วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ครม.ไฟเขียวธสน.รับประกันความเสี่ยงทางการเมืองสร้างเชื่อมั่นนักลงทุน

On January 2, 2019

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับประกันความเสี่ยงทางการเมือง พ.ศ. … เพื่อให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในการประกอบธุรกิจได้อย่างครบถ้วน ถือเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนและธนาคารของผู้ลงทุนในการประกอบกิจการ ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและผู้ลงทุนของไทย

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เอ็กซิมแบงก์สามารถรับประกันความเสี่ยงทางการเมืองแก่ผู้ลงทุน หรือรับประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อของธนาคารสำหรับความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระคืนเงินกู้จากผู้ลงทุนเนื่องจากความเสี่ยงทางการเมือง โดยมีวงเงินรับประกันสูงสุดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด แต่ให้เอ็กซิมแบงก์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนกรณีพบว่ามีการกระทำหรือละเว้นของผู้ลงทุนเนื่องจากมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายหรือปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ของประเทศที่ผู้ลงทุนไปลงทุน หรือกรณีอื่นตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนดไว้

นอกจากนี้ยังกำหนดให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้แก่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมถึงธนาคารอาจนำความเสี่ยงทางการเมืองที่รับประกันแก่ผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนมาประกันต่อกับบริษัทประกันภัยหรือองค์กรอื่นที่รับประกันความเสี่ยงทางการเมืองทั้งจำนวนหรือเพียงบางส่วนได้ตามหลักเกณฑ์ หรือรับประกันภัยจากบริษัทประกันหรือองค์กรอื่นได้ด้วย โดยคณะกรรมการธนาคารจะเป็นผู้กำหนดอัตราเบี้ยประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนหรือธนาคารของผู้ลงทุนที่เอาประกันภัย หรือบริษัทประกันภัย หรือองค์กรที่รับประกันความเสี่ยงอื่นที่ธนาคารรับประกันภัยต่อ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม โดยเอ็กซิมแบงก์ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับประกันความเสี่ยงทางการเมืองที่รัดกุมและมีความชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่และประเทศปลายทางที่มีการประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการสร้างความเสียหายแก่ธนาคารในอนาคต รวมทั้งธนาคารควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ลงทุน ธนาคารของผู้ลงทุน และประชาชนทั่วไปอย่างทั่วถึง


You must be logged in to post a comment Login