วันพฤหัสที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

วิทยาลัยราชสุดาเชิญชวนร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง “Run for Ratchasuda”

On September 27, 2019

ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ที่ปรึกษาวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการ และเลขานุการประจำมูลนิธิราชสุดา กล่าวว่า มูลนิธิราชสุดาเป็นมูลนิธิที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้น โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้สร้อยพระนามาภิไธย “ราชสุดา” เป็นมงคลนามพระราชทานนาม โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการวิจัยในเรื่องคนพิการทางกาย อันได้แก่ คนพิการหูหนวก หูตึง พูดไม่ได้ หรือพูดผิดปกติ พิการทางการมองเห็น ความพิการของสมอง พิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เปิดโอกาสให้ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกระดับเสมอด้วยคนทั่วไป

“คนพิการก็คือคน ไม่ได้แตกต่างจากเราเลย เพียงแต่เขาไม่ได้ยิน หรือมองไม่เห็น โดยเฉพาะคนหูหนวก ซึ่งรับสื่อจากเราไม่ได้ ต้องสื่อสารกันด้วยภาษามือ โชคดีที่ประเทศไทยเราใช้ภาษามือเป็นภาษาเดียวกันทั่วทั้งประเทศเป็นภาษาที่สาม ซึ่งนอกจากภาษาที่ให้เรียนในชั้นเรียนแล้ว ยังใช้เป็นภาษาในระดับชาติเลยทีเดียว หน้าที่ของเราก็คือพยายามทำให้คนหูหนวกที่ด้อยโอกาสได้มีอุปกรณ์ช่วยสื่อสารและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดย Run for Ratchasuda เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อการระดมทุน โดยมีคนหูหนวกร่วมกับนักศึกษาและบุคลากรของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแกนสำคัญ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิราชสุดา” ศ.เกียรติคุณ นพ.พูนพิศกล่าว

ด้าน พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ คณบดีวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรไทยในกลุ่มอายุ 5-24 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนที่น่าจะอยู่ในวัยของการศึกษา มีทั้งหมดประมาณ 17.4 ล้านคน พบว่าร้อยละ 3.1 หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 540,000 คน เป็นเยาวชนที่มีความพิการ ซึ่งน่าเป็นห่วงในเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งในขณะที่เป็นเยาวชนและตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนเยาวชนที่มีความพิการเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการศึกษา

2

“Run for Ratchasuda จัดขึ้นโดยไม่ได้หวังเพียงเรื่องการระดมทุนเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของนักศึกษาผู้พิการที่ด้อยโอกาส แต่เราหวังเรื่องการเรียนรู้ด้วยกันในรูปแบบของ “Inclusive Run” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมให้บุคคลที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายได้มาร่วมเดิน-วิ่งกับบุคคลทั่วไป ให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยเปิดพื้นที่เรียนรู้เรื่องดังกล่าว ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และจะพยายามให้มีขึ้นอีกในปีต่อๆไปเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

3

“การวิ่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพื่อมาออกกำลังกาย แต่เราจะมาเรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งการวิ่งกับนักวิ่งที่พิการทางการมองเห็นจะมีอาสาสมัครที่เป็นบัดดี้ทำหน้าที่วิ่งไปด้วยกันที่เรียกว่า “ไกด์รันเนอร์” ผู้มาร่วมกิจกรรมจะได้เห็นว่าจะช่วยผู้พิการได้อย่างไร ในอนาคตอาจมาเป็น “ไกด์รันเนอร์” ก็ได้ โดยเราจะไม่ทำให้วิ่งชนกัน บางท่านที่นั่งวีลแชร์อาจมาวิ่งด้วยก็ได้ เราจะได้มาเรียนรู้ด้วยกันว่าคนหนึ่งวิ่ง คนหนึ่งใช้รถเข็น จะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร” พญ.วัชรากล่าว

4

ดร.วรางคณา รัชตะวรรณ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและสื่อสารองค์กร วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมทิ้งท้ายว่า งานเดิน-วิ่ง “Ratchasuda College Mini Marathon ครั้งที่ 1 : Run for Ratchasuda” กำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ระยะทางคือ 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร ซึ่งมีถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นรางวัลสำหรับผู้สามารถคว้าอันดับ 1 OVERALL ชายและหญิง นอกจากนี้ผู้เข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 2-6 จะได้รับโล่รางวัล และผู้วิ่งเข้าเส้นชัย 50 คนแรกจะได้รับของที่ระลึก รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในการสนับสนุนการศึกษาของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สนใจสมัครได้ที่ https://rs.mahidol.ac.th/thai/run-for-ratchasuda-2019.php สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณวรรณรัตน์ ทับแก้ว โทร.0-2889-5315 ถึง 9 ต่อ 1107 E-mail : wanarat.tab@mahidol.edu


You must be logged in to post a comment Login