วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“พระดังสึก(เอง)แล้วไปทำอะไร” โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

On January 7, 2022

คงเดาได้ ว่าบทความจะเกี่ยวข้องกับอดีตพระดังสองรูปที่เพิ่งสึก  ก่อนสึกซีกเชียร์รัฐบาลก็จะวิจารณ์ในทางไม่ค่อยดีนัก เพราะแฟนคลับท่านจำนวนมากชูสามนิ้ว ซีกขี้อิจฉาดัดจริตอ้างเพื่อการศาสนาก็ไปไกลว่าทรัพย์สินส่วนตัวท่าน ที่ญาติโยมถวายจะต้องโอนให้ให้วัดหรือสำนักพุทธฯ (กับกิจกรรมที่วัดไปสร้างเทพปูนปั้น คนไปทำบุญ นำทางให้คนไม่ถือพุทธหรือเชื่อผิดๆ กฎเกณฑ์เอื้อศาสนาอื่น กลับ เงียบไม่แก้ไขแล้วยังมี สว ให้เก็บภาษีพระอีก) ที่เสียดายพระดีเป็นห่วงว่าจะปฏิบัติไม่เหมาะสมกับเป็นผู้บวชเรียนแล้วก็มี ลองมาดูพระดังในอดีตที่สึกเองแล้วไปทำอะไร

หลวงวิจิตรวาทการ (เกิด อุทัยธานี, 2441-2505) อายุ 8 ขวบได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง เมื่อจบชั้นประถมได้บวชเณรที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เรียนบาลี นักธรรมจนได้เปรียญ 5 ประโยค และยังเรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสด้วยตัวเองอีกด้วย คนเขียนในวิกิพีเดียบางที่ ก็ใจแคบไปหน่อยหรือด้อยค่าการศึกษาจากวัด ที่ระบุการศึกษาท่านเพียงจบมหาวิทยาลัยปารีส อายุ 20 ปีได้บวชเป็นภิกษุแต่อยู่ไม่นาน ก็ออกมารับราชการที่กระทรวงต่างประเทศ ชีวิตราชการและผลงานท่านมากมาย ท่านเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์  เป็นนักประวัติศาสตร์ นักประพันธ์ และอะไรอีกหลาย นักฯ ท่านเป็นผู้เสนอ จอมพล ป. ให้เปลี่ยนชื่อประเทศ จาก สยาม เป็น ประเทศไทย ท่านเป็นผู้แต่งเพลง ตื่นเถิดชาวไทย  รักเมืองไทย ต้นตระกูลไทย และละครอิงประวัติศาสตร์มากมาย

พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์(เกิดอุบลราชธานี, 2459-2515 ) ปี  2474 ได้บวชเป็นสามเณร ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สามารถสอบ นักธรรม ตรี โทและเอกได้ ภายใน3ปีเป็นนักเทศน์ดังตั้งแต่เป็นสามเณร ปี 2479 ได้อุปสมบทที่วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ได้รับฉายา วิริยากโร ปี  2487  ท่านสึกและสอบเป็นอนุศาสนาจารย์ที่กองทัพบก การงานในทางราชการก้าวหน้าจนได้เป็นอธิบดี กรมการศาสนา ท่านเป็นนักบรรยายธรรมทางวิทยุและโทรทัศน์และนักประพันธ์ ผลงานเขียนในทางศาสนามีมากมาย เช่น พุทธศาสตร์ เรือนชั้นใน เรือนชั้นนอก มุมสว่างเป็นต้น ท่านมีสวนสำคัญทำให้เกิดโครงการพระธรรมทูต

สุชีพ ปุญญานุภาพ (เกิดนครปฐม, 2460 -2543 ) ปี  2473 ท่านได้บวชเณร ที่วัดสัมปทวน จังหวัดนครปฐม ขณะบวชเณรก็ได้ศึกษาจนได้เปรียญ7 และได้อุปสมบทที่วัดกันมาตุยาราม เขตสัมพันธวงศ์ ได้รับฉายาว่า สุชีโว ท่าน ศึกษาต่อจนได้ เปรียญ 9 ท่านใฝ่รู้ได้ศึกษาวิชาต่างๆด้วยตัวเอง เช่น ภาษาอังกฤษ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น ท่านอยู่ในสมณเพศ จนได้บรรดาศักดิ์ เป็นพระศรีวิสุทธิญาน เมื่ออายุ 35 ท่านลาสิขา   ณ เวลาที่ท่านสีก กล่าวกันว่าญาติโยมที่เสียดายถึงขั้นร้องไห้ก็มี หลังจากนั้นปีเศษ ได้เข้าทำงานในวงราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการเชิญท่านไปช่วยงานมากมาย     ท่านเป็นต้นคิดว่าควรมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งแนวคิดท่านถูกต่อต้าน โดยพระผู้ใหญ่ในขณะนั้นมาก จนเมื่อ ท่านได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์และพระมหาเจริญ สุวฑฒโน วัดบวรนิเวศ(ซึ่งก็คือสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อมา มหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกจึงเกิดขึ้น ด้านงานเขียน งานประพันธ์ ก็มากมาย โดดเด่นเช่นเดียวกับสองท่านแรก เช่นพระไตรปิฎกสำหรับประชาชน ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ กองทัพธรรม เชิงผาหิมพานต์ เป็นต้น

แสง จันทร์งาม(เกิดขอนแก่น, 2470-2561 )ท่านได้รับเปรียญ 6 ประโยคขณะบวชที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ขณะบวชและเป็นพระนักศึกษาที่ มหามกุฎราชวิทยาลัย พระศรีวิสุทธิญาณ(สุชีพ ปุญญานุภาพ) อาจารย์ท่าน ได้แนะนำให้แสดง ธรรมเป็นภาษาอังกฤษต่อหน้าชุมชน และให้ร่วมเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศขณะเป็นมหาแสง โฆสธมโม ท่านได้รับปริญญาตรีจาก มหามกุฎราชวิทยาลัยต่อมาได้รับทุนจาก บริติชเคาน์ซิล และมูลนิธิเอเชีย ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ และสหรัฐ ตามสำดับ  งานในวงราชการ ก้าวหน้ามาตลอด  เช่น เป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ  งานบรรยาย งานเขียน งานประพันธ์ วิชาการ นิยายอิงธรรมะมากมายที่เด่นมาก ก็เรือง ลิลาวดี โดยท่านใช้นามปากกา ว่า ธรรมโฆษ

จำนงค์ ทองประเสริฐ(เกิดสระบุรี,  2472 )บวชราว  2486 ที่วัดสระเกศจนได้เปรียญ9ประโยค ต่อมาได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐ ลาสิขาปี 2507เป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรก เป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นราชบัณฑิต งานเขียนงานวิชาการท่านมากมาย เช่น วัฒนธรรมไทย ภาษาไทย แผนกู้อิสรภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ ปรัชญาประยุกต์ชุดตะวันตก

วศิน อินทสระ(เกิดสงขลา,2577- )บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ๑๓ที่วัดบุปผารามและอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อปี 2497ลาสิกขาเมื่อปี  2507  ได้เปรียญธรรม๗ประโยค ชีวิตราชการ เป็นอาจารย์ โรงเรียนเตรียมทหาร และมหามกุฎราชวิทยาลัย ผลงานเขียน งานประพันธ์ ท่านมากมาย เช่นพระอานนท์พุทธอนุชา พระพทุธโอวาทก่อนปรินิพาน นอกจากนี้ยังมีรายการทางวิทยุอีกด้วย ท่านมีเพจ ชื่อของท่านแต่มี ระบุว่า ผู้สร้างเพจไม่ใช่ท่านแต่ท่านอนุญาตให้ทำเพื่อเผยแผ่ธรรมะและตอบปัญหา

เสฐียรพงษ์ วรรณปก (เกิดมหาสารคาม, 2482-   ) ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน ต่อมาจำพรรษาที่วัดทองนพคุณ คลองสาน ได้เปรียญ9 ประโยคขณะเป็นสามเณร ปี 2508 ได้เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยการประสานงานของ        สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้อักษรศาสตร์ เกียรตินิยม ปี 2514 ลาสิขา และรับราชการเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัย ศิลปากร เป็นคาสตราจารย์ และสอนหนังสืออีกหลายแห่งเขียนบทความลงสังคมศาสตร์ ปริทัศน์ ตั้งแต่เป็นภิกษุ เป็นนักเขียนประจำในนิตยสารและ หนังสือพิม ต่างๆ ท่านมีเพจ ในเฟสบุคเช่นกัน

แน่นอนว่าพระดังที่สึก(เอง)ไม่ได้มุ่งสู่นิพพานแต่ในฐานะฆารวาสก็ได้ทำงานช่วยชาติมากมาย หลายท่านต่อมาจีบสาว แต่งงานมีครอบครัว ก็ยังทำงานให้สังคมอยู่ไม่จำเป็นต้องคิดว่าพระทีสึกร้อนผ้าเหลือง เกือบทั้งหมดสื่อสารกับสังคมผ่านการเขียน วิทยุและโทรทัศน์ แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจึงเริ่มมีการใช้เฟสบุค จึงไม่แปลกอะไรที่รุ่นต่อมาจะใช้การสื่อสารที่แปลกใหม่ บทความนี้จะตกหล่นทางวิชาการหากไม่กล่าวถึง พระวชิรญาโณภิกขุอยุ่ในสมณเพศจนเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เมื่อลาสิขาได้ทำงานให้ชาติไทยพ้นภัยและรุ่งเรือง ในฐานะ สมเด็จพระจอมเกล้า


You must be logged in to post a comment Login