วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล บูรณาการด้านสาธารณสุขหลังคลายล็อคดาวน์

On May 15, 2020

จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)  ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยนำโมเดลทางด้านการแพทย์เข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤต โดยใช้ทฤษฎีทางระบาดวิทยา เน้นการค้นหาและควบคุมโรคในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง  ธนสุกาญจน์  คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า  ในช่วงที่จะเริ่มมาตรการคลายล็อคดาวน์ควรต้องพิจารณาหลายด้าน และหาแนวทางการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการผ่อนปรน หรือการคลายล็อคดาวน์ในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยมี  2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การฟื้นฟูประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 2. การสร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจปรับวิถีชีวิตตนเอง อันจะช่วยสร้างความยั่งยืนในการสร้างสังคมที่ปลอดภัย  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว พร้อมหารือกับเครือข่ายวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เพื่อหนุน

2

เสริมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการจัดการสุขภาพของครอบครัวและชุมชน งานด้านสาธารณสุขจึงมีส่วนสำคัญในการร่วมแก้ปัญหา ขับเคลื่อนชุมชนในการยกระดับความรู้ พัฒนาศักยภาพและทักษะในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครหรือจิตอาสาที่มีอยู่ในสังคม ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และการสื่อสารที่เข้าใจง่ายกับชุมชน รวมถึงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ทำให้เกิดเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา นักสาธารณสุขในประเทศไทย ร่วมถอดบทเรียนจากองค์การอนามัยโลก จากผู้เชี่ยวชาญกลุ่มต่าง ๆ เพื่อพัฒนาแนวคิดให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย เป็นคู่มือความปลอดภัยในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ สร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมช่วยให้ชุมชนมีศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นแนวหน้า แพทย์และพยาบาลเป็นแนวหลัง เมื่อมีการเปิดพื้นที่ มีการปรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ เน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)  ภายหลังการคลายล็อคดาวน์เป็นไปได้อย่างเหมาะสมกับบริบทและภูมิสังคมที่หลากหลายในสังคม ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหานั้นเอง ในพื้นที่ศูนย์วิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยการสนับสนุนจากประชาคม และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ได้ทำการทดลอง พัฒนา โดยใช้ชุมชนสูงเนิน จ.นครราชสีมา เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน ได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้โรคอุบัติใหม่ เป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนให้คนในสังคมนั้นได้ประเมินตนเอง สร้างความปลอดภัยจากโรคติดต่อ และเป็นผู้นำเครือข่ายให้ความรู้ในทุกพื้นที่ในประเทศไทย

3

“ที่จริงแล้ว อสม. ถือเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมากของนักสาธารณสุขในการร่วมทำงานสู้ กับวิกฤต COVID-19   ซึ่งเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก  อสม.ได้ลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ค้นหาผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสโรคในชุมชน  อนึ่ง ในชุมชนยังมีจิตอาสากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถเข้าร่วมและพัฒนาสุขภาวะของชุมชนอย่างยั่งยืนได้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงประสานค้นหาจิตอาสาจากเครือข่ายรัฐเอกชนในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว จังหวัดกาญจนบุรีที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งอยู่ พื้นที่ภาคใต้ที่มีความหลากหลายทางสังคมและศาสนา ตลอดจนพื้นที่อุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ โมเดลในการสร้างการมีส่วนร่วมด้วยนวัตกรรมของสังคม เพื่อทำให้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้สังคมปลอดภัยอย่างยั่งยืน ตลอดจนทำการพัฒนาการใช้ต้นแบบ Social Distancing  ในระบบการศึกษาสาธารณสุขของประเทศ  แล้วนำความรู้สู่เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน   ซึ่งจะช่วยให้สังคมรอดปลอดภัยภายหลังมาตรการผ่อนปรนการล็อคดาวน์ได้ในที่สุด”  รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์  กล่าวทิ้งท้าย


You must be logged in to post a comment Login