วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ศาลสั่งทายาท “สมัคร สุนทรเวช” ชดใช้แทนสมัครได้ด้วยหรือ

On June 21, 2022

คอลัมน์ :โลกอสังหาฯ

ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 21 มิ.ย.  65)

หลายท่านอาจงงว่าทำไมศาลต้องสั่งทายาทของ “สมัคร สุนทรเวช” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความผิดด้วย ชดใช้แทนนายสมัครที่เสียชีวิตไปนานแล้ว ได้อย่างไร ทำไมทายาทต้องชดใช้ด้วย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึงข่าวที่ว่า “ศาลสั่งภรรยา-ทายาท “สมัคร สุนทรเวช” ชดใช้ 587 ล้าน คดีรถดับเพลิง” (https://bit.ly/3xI21Xl) โดยข่าวนี้มีรายละเอียดคือ “ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา. . .ระหว่างกรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. นางกาญจนากร ไชยลาภ และนางกานดาภา มุ่งถิ่น ทายาทมรดกของนายสมัคร อดีตผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนายสมัครที่เสียชีวิตแล้ว ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย. . .จำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 587,580,000 บาท”

การชดใช้นี้ “. . .ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสมัคร ที่ตกทอดแก่ตน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนของการชนะคดีในชั้นศาลปกครองชั้นต้นและในชั้นศาลปกครองสูงสุดแก่ผู้ฟ้องคดี. . .ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของนายสมัคร หลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 จากกรณีที่จัดรายการชิมไปบ่นไป มีทรัพย์สิน 9,394,978 บาท ได้แก่ เงินฝากในบัญชีธนาคาร 1,584,353 บาท ที่ดิน 3,510,625 บาท ยานพาหนะ 4,300,000 บาท แต่ไม่มีหนี้สิน และมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 312,207 บาทเมื่อเทียบกับช่วงเข้ารับตำแหน่งฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะที่คุณหญิงสุรัตน์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 16,788,817 บาท และมีหนี้สิน 6,917,514 บาท รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 9,871,303 บาท ซึ่งมีทรัพย์สินลดลง 602,570 บาท และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 717,577 บาทเมื่อเทียบกับช่วงที่นายสมัครเข้ารับตำแหน่งฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551”

หลายคนอาจสงสัยว่าการทุจริตของ “สมัคร สุนทรเวช” (ซึ่งถือเป็นคดีการเมือง) จะทำให้ลูกเมียต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ข้อนี้ ดร.โสภณ ได้ถาม คุณวิญญู วรัญญู อุปนายกสมาคมผู้ซื้อบ้าน และอาจารย์เจริญชัย กิจเวคิน อาจารย์ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ซึ่งเป็นนักกฎหมาย ได้ให้คำอธิบายว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ระบุว่า “ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” ดังนั้นศาลจึงสามารถนำเงินกองมรดกของผู้ตายมาชดใช้หนี้ได้

อย่างไรก็ตามในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ก็ระบุเพิ่มเติมว่า “ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน” ดังนั้นในกรณีนี้หากกองมรดกของ “สมัคร สุนทรเวช” มีไม่ถึงจำนวนที่ต้องชดใช้ ทายาทซึ่งได้แก่คู่สมรสและบุตร ไม่จำเป็นต้องชดใช้ด้วย และเมื่อดูจากบัญชีทรัพย์สินของคุณหญิงสุรัตน์ และบุตร มีไม่ถึงจำนวนดังกล่าว และหากพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่กองมรดก ก็ไม่จำเป็นต้องชดใช้แต่อย่างใด

ในเว็บไซต์ของเทศบาลตำบลเนินกุ่ม (https://bit.ly/3y7bdpX) ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า “หนี้ เป็นมรดก เพราะหน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แม้ว่าเจ้ามรดกจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หน้าที่ในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้จะยังคงอยู่ แล้วทายาทจะต้องชำระหนี้เท่าไหร่ ต้องชำระทั้งหมดเลยมั้ย แล้วถ้าเงินที่มีไม่พอจ่ายจะทำอย่างไร. . .เมื่อเจ้ามรดกมีหนี้สินในจำนวนที่มากกว่าทรัพย์มรดก หรือมีแต่หนี้สิน ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใดๆ ให้แก่ทายาทเลย ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับ ดังนั้นหากผู้ตายมีแต่หนี้สิน และไม่มีทรัพย์มรดกเลย ทายาทก็ไม่ต้องรับผิดชอบในหนี้สินนั้น  แต่หากมีทรัพย์มรดกเกินกว่าหนี้สิน ทายาทต้องชดใช้หนี้สินที่มีทั้งหมดก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมรดกมาแบ่งกัน”

“แต่หนี้สินถือเป็นมรดก เจ้าหนี้ทวงเงินกับทายาทได้เพียงเท่ากับมรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้น ทายาทก็ไม่ต้องจ่าย โดยเจ้าหนี้ต้องฟ้องทายาทให้ชำระหนี้กองมรดกภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้าหนี้ได้ทราบหรือควรทราบถึงความตายของเจ้ามรดก หรือภายในกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และต้องฟ้องทายาททุกคน จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้”

“มรดก เกิดขึ้นเมื่อ บุคคลถึงแก่กรรม และมรดกของบุคคลนั้น จะตกทอดถึงทายาททันที ทั้งทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิด โดยทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดที่เกิดขึ้นพร้อมกันหรือเนื่องจากความตายของเจ้ามรดก  มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมถึงสิทธิผูกพันในสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สิทธิและหน้าที่ เช่น หน้าที่ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และความรับผิดต่างๆ เช่น การผิดสัญญาและการละเมิด เป็นต้น ทั้งหมดเรียกรวมกันว่า ‘กองมรดกของผู้ตาย’ ดังนั้น เวลาที่รับมรดกมา ต้องเข้าใจไว้ว่าจะต้องรับภาระหนี้สินของผู้ตายมาด้วย ทายาทจึงควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามรดกที่ได้เป็นทรัพย์สิน และหนี้สินอะไรบ้าง นอกจากนี้ขอแนะนำด้วยว่าหากมีหนี้ก็ควรจะต้องบอกคนในครอบครัวหรือทายาทได้ทราบไว้ด้วย เพื่อที่จะได้ไปชดใช้เจ้าหนี้ให้เรียบร้อย และจะได้ไม่เป็นปัญหาเมื่อแบ่งมรดกไปแล้ว”

กรณีนี้จึงไม่ใช่การเอาผิดย้อนหลัง หรือไปเอาผิดกับบุคคลอื่น แต่เพียงไปยึดทรัพย์ที่เป็นกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login