วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ชวนมองมิติสุขภาพจิตการศึกษาไทยกับการระบาดระลอกใหม่รับเปิดเทอม 2564

On July 1, 2021

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19ที่กำลังแพร่ระบาดในสังคมไทยตั้งแต่ระลอก1ถึงระลอก3ในขณะนี้ ทำให้มีการมองระบบการศึกษาไทยถึงจุดที่จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ะระบาดในขณะนี้ อาทิ การปัดฝุ่นเครื่องแบบนักเรียนพร้อมกับโหลดแอพพลิเคชั่นการศึกษาทางไกลกันใหม่หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.) ไฟเขียวให้กระทรวงศึกษาธิการเลื่อนวันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 1 มิถุนายนออกไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายนและมีโรงเรียนหลายแห่งก็ได้เลื่อนเปิดเทอมไปถึงเดือนกรกฎาคม 

นอจากนี้  ยังได้มีข้อสงสัยถึงความพร้อมของระบบในการจัดการบริหาร ว่ามีความพร้อมจริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องที่มักถูกดูเบากว่าปัญหาอื่นๆ อย่างการจัดการสถานการณ์ความเครียดของผู้เรียนและความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยกลุ่มโรคทางจิตเวชภายใต้การศึกษาแบบ New Normal ว่าปัจจุบันสถานการณ์เป็นไปอย่างไรกันแน่ 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(วสศ.)กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ได้นำเสนอมุมมองมิติปัญหาดังกล่าว  พร้อมสร้างความกระจ่างว่าปัญหาสุขภาพจิตสำคัญต่อการศึกษาอย่างไร  เราลองมาติดตามกันดู 

ประเด็นที่1: ท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมกำลังตึงเครียดจากโรคระบาด สุขภาพจิตสำคัญอย่างไรกับการพัฒนาทุนมนุษย์ 

จริงๆ เรื่องสุขภาพจิตก็ไม่ต่างจากสุขภาพกายในด้านความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะหากจิตใจของมนุษย์ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติสมบูรณ์ก็ย่อมส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เช่นกันหากเรามองเรื่องของทุนมนุษย์ตามนิยามเศรษฐศาสตร์ในแง่ของการสั่งสมปัจจัยภายในต่างๆ ของมนุษย์อันจะนำไปสู่ชีวิตที่ดี มีความสุขสมบูรณ์ โดยเฉพาะปัจจัยอันเป็นผลพวงจากการลงทุนด้านการศึกษา การฝึกทักษะอบรมต่างๆ หรือด้านสุขภาพ ซึ่งมักจะแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่มีระดับการศึกษาที่สูงกว่าหรือได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่า มักจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาน้อยกว่า  

ประเด็นข้างต้นเป็นแนวคิดที่คนทั่วไปมักจะพูดถึงกัน แต่เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องของสุขภาวะทางจิตที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของชีวิตมากนัก ไม่ค่อยมีการนำปัจจัยทางสุขภาพจิตมาทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน แม้แต่การสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลก็มีน้อย คนในแวดวงการศึกษาหรือโรงเรียนเองก็ยังให้น้ำหนักต่อข้อมูลชุดอื่นๆ เช่น เกรด คะแนน ผลสัมฤทธิ์ หรือข้อมูลสุขภาพทางกาย เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง มากกว่าข้อมูลสุขภาพจิตของเด็ก เช่น ความกังวล ความเครียด ภาวะซึมเศร้า การทำร้ายตนเอง หรือการฆ่าตัวตาย  

ในประเทศไทย การให้ความสำคัญกับครูแนะแนวหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับโรงเรียนในยุโรปหรือสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกามีนักจิตวิทยาในโรงเรียนทั้งหมดจำนวนกว่า 30,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 คน ต่อเด็ก 1,400 คน ซึ่งเขามองว่ายังมีนักจิตวิทยาโรงเรียนน้อยเกินไปด้วยซ้ำ (สมาคมนักจิตวิทยาโรงเรียนของสหรัฐ ระบุว่าควรจะมี 1 ต่อ 1,000 และในแต่ละโรงเรียนไม่ควรน้อยกว่า 1 คน ต่อเด็ก 500-700 คน) ในขณะที่ประเทศไทยมีนักจิตวิทยาโรงเรียนซึ่งทำงานอยู่ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาจำนวน 225 เขตเท่านั้น อาจจะเพราะทัศนคติของสังคมไทยแต่เดิมที่ยังคงมองว่าการพึ่งพานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ คนอาจจะไม่เห็นว่าสำคัญหรือไม่กล้าไปขอรับคำปรึกษา กลัวถูกคนอื่นมองไม่ดี ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะเป็นเรื่องปกติเวลาที่เรามีความเครียด กังวล หรือมีภาวะซึมเศร้า เราก็สามารถไปหานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้ เหมือนไปหาหมอหรือหาวิธีรักษาโรคอื่นๆ แต่ปัจจุบันนี้ทัศนคติมีแนวโน้มค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  

ประเด็นที่ 2 : ปัญหาสุขภาวะทางจิตของเยาวชนในสังคมไทย มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยหรือไม่ 

แน่นอนว่ามีความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น ทำไมนักเรียนบางคนถึงสามารถเข้าถึงโรงเรียนที่มีทรัพยากรหรือมีระบบการดูแลป้องกันสุขภาพต่างๆ ได้มากกว่า หรือสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาและครูแนะแนวที่ดีกว่าโรงเรียนอื่นๆ ในขณะที่เด็กยากจนอาจไม่มีโอกาสเข้าถึงการบริการแบบนี้เพราะโรงเรียนของเขาไม่มีทรัพยากรให้อย่างที่ได้กล่าวไปว่าทั้งประเทศไทยอาจจะมีนักจิตวิทยาโรงเรียนที่ทำงานกับโรงเรียน สพฐ. จำนวนไม่มากนัก หรือทำงานกับเขตพื้นที่การศึกษาแห่งละคนเท่านั้น ในขณะที่โรงเรียนเอกชนบางแห่งหรือโรงเรียนนานาชาติมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน มีการลงทุนในเรื่องนี้สูงกว่า ไม่รวมถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ความรุนแรง หรือยาเสพติด ซึ่งมักเกิดกับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือด้อยโอกาสมากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีความพร้อมต่างๆ ในชีวิต ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่มีฐานะดีกว่าจะไม่มีปัญหาสุขภาวะทางจิต แต่โอกาสในการได้รับการดูแลก็ถือว่ายังดีกว่าเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสอยู่มาก   

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 การเก็บข้อมูลค่อนข้างเยอะว่าเด็กในกลุ่มวัยรุ่นต้องเจอสภาพปัญหา mental health มากกว่าวัยอื่น เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจจากการเป็นเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ธรรมชาติของนักเรียนในช่วงวัยนี้ต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ ต้องการแสวงหาเอกลักษณ์ของตน แต่เมื่อต้องเจอกับปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้พวกเขาไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ แบบที่วัยรุ่นมักจะต้องทำ การต้องนั่งอยู่หน้าจอคนเดียววันละหลายๆ ชั่วโมง ความกังวลต่อการเรียน การสอบต่างๆ ความเครียดจึงค่อยๆ เกิดขึ้น บางคนอาจต้องเผชิญปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ บางคนต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือความเครียดจากการที่สมาชิกครอบครัวต้องมาอาศัยอยู่รวมกันในบ้านเป็นเวลายาวนานกว่าปกติ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบไปสู่ความสามารถในการเรียน  

“กล่าวได้ว่าการเรียนออนไลน์นั้นอาจไม่ตอบโจทย์กับสุขภาวะทางจิตเท่าไหร่นัก  เพราะการที่ต้องจดจ่ออยู่หน้าจอนานๆ จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาวะซึมเศร้าและอาจเกิดความเครียดสะสมเรื้อรังได้ง่าย” ภูมิศรัณย์   กล่าวสรุป 

ในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลจากการสำรวจนักเรียนมัธยมปลายจากกลุ่มตัวอย่าง 1,400 คน พบว่า 1 ใน 3 ไม่มีความสุข มีสภาวะซึมเศร้า ข้อมูลสถิติจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐยังพบว่า หลังเกิด COVID-19 เด็กอายุ 5-11 ปี และอายุ 12-17 ปี ต้องเข้าห้องฉุกเฉินอันเป็นผลจากอาการทางจิต เช่น โรคแพนิค (Panic) วิตกกังวล (Anxiety) เพิ่มขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ และ 31 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบว่า การมีความคิดในการฆ่าตัวตาย (suicidal thought) ในกลุ่มวัยรุ่นก็มีสูงขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงก่อนการล็อคดาวนซึ่งสถานการณ์ของประเทศไทยก็อาจจะไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่ผมยังไม่เคยเห็นตัวเลขเหล่านี้ 

ประเด็นที่3: ปัญหาสุขภาวะทางจิตในเด็ก มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยไหม 

มีส่วนอยู่บ้าง เพราะเด็กที่มีปัญหาความเครียด ความกังวล สภาวะซึมเศร้าต่างๆ จะส่งผลไปสู่ความสามารถในการเรียน หากเมื่อสภาพปัญหายังคงดำเนินต่อไปจนเด็กเกิดความท้อแท้ที่จะเรียนหนังสือ ไม่อยากไปเรียน เพราะเครียด กดดัน หรือเรียนไม่ทันคนอื่น ก็จะส่งผลต่อแรงจูงใจในการเรียนต่อ โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มที่มีสภาวะเปราะบางหรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยิ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ 

นอกจากนั้นหากเด็กไม่ได้รับการดูแลปัญหาความเครียดที่ดีพอ ยังอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ยาเสพติด พฤติกรรมต่อต้านสังคม หรือไปคบเพื่อนฝูงที่เกเร สุดท้ายอาจทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ตามเป้าหมายทางการศึกษาที่เคยตั้งเอาไว้แต่แรกได้อีกด้วย  

ปัญหาด้านสุขภาวะทางจิตของเด็กในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากความเครียดที่เกิดจากการปรับสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่เปลี่ยนไป การเรียนแบบระยะไกลนั้นอาจจะได้ผลดีกับเด็กบางกลุ่มที่ชอบความเป็นอิสระ และสามารถทำงานหรือศึกษาหาความรู้ด้วยจังหวะของตนเองได้ดีกว่าการนั่งเรียนในห้อง ขณะที่เด็กอีกกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า ชอบการเรียนการสอนแบบได้เจอกันในห้องมากกว่า ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้อาจเกิดความเครียดและกดดันตนเองหนักขึ้นเมื่อต้องเรียนแบบ New Normal  

ประเด็นที่4: ในฝั่งของครูผู้สอนเอง มีปัญหาความเครียดและสุขภาวะทางจิตอย่างไรบ้างจากการที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ 

โดยทั่วไปครูเองก็มีความเครียดเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากต้องเตรียมการสอนแบบทางไกล ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ถนัด การต้องปรับตัวกับการใช้เทคโนโลยี การไม่สามารถที่จะได้เจอตัวเด็กจริงๆ การต้องพูดคนเดียวหน้าจอนานๆ การไม่ได้พบปะเพื่อนร่วมงาน หรือการที่ต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจของตนเองหรือคนในครอบครัวอันเนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นความเครียดสะสมได้  

ตัวครูเองก็พยายามหาแนวทางการสอนเพื่อไม่ให้ทั้งตัวครูและเด็กมีความเครียดมากเกินไป ผมเห็นบางโรงเรียนที่ครูใช้วิธีให้แต่ละคนเล่าความรู้สึกต่างๆ ก่อนเรียน เพื่อเช็คสุขภาวะทางจิตของแต่ละคน ไปจนถึงการจัดหาช่องทางการติดต่อระหว่างครูและเด็กเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ขึ้นอยู่กับความถนัดและเหมาะสมของครูแต่ละคน เครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะเหล่านี้ก็พอจะมีช่องทางอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันครูเองก็ต้องมีความรู้และความสามารถในการแสวงหาหรือนำมาปรับใช้ให้ได้ผลด้วย 

ผมเพิ่งได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงยาวนานกว่าหลายจังหวัด เพื่อร่วมกันหาทางสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อฟื้นฟูการเรียนของนักเรียนที่หายไป (learning loss) นอกจากการฟื้นฟูเรื่องวิชาการแล้วก็ยังมีการคุยถึงประเด็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจของทั้งเด็กและครูมากขึ้น เช่น การฝึกฝนให้ครูมีแนวทางในการติดตามสุขภาพจิตของเด็ก หรือการเสริมกำลังนักจิตวิทยาโรงเรียน อาจจะมีช่องทางการรับฟังเสียงสะท้อนของนักเรียนทั้งก่อนและหลังการเรียน เราคงพูดได้ว่าทางฝั่งครูเองก็พยายามหาทางออกอย่างใส่ใจกับสภาพสุขภาวะทางจิตเพิ่มขึ้นหลังจากเราต้องอยู่กับ COVID-19 มากว่า 1 ปี และอาจจะต้องอยู่กันต่อไปอีกสักพัก 

ประเด็นที่6: ทั้งนักเรียนและครูใส่ใจสุขภาวะทางจิตมากขึ้น ทางฝั่งผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง 

ผมคิดว่ากรมสุขภาพจิตก็พยายามจัดโปรแกรมในการทำงานกับโรงเรียนมากขึ้น เช่น การทำแอพพลิเคชั่น HERO สำหรับใช้ประเมินคัดกรองสุขภาพจิตของนักเรียนในเบื้องต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิตกับ สพฐ. หรือมีความพยายามในการจัดหลักสูตรอบรมสั้นๆ ให้ครูประจำชั้นมีสมรรถนะในการเป็นนักจิตวิทยาโรงเรียนได้ ซึ่งผมมองว่าเทรนด์นี้กำลังเป็นไปในเชิงบวก เพราะเริ่มมีการพูดถึงจิตวิทยาในโรงเรียนกันมากขึ้น เช่น แนวคิด Positive Psychology การส่งเสริม Growth Mindset มีความพยายามในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งหรือ bullying ในโรงเรียนมากขึ้น หรือการเน้นความสำคัญเรื่องทักษะอารมณ์สังคม (socioemotional skills) ของนักเรียน แต่ที่ประเทศเรายังมีนักจิตวิทยาโรงเรียนน้อยนั้นอาจเป็นเพราะในอดีตเรายังไม่เห็นความสำคัญมากพอ ซึ่งโดยหลักการแล้วควรมีนักจิตวิทยาโรงเรียน 1 คน ต่อ 1 โรงเรียนด้วยซ้ำ ตรงนี้จึงทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยยังมีน้อยกว่าประเทศตะวันตก แต่ก็อาจจะเป็นเพราะสังคมตะวันตกเขามีปัญหาที่รุนแรงมาก่อนเราก็เป็นได้ เช่น ในอเมริกามีปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนค่อนข้างมาก เช่น มีการกราดยิงในโรงเรียนต่างๆ เขาจึงค่อนข้างให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้  

“การที่ประเทศไทยมีความใส่ใจในด้านสุขภาวะทางจิตยังไม่มากพอ ก็ยิ่งทำให้การลงไปเก็บข้อมูลมีน้อยตามไปด้วย

ขอบพระคุณมาก


You must be logged in to post a comment Login