- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 13 hours ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 14 hours ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 14 hours ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 14 hours ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 2 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 5 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 6 days ago
- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 7 days ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 1 week ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 1 week ago
เกมสร้างตำนาน
คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ
(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 5 – 12 เมษายน 2562)
กลุ่มเป้าหมายถูกหลอกล่อให้เข้าไปเล่นเกมที่มีสถานที่จริงเป็นเวที ทำให้หลงผิดคิดไปว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเกมเป็นเรื่องจริง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการออกแบบที่ชาญฉลาดของนักพัฒนาเกม
เช้าวันหนึ่งในปี 2000 โจเซฟ มาเธอนี นักเขียนนิยายและนักออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ ตื่นขึ้นมาพบว่ามีกลุ่มคนแปลกหน้ากางเต็นท์นอนอยู่ที่สนามหญ้าหน้าบ้าน แต่เขาไม่ได้ให้ความสนใจ ครู่ใหญ่ๆก็มีชายคนหนึ่งมายืนเกาะหน้าต่าง ใช้มือป้องตาส่องเข้ามาดูในบ้าน ขณะที่ชายหนุ่ม 3 คนวัย 20 ต้นๆเดินเตร่ไปเตร่มาบนสนามหญ้า
โจเซฟรู้ดีว่าคนกลุ่มนี้มาที่บ้านเขาทำไม ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1980 โจเซฟเขียนเกมอองส์แฮต (Ong’s Hat) เป็นเกมแนวเล่าเรื่อง ผู้เล่นเกมมีหน้าที่ไขปริศนาที่ซ่อนอยู่ในเกม สามารถเล่นพร้อมกันได้หลายคน แต่เดิมนั้นโจเซฟไม่ได้ต้องการสร้างเกม เขาเพียงต้องการทดลองว่าข่าวสารจะแพร่กระจายออกไปได้กว้างไกลมากแค่ไหนหากยัดเยียดข้อมูลไปตามสื่อหลายประเภทในเวลาเดียวกัน
โจเซฟสร้างเรื่องลึกลับขึ้นมาเรื่องหนึ่งโดยใช้สถานที่และข้อมูลบางส่วนที่มีอยู่จริง แต่เรื่องราวเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา กระจายข่าวสารไปตามสื่อประเภทต่างๆ เช่น แผ่นพับ จดหมาย กระดานข่าว ฯลฯ เมื่อผู้รับข่าวสารเสพข่าวจากแหล่งที่แตกต่างกันทำให้พวกเขาถูกชักจูงให้เชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจริง
อองส์แฮตเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องรวมตัวกันสร้างศูนย์วิจัยการเดินทางไปยังโลกคู่ขนาน สถานที่ทำการทดลองเป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่กลางป่าทึบชื่ออองส์แฮต ตั้งแต่นั้นมาคนในหมู่บ้านก็ทยอยหายตัวไปทีละ 1-2 คน จนกลายหมู่บ้านร้างในที่สุด
ช่วงระหว่างปี 1994-2000 โจเซฟแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มกระดานข่าวโลกอินเทอร์เน็ตที่รู้จักกันในชื่อ usenet เพื่อจุดประกายให้ผู้ใช้กระดานข่าวสนใจเรื่องอองส์แฮต มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในกลุ่มผู้ใช้กระดานข่าวอย่างล้นหลามจนไม่สามารถควบคุมได้ เขาตัดสินใจยุติการกระจายข่าวอองส์แฮตในปี 2001
หมู่บ้านอองส์แฮต
สมัยศตวรรษที่ 17 ชุมชนเล็กๆในเขตเมืองเพมเบอร์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ จัดงานเต้นรำตามประเพณี เจค็อบ ออง สวมหมวกใบงามมาร่วมงาน หมวกของเจค็อบอาจสวยเกินหน้าเกินตาเพื่อนบ้าน ทำให้มีคนหมั่นไส้ดึงหมวกออกจากศีรษะแล้วโยนไปแขวนต่องแต่งบนยอดไม้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชุมชนแห่งนี้ถูกเรียกว่า “อองส์แฮต” ซึ่งแปลว่าหมวกของออง
แต่บางตำราก็บอกว่าชุมชนนี้เดิมชื่ออองส์ฮัต (Ong’s Hut) แปลว่ากระท่อมของออง เพราะเจค็อบต้มเหล้าเถื่อนขาย พวกขี้เหล้าจึงพูดกันติดปากว่าไปอองส์ฮัต ซึ่งจริงๆแล้วหมายถึงไปซื้อเหล้าเถื่อน แต่ต่อมาออกเสียงเพี้ยนไปเป็นอองส์แฮต
ที่มาของชื่อจะเป็นอย่างไรก็ตาม สรุปได้ว่าอองส์แฮตเป็นชุมชนเล็กๆอยู่ชายป่าสนเขตเมืองเพมเบอร์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ต่อมาชุมชนก็ขยายใหญ่ขึ้น จนถึงปี 1860 ก็กลายเป็นศูนย์กลางของการพบปะสังสรรค์ อาจเป็นเพราะมีแหล่งจำหน่ายเหล้าเถื่อนอยู่ใจกลางหมู่บ้าน
ราวปี 1884 เกิดเหตุการณ์ประหลาด ผู้คนในหมู่บ้านอองส์แฮตเริ่มหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยทีละคนสองคน จนถึงปี 1930 หมู่บ้านอองส์แฮตก็กลายเป็นหมู่บ้านร้างไร้คนอยู่อาศัย ไม่มีใครรู้ว่าคนในหมู่บ้านทยอยกันอพยพย้ายถิ่นฐานหรือมีอะไรทำให้พวกเขาหายตัวไป ซึ่งนั่นคือที่มาของพล็อตเรื่องที่โจเซฟนำมาใช้ดำเนินเรื่องในเกมอองส์แฮต
ตีไข่ใส่สี
ปี 1978 วาลิ ฟาร์ด พ่อค้าพรมผู้สนใจในเรื่องลี้ลับซื้อที่ดิน 500 ไร่ใกล้กับที่ตั้งหมู่บ้านอองส์แฮต ก่อตั้งอาศรมวิทยาศาสตร์ชาวมัวร์ ประกาศหาตัวผู้ที่มีความสนใจด้านศาสตร์ลี้ลับสาขาต่างๆมารวมตัวกันศึกษาหาคำตอบ
ในเวลาเดียวกันนั้นเอง แฟรงค์ และอัลเทีย ดอบส์ ฝาแฝดต่างเพศ นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ถูกอัปเปหิออกจากมหาวิทยาลัยในข้อหาฝักใฝ่เรื่องไร้สาระ เพราะพวกเขาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องมนุษย์ต่างดาว
แฟรงค์และอัลเทียเดินทางมาที่อาศรมวิทยาศาสตร์ชาวมัวร์ สร้างห้องทดลองศึกษาทฤษฎีความสับสนวุ่นวาย (Chaos Studies) ตั้งเป้าไปที่เรื่องโลกคู่ขนาน ปลายทศวรรษ 1980 แฟรงค์และอัลเทียประสบความสำเร็จในการสร้าง “ไข่” (The Egg) มันเป็นแคปซูลใช้สำหรับเดินทางไปยังโลกคู่ขนาน
เมื่อเดินเครื่องผู้ที่อยู่ในไข่จะอันตรธานหายตัวไป หลังจากนั้น 7 นาทีจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง เขาเล่าว่าได้เดินทางไปอีกมิติหนึ่ง ได้เห็นโลกอีกใบที่ดูเหมือนโลกที่เราอาศัย ต่างก็แต่เพียงโลกที่เห็นเต็มไปด้วยป่าไม้ ไร้ร่องรอยของมนุษย์
พลังโซเชียล
เรื่องราวของอองส์แฮตเป็นที่กล่าวขานถึงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในยุคที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย โจเซฟได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ในสื่อต่างๆ ปี 1999 โจเซฟหยุดปั่นกระแสในกระดานข่าวหันมาจับปากกาเขียนหนังสือเรื่อง Incunabula Papers เปิดเผยเรื่องราวเบื้องลึกไขความลับของการเดินทางข้ามมิติ
เรื่องราวของตัวละครที่โลดแล่นราวกับมีชีวิตจริง ประกอบกับแผนผัง แผนที่ แผ่นชาร์ต และหลักฐานอื่นๆ ยิ่งทำให้มีคนหลงเชื่อมากขึ้น หลายคนเดินทางไปค้นหาข้อมูลถึงแหล่งกำเนิดที่หมู่บ้านอองส์แฮต ดังจะเห็นได้ว่ามีคนถ่ายคลิปโพสต์ลงในยูทูบมากมาย
ต่อมาในปี 2001 โจเซฟตัดสินใจยุติการทดลองของเขา เนื่องจากเห็นว่าเรื่องราวมันลุกลามใหญ่โตจนเกินจะควบคุม โจเซฟออกมาเฉลยความจริงโดยเขียนหนังสืออีกเล่มชื่อ “อองส์แฮต : ปฐมบท” เปิดเผยว่าทั้งหมดเป็นเพียงแค่เรื่องที่เขาเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโจเซฟจะออกมายอมรับว่าแต่งเรื่องขึ้นมา แต่มีคนกว่าครึ่งปักใจเชื่อว่าอองส์แฮตเป็นเรื่องจริง พวกเขาไม่รู้ตัวว่าถูกหลอกให้เข้ามาเล่นเกมที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980
เกมอองส์แฮตเป็นเกมแนว Alternate Reality Game (ARG) เกมแรกๆของโลก ผู้เล่นเกมต้องมาช่วยกันไขปริศนา ณ เวลานั้น (Realtime) ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในกระดานข่าวหรือเว็บบอร์ด จะใช้ตัวช่วยเพื่อหาข้อมูลอะไรก็ได้ เช่น โทรศัพท์ แผ่นพับ อีเมล์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ กลุ่มคนแปลกหน้าปรากฏตัวที่บ้านโจเซฟก็เพื่อต้องการคำใบ้สำหรับนำไปไขปริศนาในเกมอองส์แฮตที่พวกเขาถูกลากเข้ามาเล่นเกมโดยไม่รู้ตัว
การที่มีข้อมูลของอองส์แฮตปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆทำให้เรื่องราวน่าเชื่อถือจนหลายคนหลงเชื่ออย่างสนิทใจ ปัจจุบันมีการทำการตลาดแบบ ARG โดยให้ผู้บริโภคจำนวนมากมีส่วนร่วมในกิจกรรมในเวลาเดียวกัน เพียงแต่พวกเขารู้ตัวว่ากำลังร่วมเล่นเกม ไม่ได้ถูกหลอกให้มาเล่นเหมือนเกมอองส์แฮต
1.แผนที่หมู่บ้านอองส์แฮตปี 1770
2.หมู่บ้านอองส์แฮต เมืองเพมเบอร์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์
3.หนังสือ Incunabula Papers
4.แผนผังและแผ่นชาร์ตทำให้เรื่องราวอองส์แฮตมีน้ำหนัก
5. “ไข่” อุปกรณ์เดินทางไปโลกคู่ขนาน
6.บ้านร้างในหมู่บ้านอองส์แฮต
7.หนังสืออองส์แฮต ปฐมบท
8.โจเซฟ มาเธอนี
You must be logged in to post a comment Login