วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สนช.เห็นชอบให้ประกาศร่าง”พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”เป็นกฎหมาย

On February 28, 2019

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (28 ก.พ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และ 3 ต่อจากการประชุม วานนี้ (27 ก.พ.62) มี 95 มาตรา สาระสำคัญเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว กระทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม จึงควรให้มีกฎหมายนี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในการกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือ มาตรการกำกับดูแลที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เวลากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ให้ได้เตรียมพร้อมและปรับตัว เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายนี้ เนื่องจากกฎหมายนี้มีบทลงโทษ ทั้งทางอาญาและทางปกครอง จะต้องอำนวยการบังคับใช้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ศึกษา และเตรียมความพร้อม

ส่วนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ตามกฎหมายนี้ จะต้องแต่งตั้งจำนวนเฉพาะเท่าที่จำเป็น และให้มีระบบติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงานของทุกคณะ เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อคณะกรรมการชุดใดที่หมดภารกิจแล้ว ให้ยุบเลิกทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (27 ก.พ.) สมาชิก สนช. ต่างท้วงติงในการแก้ไขมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อพ้นกำหนดจาก 180 วัน เป็น 1 ปี โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ระยะเวลาที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาถือว่าเหมาะสมแล้ว ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้ก็เหมือนกับการร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ และขัดต่อหลักการปฏิรูปประเทศ

นอกจากนี้ สมาชิกหลายคน อาทินายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และ นายตวง อันทะไชย สนช. ตำหนิการปรับแก้ของกรรมาธิการบางส่วน สุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่กระแสปลุกผู้ชุมนุมให้กลับมาชุมนุมอีกครั้ง กระทบกับทุกฝ่าย ฉะนั้น ขอให้กลับไปใช้ตามร่างเดิม ถือว่าเป็นร่างที่ดีแล้ว อีกทั้ง การตรวจสอบทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะเป็นผู้ตรวจสอบและระงับ ยับยั้งทางการเงิน ฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ที่ใช้กฎหมายในอนาคต อาศัยช่องว่างล้วงข้อมูลของบุคคลอื่น เพื่อกระทำการโจมตีในการหาเสียง หรือแม้กระทั่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ จึงเกรงว่าจะเป็นเครื่องมือทางการเมือง และทำให้เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมืองได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 161 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น จะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป


You must be logged in to post a comment Login