วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ป.เอก ม.มหิดล วิจัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ทำนายโรคจากโครงสร้างทางประชากร เตรียมขยายผลควบคุม Covid-19 ระบาดระลอกใหม่

On August 30, 2020

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วิริยะ มหิกุล ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลผลงานวิทยานิพนธ์ดี สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพประยุกต์ ประจำปีงบประมาณ 2563 จัดโดย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัยเรื่อง “แบบจำลองทางคณิตศาสตร์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลกระทบทางระบาดวิทยาของ โรคติดเชื้อ: กรณีศึกษาของ Melioidosis และ RSV” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิริชดา ปานงาม ภาควิชาสุขวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน  มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก

ซึ่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อการทำนายโรค คือ การนำเอาหลักการทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการจำลองสถานการณ์ของโรคจากการลงพื้นที่จริง หรือจากรายงาน แล้วนำข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนนำไปสู่แนวทางในการประเมินสถานการณ์ ประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทางระบาดวิทยาได้ต่อไป

2

ผลงานวิจัยด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายโรคของ ดร.วิริยะ มหิกุล สร้างขึ้นตามโจทย์โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลง เพื่อดูผลกระทบการเกิดโรค จากกรณีศึกษาโรคติดเชื้อที่พบมากในเด็กและในผู้สูงอายุ โดยในเด็กได้ศึกษาจากอุบัติการณ์ของโรค RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจที่สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ โดยพบอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นในประเทศไทยในเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวขยาย และโรค Melioidosis หรือโรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ปนเปื้อนได้ในน้ำและดิน เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนังหรือปอด ซึ่งจะพบอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ ไอ มีเสมหะ โดยมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงมากในวัยผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ได้มีการพยากรณ์ว่าโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวานสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ดินได้ง่ายขึ้น ซึ่งผลการวิจัยคาดว่าจะสามารถขยายผลประยุกต์ใช้เสนอเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการวางแนวนโยบายสาธารณสุขของประเทศ

3

ล่าสุด ดร.วิริยะ มหิกุล ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายแนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่อาจเกิดขึ้นระลอกใหม่ รวมถึงการประเมินผลการป้องกัน ควบคุมโรค อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม และการระงับการเดินทางเข้าออกประเทศ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจในเชิงนโยบายสาธารณสุข และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการควบคุมและป้องกันโรคในประเทศไทยอีกด้วย

 

ข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม  นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login