วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ม.มหิดล แนะแนวทางส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นในยุคดิสรัปชั่น

On September 19, 2020

วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” โดยมีขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นปีที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น “ปีแห่งเยาวชนสากล” โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความหมายของคำว่า “เยาวชน” ว่าหมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 24 ปี ในขณะที่ “วัยรุ่น” หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 10 – 19 ปี ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกของการเป็นเยาวชน ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในยุคดิสรัปชั่น หรือ 5G ที่กำลังจะมาถึง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อชีวิตวัยรุ่นในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสุขภาพ จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำให้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ในขณะที่ด้านร่างกายของวัยรุ่นเองก็มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอยู่แล้ว  วัยรุ่นจึงจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

12

ปัญหาทางสุขภาพวัยรุ่นที่เร่งด่วน ได้แก่ ปัญหาโรคติดต่อ ทั้งโรคติดต่อทั่วไป และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HIV ที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ได้แก่ ปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ปัญหาภาวะโภชนาการ การออกกำลังกายที่น้อยลงจนทำให้เกิดโรคเรื้อรัง ตลอดจนปัญหาสุขภาพจิต  ซึ่งเกิดจากความเครียดในการใช้ชีวิตที่เร่งรีบแบบสังคมเมือง และสัมพันธภาพที่ห่างเหินของครอบครัวทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา  เช่น การใช้สารเสพติด การกลั่นแกล้งรังแก (BULLY) และปัญหาพฤติกรรมทางเพศ ฯลฯ

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจในการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น โดยมีบทบาทหลักในการพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่บริการวิชาการสังคม โดยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ เพื่อที่จะได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถป้องกันปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้ด้วยตนเอง

13

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี มองว่า การใช้โรงเรียนเป็นฐาน หรือส่วนกลางในการแก้ปัญหา จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ โดยจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นได้ตระหนักถึงปัญหา และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นที่ยั่งยืนต่อไป โดยข้อมูลที่ได้จากนักเรียน และผู้ปกครองจะทำให้ครูทราบปัญหา และให้คำแนะนำวัยรุ่นได้ทันที และยังประสานไปยังภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

“วัยรุ่นเป็นวัยที่มีศักยภาพ และเปี่ยมด้วยพลังงานตามธรรมชาติ หากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมที่เพียงพอและเหมาะสมจะทำให้เกิดการพัฒนาในตัวเอง สู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี กล่าวทิ้งท้าย

14

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login