วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ม.มหิดล พัฒนาระบบออนไลน์ติดตามงานวิจัย มุ่งเพิ่มยอดโครงการสู่ระดับโลก

On July 31, 2020

ปัจจัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก จำเป็นต้องอาศัยแนวคิดของ Entrepreneurial University หรือ มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ ซึ่งหนึ่งในภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในยุคดิสรัปชั่นจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการสร้างนวัตกรรมในเชิงเศรษฐกิจ จึงจะทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และลดภาระจากการต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) เป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ทำหน้าที่สนับสนุนแนวคิดของการใช้ประโยชน์ของงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ เพิ่มโอกาสในการโอนถ่ายองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในรูปแบบของการให้ใช้สิทธิ์ (Technology Licensing) และการสร้างธุรกิจ Startup โดยมีภารกิจสำคัญประกอบด้วยงานด้าน Research-Academic Services หรือ บริการด้านวิจัยและบริการวิชาการ Technology Commercialization หรือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ และ Entrepreneurial Eco-system หรือ ระบบนิเวศผู้ประกอบการ โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการสร้างนวัตกรรมในระดับนานาชาติ

จากการจัดอันดับโลกโดย Scimago ประเทศสเปน ที่จัดอันดับสถาบันต่างๆ โดยเน้นการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ปรากฏว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 – 2562 มหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานด้านนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดในประเทศไทย โดยมีผลงานการยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร รวมกว่า 100 เรื่อง ซึ่งสถาบัน iNT ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการให้บริการด้านงานวิจัยและนวัตกรรมแบบครบวงจร โดยในปัจจุบันมีโครงการรับทำวิจัย (Contract Research Projects) จำนวนกว่า 2,000 โครงการ ซึ่งในช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา สถาบัน iNT ได้ริเริ่มใช้ระบบ Research – Academic Service Tracking ซึ่งเป็นบริการใหม่ล่าสุดจากงานการบริหารจัดการการบริการวิจัยและวิชาการ (Research Academic Services Management) เพื่อติดตามสถานะโครงการงานบริการรับทำวิจัยได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านระบบออนไลน์

ดร.วนรักษ์ ชัยมาโย รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวว่า ช่วงวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ติดต่อเข้ามาให้สถาบัน iNT ดูแลจะเป็นเรื่องการทางการแพทย์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์และสุขภาพ ในขณะที่จำนวนโครงการมีเพิ่มขึ้นแต่เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เราจึงได้ริเริ่มระบบออนไลน์ Research – Academic Service Tracking นี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมภายในสถาบันเพื่อที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

2

ด้าน นางสาวสุทิศา นาคเรืองศรี หัวหน้างานรับทำวิจัยและบริการวิชาการ (RA) สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวเสริมว่า กระบวนการติดตามสถานะโครงการงานบริการรับทำวิจัย Research – Academic Service Tracking ผ่านระบบออนไลน์มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน นับตั้งแต่การรับเรื่อง ส่งเจ้าหน้าที่งานรับทำวิจัยและบริการวิชาการ (RA) และนิติกรตรวจสอบ ก่อนส่งให้ผู้อำนวยการสถาบัน iNT ตรวจความเรียบร้อย ถึงจะเสนออธิการบดีพิจารณาเป็นลำดับสุดท้าย แล้วส่งเรื่องคืน ซึ่งทั้งกระบวนการใช้เวลาเพียง 3 – 7 วัน โดยเราจะทำระบบให้สามารถติดตามได้ตั้งแต่เริ่มทำวิจัย ระหว่างทำวิจัย และระหว่างทำสัญญา หรือรับผลตอบแทน นอกจากนี้ทางสถาบัน iNT ยังมีแผนพัฒนาระบบออนไลน์ติดตามการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคต ซึ่งวิกฤต Covid-19 ได้เร่งให้เราได้สร้างและใช้ระบบดังกล่าว เพื่อลดการสัมผัส และภาระงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้ถึงสถานะการติดตามที่ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และทุกเวลาผ่านระบบออนไลน์

3

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจของ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ได้ที่ https://www.facebook.com/iNT.Mahidol.University/

 

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login