาคของประเทศไทย(Susceptibility to smoking and determinants among never-smoking high school students: A representative nationwide study in Thailand) สนับสนุนโดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำรวจนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 12 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย จำนวน 3,156 คน พบว่า มีนักเรียน 72.4% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ในขณะที่เหลืออีก 27.6% ระบุว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้ง โดยโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ มีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 13.6% ในขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนาน ๆ ครั้งมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่ 23.9% สรุปได้ว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนาน ๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า

“โรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญต่อสังคม โรงเรียนกลายเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในหลายประเทศได้ทำเรื่องโรงเรียนปลอดบุหรี่เช่นกัน ในงานวิจัยพบว่าโรงเรียนปลดบุหรี่ช่วยลดการสูบบุหรี่ของนักเรียนลง ยิ่งเข้ทข้นยิ่งลดจำนวนผู้สูบได้ การปลูกฝังค่านิยมและความเชื่อที่เหมาะสม ตนมองเรื่องเรื่องนี้จะสำคัญมากกว่าความรู้”รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวสรุป

ดังนั้น การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนโดยเน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ถึงนักเรียนโดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และการเผยแพร่ข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต จึงช่วยป้องกันนักเรียนไม่ให้อยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง


You must be logged in to post a comment Login