วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2567

ทบทวนสายธารประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน-จากฟิวดัลยุโรปถึงรัฐไทย

On October 12, 2018

เว็ยไซต์ iLaw รางานสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่กล่าวได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ แต่ก่อนที่เราจะเดินไปสู่อนาคต เราอาจเรียนรู้จากอดีตของความรุ่งเรือง การต่อสู้ทางอำนาจ และการล่มสลาย ได้ด้วยการทบทวนสายธารแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนาน เช่นเดียวกับงานเสวนาวิชาการ วิวัฒนาการรัฐจากฟิวดัลถึงการปฏิวัติ ที่จะนำเราไปส่องประวัติศาสตร์การปฏิวัติในยุโรป ถึงสาเหตุและปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทุนนิยม ชนชั้น วัฒนธรรม และการเมือง อะไรทำให้เกิดเหตุ แล้วเหตุจะส่งผลอย่างไรต่อไป พร้อมชวนย้อนกลับมามองสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทยด้วยแว่นวิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์

งานดังกล่าวเนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3) จัดขึ้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561 ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

ระบบฟิวดัล หรือ ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ เป็นระบบความสัมพันธ์ในสังคมที่เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยโรมัน เกิดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลระหว่างผู้มีฐานะทางสังคมทีแตกต่างกัน โดยมีผู้อยู่ในฐานะสูงกว่าเป็นผู้อุปถัมภ์ (patron) และผู้อยู่ในฐานะต่ำกว่าเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ (cilent) ระบบฟิวดัลในทางการเมือง จึงเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์

กุลลดา เกดบุญชู มี้ด นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลก จากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ” กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในรัฐไทย ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งพบว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนจากรัฐศักดินา มาเป็นรัฐสมบูรณายาสิทธิราชย์ ซึ่งมีคนที่ศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้วพอสมควร ในเชิงสังคมศาสตร์ โจทย์ก็คือจะต้องอธิบายให้ได้ว่ารัฐไทยเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร ด้วยพลังอะไร ที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐไทยในกลางศตวรรษที่ 19 ทีนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ นอกจากคำตอบที่ว่าเราต้องปฏิรูปเพราะการคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งจนบัดนี้การอธิบายก็ยังคงติดอยู่ ทั้งๆ ที่ในที่สุด เมื่อเขียนหนังสือเสร็จแล้ว ก็มีคำอธิบายที่แตกต่างไป เป็นที่น่าเสียใจว่าคำอธิบายอันนี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในการรับรู้ คนอาจจะฟังว่าดูดี แต่สักพักก็จะลืมไป

กุลลดา กล่าวว่าเมื่อมองไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็พบว่ารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ ก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเช่นเดียวกับรัฐไทย ในช่วงศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 เราจะใช้คำอธิบายเรื่อง ลัทธิอาณานิคม มาอธิบายการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไหม คำถามว่า “รัฐไทยไม่ได้เป็นอาณานิคม ทำไมถึงมีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับรัฐอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ก็อาจจะตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า เพราะเราเป็น ลัทธิจักวรรดินิยมแบบใหม่ (Neo Colonialism) ซึ่งก็ยังไม่ตอบคำถามที่ต้องการจะหาคำตอบ

กุลลดากล่าวว่ากระทั่งได้ไปเจอหนังสือเรื่องหนึ่งที่จุดประกายความคิดที่สำคัญ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเขียนหนังสือเล่มนี้ นั่นก็คือหนังสือของ “แฟร์น็อง โบรแดล (Fernand Braudel, 1902-1985) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส กุลลดาเล่าว่าได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งจากร้านหนังสือชื่อเรื่องว่า “Civilization and Capitalism” ศตวรรษที่ 14-18

ดิฉันก็ติดใจด้วยสามสาเหตุ มีคำว่า “Capitalism” (ทุนนิยมเรื่องที่สองคือรูปประกอบสวย และเรื่องที่สามคือ ผู้เขียนกำลังจะอธิบาย Capitalism จากประวัติศาสตร์ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ดิฉันให้ความสนใจ จึงซื้อหนังสือมาอ่าน ซึ่งเป็นหนังสือชุดเล่มที่ 2 จากทั้ง 3 เล่ม พอหลังจากที่อ่านจบแล้ว ก็รีบไปหาเล่มที่ 1 กับ 3 มาอ่าน แล้วก็พบว่า มันอธิบายอะไรให้ดิฉันมากมากจนพอใจกับคำอธิบาย มันเล่าถึงการเกิดของระบบทุนนิยมที่ในยุโรปตะวันตก แต่ว่าเขาก็พาดพิงถึงทุนนิยมที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย” กุลลดากล่าว 

ข้อสรุปของโบรแดลที่จุดประกายก็คือ การมองให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าทุนนิยม (Capitalism) มันอยู่กับเรามาตั้งแต่โบราณกาลมาก มากเกินกว่าคนที่ใช้ทฤษฎีของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx, 2361-2426) จะเข้าใจทุนนิยม ในทัศนะของโบรแดล คือ “การประกอบธุรกิจที่ใช้ทุนขนาดใหญ่ และมุ่งหวังผลกำไรในระดับที่สูง” ซึ่งหลายคนอาจจะไม่พอใจ มีคนที่ถกเถียงกับแนวคิดของโบรเดลมากพอสมควร เป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับนักสังคมวิทยา ที่สำคัญ 2 คน คือ คาร์ล มากซ์ ที่เน้นที่ ทุนนิยมในเชิงอุตสาหกรรมการผลิต (Indrustrial Capitalism) และ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber, 1864-1920) ที่บอกว่าทุนนิยมเริ่มต้นจากยุคโปรเตสแตนต์ (Protestantism)

โบรแดลบอกว่า “ทุนนิยมอยู่กับเรามาอย่างช้านานแล้ว” เป็นรูปแบบที่ต้องใช้ทุนจำนวนมาก แล้วต้องได้กำไรมากที่สุด นั่นคือ “การค้าระยะไกล” พอจะทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าอย่างนั้น “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ซึ่งอังกฤษมาขอให้เราเปิดประเทศ มันก็น่าจะมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนรูปแบบรัฐทั้งหมด”

“ดิฉันก็ไปหาเอกสารในหอจดหมายเหตุ แล้วก็เห็นหลักฐานที่ยืนยันว่า การปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นเพราะ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบททางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือการที่เราเข้ามาเป็นผู้ค้ากับอังกฤษ ส่งข้าวออกไปอังกฤษ แล้วก็ซื้อฝิ่นมาจากอังกฤษ ก็เลยเป็นต้นแบบของการที่จะวิจารณ์ สิ่งที่เรียกว่า state transformation (การเปลี่ยนแปลงโดยรัฐ) และ Capitalism (ทุนนิยม) ทีเป็นแกนกลางของหนังสือเล่มนี้”  กุลลดากล่าว

ย้อนมอง “ปฏิวัติฝรั่งเศส” หลากข้อถกเถียง เกิดขึ้นโดยเอกเทศ หรือเป็นกลุ่มก้อนเดียวของสายธารการปฏิวัติ ปัจจัยอะไรผลักดันให้เกิดการปฏิวัติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า จากหนังสือที่กุลลดาได้พูดถึงระบบฟิวดัลในฝรั่งเศส การเกิดขึ้นมาของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการล่มสลายของมันก็คือ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” กุลลดาได้สรุปว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสและอังกฤษ มีปัจจัยของพลังใหญ่ๆ คือระบบโลก พลังของทุนนิยม อีกประการคือความขัดแย้งภายในเอง ซึ่งในบทสรุปของฝรั่งเศสคือกรณีความขัดแย้งภายใน น่าจะมีบทบาทมากกว่า ในขณะที่ของอังกฤษ ระบบทุนนิยมมีบทบาทมากกว่า ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ

ปิยบุตรกล่าวว่าในกรณีของฝรั่งเศสที่แตกต่างจากของที่อื่น เพราะมันมีความรุนแรงมากกว่าที่อื่น แต่พลังของการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เกิดจากการร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายกระฎุมพี และชนชั้นล่าง ทั้งที่อยู่ในเมืองและชนบท ทั้งฝ่ายหัวก้าวหน้า และอนุรักษ์นิยม พูดง่ายๆว่า “รุมกินโต๊ะเพื่อล้มระบอบสถาบันกษัตริย์ต่อไป”

ปิยบุตร กล่าวว่าสังคมไทยเวลาพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส จะพูดในลักษณะของการทำให้เป็นละคร สร้างเรื่องให้โรแมนติกมากขึ้น ฝ่ายหนึ่งก็ชอบมาก อยากเห็นเกิดขึ้น อีกฝ่ายหนึ่งก็รังเกียจ รู้สึกว่าน่ากลัว จะมีอยู่แค่สองแบบ จนละเลยความเข้าใจมิติด้าน สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของฝรั่งเศสว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยชี้ขาด อะไรเป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การปฏิวัติเดินหน้าไปได้ เป็นการต่อสู้ของพลังอะไรบ้าง มีวิธีคิดปรัชญาอะไรอยู่เบื้องหลังบ้าง เรามักจะไม่ค่อยสนใจ เรามักจะสนใจมันแบบละคร หลายท่านก็อ่านมัน พูดถึงมันในลักษณะของนิทานที่ฝ่ายหนึ่งอยากเห็น อีกฝ่ายหนึ่งรังเกียจ หลังๆ จึงอยากนำเรื่องนี้มาพูด ที่พูดไม่ใช่ใฝ่ฝันอยากจะให้เกิด หรือว่าต่อต้าน แต่ให้จับประเด็นไปที่ ปรัชญาการเมือง หรือมีเหตุปัจจัยอะไรอยู่เบื้องหลัง งานชิ้นนี้จึงมีคุณค่าในการมองภาพที่กว้าง

พอเราพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส แม้แต่คนในประเทศเขาเองก็ยังมองไม่เหมือนกัน พูดง่ายๆ มันกลายเป็นวัตถุแห่งการตีความความคิด อุดมการณ์ของคนสองกลุ่ม คือเอาเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสไปตีความไม่เหมือนกัน ซึ่งก็มีความคิดมากำกับว่าทำไมฝ่ายหนึ่งมองแบบหนึ่ง อีกฝ่ายมองแบบหนึ่ง

ปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มถูกเขียนประวัติศาสตร์ อย่างเป็นระบบ ในช่วงสาธารณรัฐที่ 3 เนื่องจากว่าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างชาติ พูดง่ายๆ ว่า ชาติฝรั่งเศสเริ่มจากศูนย์ คือที่นี่ ทุกๆ อย่างจุดเริ่มต้นของประเทศมาจากที่นี่ แล้วก็ถูกนำไปใส่ในบทเรียน ถ้าไปเรียนหนังสือที่นั่นก็จะพูดถึงเรื่องนี้ตลอด ในฐานะเป็นหมุดหมายสำคัญในการลงหลักปักฐาน

ต่อมาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็เกิดฝ่ายซ้าย หรือฝ่าย มากซิสต์ (Marxist) ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น เขาก็ตีความการปฏิวัติและมองว่า การปฏิวัติเป็นสังคมนิยม โดยชนชั้นล่างมีบทบาทในการผลัก นำให้การปฏิวัติรุดหน้า แต่ก็ถูกโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าเอาไปเป็นฝ่ายซ้ายไม่ถูก

หลังจากนั้นมีการถกเถียงอีกครั้งหนึ่ง คือช่วง 200 ปีปฏิวัติฝรั่งเศส เวลานั้นสอดคล้องกับสังคมโลกที่คอมมิวนิสต์กำลังอยู่ในช่วงขาลง กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เกิดเหตุการณ์เทียน อัน เหมิน พอเกิดเหตุการณ์ขาลงมากขึ้น นักคิดฝ่ายซ้ายด้วยกันก็แตกเป็นสองปีก ด้านหนึ่ง ปีกซ้ายกลางก็เอาปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วบอกว่าไม่เกี่ยวสตาลิน เป็นเรื่องของพวกเรา แล้วมันจบไปตั้งนานแล้ว ทุกวันนี้ระบอบการปกครองที่เกิดขึ้สมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้นก็เกิดการถกเถียงกัน นำโดย ฟร็องซัว ฟูเร่ต์ ที่เขียนเลยว่า “ปฏิวัติฝรั่งเศสจบไปแล้ว”

ท่ามกลางการถกเถียงว่าปฏิวัติฝรั่งเศสคืออะไร ปิยบุตร กล่าวว่ามีข้อถกเถียงที่สำคัญอยู่สามประเด็น จากคำถามที่ว่า “ปฏิวัติฝรั่งเศส” แยกตัวเป็นเอกเทศจากปฏิวัติที่อื่นหรือไม่ ในช่วงเวลา ศตวรรษที่ 18

1.ฝ่ายหนึ่งปฏิเสธแล้วบอกว่า ปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติทั้งหมด การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้แยกออกจากที่อื่นในเวลานั้น เป็นก้อนเดียวกัน เขาก็จะบอกว่าการปฏิวัติในครั้งนั้นมันสืบเนื่องมาจาก ระบบเศรษฐกิจ เกิดชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า“ชนชั้นกระฎุมพี” แล้วชนชั้นกระฎุมพีของแต่ละรัฐ ก็ต้องการที่ยืน มีบทบาท แต่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ปิดเอาไว้ให้เข้าไปมีบทบาท ดังนั้นก็เกิดการต่อต้านระบบที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นฝรั่งเศสก็ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่น เป็นสายธารอันหนึ่งของการปฏิวัติ ที่สอดคล้องกับเวลาของโลก และยุโรปในขณะนั้น จะแตกต่างก็เพียงมีความรุนแรงกว่า

ปิยบุตรกล่าวว่า สาเหตุที่รุนแรงกว่า เพราะตัวระบบที่ยึดอยู่ในเวลานั้นเขาไม่ปรับตัวมันเลยรุนแรงกว่าที่อื่น”

ถ้าสรุปก็คือ เขามองว่า พัฒนาสภาพเศรษฐกิจสังคมในยุโรป ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 17-18 ต่อเนื่องมา มันเป็นพัฒนาการของระบบทุนนิยม แล้วมันก็สร้างชนชั้นใหม่ทางเศรษฐกิจขึ้นมา ก็คือชนชั้นกระฎุมพี แล้วชนชั้นนี้ก็ต้องการมีบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ จึงเข้ามาต่อต้านระบบที่เป็นอยู่ แล้วผลที่ตามมาก็คือชนชั้นกระฎุมพีเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองเหมือนกับที่ปฏิวัติในที่อื่นๆ เกิดขึ้น

2.การปฏิวัติฝรั่งเศสแยกเป็นเอกเทศจากที่อื่น โดยเฉพาะเขาเอาไปเปรียบเทียบปฏิวัติอเมริกาที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ในช่วงเวลานั้น เขามองว่ามันเป็นปฏิวัติของสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วฝรั่งเศสก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนเข้าไป mobilize (ระดมพล) ให้คนอเมริกาลุกฮือขึ้นมาประกาศเอกราชจากอังกฤษ มีคนจำนวนมากจากฝรั่งเศสเดินทางไปอเมริกา แล้วมีบทบาทในการกระตุ้น แต่ฝ่ายนี้เขายืนยันว่าไม่ใช่ ไม่เหมือนกัน อาจจะมีคนบางคนไปร่วมปฏิวัติอเมริกา แต่เนื้อหาไม่เหมือนกัน จุดหนึ่งที่ไม่เหมือนกันคือเขาเรียกร้องคนละอย่าง ตอนที่อเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษ ในเวลานั้นอังกฤษ สามัญชน และกระฎุมพีเข้ามามีบทบาททางการเมืองเรียบร้อยแล้ว สถาบันกษัตริย์ได้เปิดโอกาสให้คนพวกนี้เข้ามาแล้ว มีสภาแล้ว มีการรับรองสิทธิให้แก่สามัญชน มีบทบาทในสภามากขึ้นแล้ว แต่ที่อเมริกาปฏิวัติเพราะเขามองว่าอังกฤษมี อเมริกาก็ต้องมีเพราะเป็นประเทศเดียวกัน กติกาที่เอามาใช้ในแผ่นดินอังกฤษก็ต้องเอามาใช้กับอเมริกาด้วย นี่คือจุดเริ่มต้น ดังนั้น การปฏิวัติอเมริกา ไม่ได้มาจากการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะที่ถ้ามาดูปฏิวัติฝรั่งเศสจะเห็นปฏิกิริยาต่อต้านระบอบกษัตริย์ในเวลานั้นอย่างชัดเจน ไม่ยอมแบ่งสันปันส่วนอำนาจให้แก่ชนชั้นกระฎุมพี

ถ้าลองดูรายละเอียดของความแตกต่าง ในสหรัฐอเมริกา บิดาที่ร่วมก่อตั้งสหรัฐจะพบว่าแนวความคิดของเขาชัดเจนมากคือมีลักษณะที่ไม่ชอบอำนาจรัฐ รังเกียจอำนาจรัฐ สหรัฐอเมริกาจึงไม่ยอมเป็นรัฐเดียว หลังจากประกาศเอกราชใหม่ๆ“มลรัฐมีอำนาจมาก สหรัฐมีอำนาจน้อย” เน้นไปที่การประกันสิทธิและเสรีภาพแก่บุคคล ขณะที่ปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นมาเน้นไปที่การรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น ไม่มีการกระจายอำนาจ พูดกันแบบตรงไปตรงมาคือปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้น ไม่ได้เปลี่ยน “โครงสร้างรัฐฝรั่งเศส”  แต่เปลี่ยนแค่ “ผู้ถืออำนาจรัฐ” เพราะฉะนั้นเนื้อหาจึงไม่เหมือนสหรัฐที่ต้องการลดอำนาจรัฐ และเพิ่มเสรีภาพประชาชน

“การปฏิวัติอเมริกาค่อนข้างกังวลใจเรื่องเสียงข้างมาก ดังนั้นจะต้องมีระบบตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของระบบศาลสหรัฐอเมริกาที่คอยตรวจสอบว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนฝรั่งเศสเกลียดศาลมาก ศาลคืออภิสิทธิ์ชนใส่เสื้อครุยเพราะฉะนั้นเขาจะเน้นไปที่ประชาชน แล้วก็มองว่ากฎหมายที่ออกมาแต่ละฉบับเป็นเจตจำนงร่วมกันของประชาชน ซึ่งศาลจะมาล้มไม่ได้ ดังนั้นจึงมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน เมื่อมีความแตกต่างหลากหลายกันแบบนี้ ทำให้นักคิดฝ่ายนี้สรุปว่า ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่เหมือนที่อื่น และไม่เหมือนสหรัฐอเมริกา”

3.ปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นของกระฎุมพี หรือประชาชน

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า ฝ่ายแรกมองว่าปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นของประชาชน เมื่อเข้าช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความคิดแบบมากซิสต์เริ่มขึ้นมา ทำให้มีการตีความปฏิวัติฝรั่งเศสว่าไม่ใช่พวกกระฎุมพีหรอกที่ทำ แต่เอาจริงๆ แล้ว คือชนชั้นล่างต่างหากที่ผลักดันให้การปฏิวัติรุดหน้า จุดเริ่มต้นก็คือนักประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายถือโอกาสตอนครบรอบ 100 ปี ปฏิวัติฝรั่งเศส ปลุกความสำคัญของปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นมา

ชนชั้นกระฎุมพีเป็นกำลังสำคัญในการเปิดฉากปฏิวัติ แต่ก็เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น สุดท้ายแล้ว การปฏิวัติขยายตัวออกไป แล้วก้าวหน้ามากขึ้น ด้วยการต่อสู้ของชนชั้นล่าง โดยพบว่า มวลชนที่อยู่ในชนบทเป็นกำลังสำคัญ ในการต่อต้าน เวลาพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศสเราอาจจะนึกถึงในปารีส แต่จริงๆ แล้วในจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ก็มีเหมือนกัน ชนชั้นล่างมีการเดินขบวนเพื่อกดดันให้มีการเร่งการปฏิวัติ ซองกูลอตต์  (sans-culottes) คือคนตัวเล็กๆ ที่ร่วมกันเดินขบวน กดดันสภา

ต่อมาในช่วงปี 1972 ถึงทางแยกที่ต้องเลือกเดิน พวกกระฎุมพีเข้าไปมีอำนาจอยู่ในสภา ก็ถึงทางเลือกว่าปฏิวัติฝรั่งเศสจะเดินหน้าต่อ หรือจะหยุดเพื่อหันไปประนีประนอม พวกซองกูลอตต์คือพวกที่พลักดันให้เดินหน้าอย่าประนีประนอม และจุดสุดท้ายก็คือการล้มสถาบันกษัตริย์ การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แล้วประกาศฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ

นอกจากนี้แล้ว ขบวนการต่อสู้ต่างๆ ทั้งในชนบทและในเมืองก็แตกต่างกัน ขบวนการที่อยู่ในชนบทส่วนใหญ่ก็จะทะเลาะกับพระ เจ้าของที่ดิน ส่วนพวกขบวนการในเมืองก็จะสนใจประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ กรรมสิทธิ์ ที่ดินของตัวเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาบทบาทชนชั้นล่าง นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ชนชั้นกระฎุมพีมีพลังในการก่อการปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรักษาการปฏิวัตินั้นไว้ พวกชนชั้นล่างและพวกซองคูลอตต่างหากที่เข้ามาเติมทำให้ปฏิวัติฝรั่งเศสเดินหน้าได้ต่อ ไม่ย้อนกลับไปสู่ระบอบเก่า หรือการประนีประนอม นักคิดกลุ่มนี้จึงสรุปว่าปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่ปฏิวัติกระฎุมพี

แต่ความคิดเหล่านี้มาสู่ขาลงพร้อมกับขาลงของคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1980 เป็นต้นมา คนเริ่มรู้ว่าระบอบว่าสตาลินกลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีการฆ่าคน และจำกัดเสรีภาพจำนวนมาก จึงเปลี่ยนผ่านมาเป็นเสรีประชาธิปไตย

จากวิธีวิทยาของโบรแดลสู่ข้อค้นพบ หรือแท้จริงปฏิวัติฝรั่งเศสจบไปแล้ว ตามทัศนะฟร็องซัว ฟูเร่ต์ 

อาจกล่าวได้ว่าการจะเข้าใจสถาการณ์ทางการเมือง ไม่อาจมองได้ในระยะเวลาเพียง 4-5 ปี หรือสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านและความขัดแย้งเพียงแค่ตรงหน้า หากใช้วิธีวิทยาแบบโบรแดล ซึ่งคือการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงระยะเวลายาวนาน มาเป็นกรอบในการมอง

ปิยบุตรแนะนำให้รู้จักกับ ฟร็องซัว ฟูเร่ต์ (Francois Furet) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ก็เดินตามทางของโบรแดล คือ ใช้วิธีคิดแบบโบรแดลเวลามองประวัติศาสตร์วิทยา คือการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงระยะเวลายาวนาน โดยไม่พิจารณาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอย่างเฉพาะ เพื่อจะดูว่ามีปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์อะไรที่ส่งผลต่อระบบ อันนี้คือแนวคิดของโบรแดล แล้วฟูเร่ต์ นำวิธีคิดแบบนี้มาจับกับปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นหมายถึงเขาไม่ได้มองปฏิวัติฝรั่งเศสแค่ 10 ปีต้องมองไปก่อนหน้านั้น แล้วมองไปหลังจากนั้นอีก ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารประวัติศาสตร์อันยาวนาน วิธีคิดแบบนี้ทำให้ฟูเร่ต์ ขึ้นมามีบทบาทสำคัญเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส

เริ่มต้นฟูเร่ต์บอกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่ใช่ผลพวงของการต่อสู้กันระหว่างชนชั้น ของกระฎุมพีเสรีนิยมกับขุนนางอนุรักษ์นิยม การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” หรือปฏิวัติฝรั่งเศส “ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น” เอาเข้าจริงแล้วสามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าต้องการจะหลีกเลี่ยง

ความคิดเหล่านี้ต่อสู้กับชาโคแปงมากซิสต์ โดยกลุ่มชาโคแปงมากซิสต์มองว่ามันเป็นการต่อสู้เชิงชนชั้น เริ่มต้นจากกระฎุมพีกับขุนนาง จากนั้นกระฎุมพีก็มาสู้กับชนชั้นล่าง แล้วก็ผลักดันการปฏิวัติให้รุดหน้าไป

ดังนั้นจากวิธีวิทยาของโบรแดล ฟูเร่ต์ก็นำมาใช้แล้วอธิบายว่าปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้โดดออกมาจากเหตุการณ์อื่นๆ แต่เป็นเหตุการณ์หนึ่งตามสายธารประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปฏิวัติฝรั่งเศสจึงไม่ใช่หมุดหมายที่สำคัญมากถึงขนาดที่เวลาพูดถึงฝรั่งเศสจะต้องพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศสตลอดเวลา ซึ่งเป็นมายาคติที่ฝังอยู่ในสังคมฝรั่งเศสมาโดยตลอด ตรงกันข้ามจะต้องพิจารณาว่าเกิดจากอะไร ไม่ใช่ว่าทุกๆ อย่างในฝรั่งเศสเริ่มต้นมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แล้วมันจบแล้ว เมื่อปี 1880 ที่ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่สามอย่างมั่นคง ดังนั้นเขาจึงยืนยันว่า ปฏิวัติฝรั่งเศสจบแล้ว ที่เหลือหลังจากนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกัน ดังนั้นการเกิดขึ้นของเหมา เจ๋อ ตง สตาลิน ปฏิวัติสังคมในที่ต่างๆ ไม่เกี่ยวกับปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะมันจบแล้ว

ปิยบุตรกล่าวว่า เอาเข้าจริงการปฏิวัติฝรั่งเศสสร้างชาติขึ้นมาใหม่ คือสร้างภาษา สร้างกฎหมาย พรหมแดนของตัวเองขึ้นมา ถามว่าเป็นแนวคิดของใคร เป็นแนวคิดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เขาอยากทำ แต่ทำไม่สำเร็จ อย่างที่บอกว่าเอาเข้าจริงปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างรัฐ รัฐยังมีอำนาจเข้มเหมือนเดิม ฝรั่งเศสไปกระจายอำนาจอีกที่ปี 1982 โดยรัฐบาลของ ฟร็องซัว มีแตร็อง (Francois Mitterrand) แล้วทำแบบพอมีอำนาจแล้วทำเลย

จากที่กุลลดาสรุปในหนังสือ ปิยบุตรกล่าวว่า การปฏิวัติอังกฤษระบบโลก ระบบทุนนิยมเข้ามามีบทบาท ของฝรั่งเศสความขัดแย้งภายในเข้ามามีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ แต่การปฏิวัติของไทย 2475 ระบบโลกมีผลน้อยมาก แต่ว่าหลัง 2475 ก็มีมากขึ้น ส่วนสำคัญที่กุลลดาทิ้งท้ายไว้ในบทสรุป คือ

“เป็นที่น่าเสียดาย ที่เราไม่ได้เข้าไปสนใจกับคำว่าชาติ ในขณะที่การปฏิวัติในที่ต่างๆ ฉกฉวยแย่งชิงคำว่าชาติ ชาติในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทย ก็เอาคำว่าชาติเท่ากับพระมหากษัตริย์ แล้วก็มีแนวคิดอีกอันที่บอกว่าชาติเท่ากับประชาชน แต่คำว่าชาติในปัจจุบันมันถูกมองว่าเป็นชาตินิยม น่ารังเกียจ เป็นพวกล้าหลัง อันนี้เป็นที่น่าเสียดาย”

เมื่ออำนาจว่าง – สิ่งเก่าตาย สิ่งใหม่ยังไม่เกิด 

“สิ่งเก่าตาย สิ่งใหม่ยังไม่เกิด ยังอยู่ในช่วงของ transition (การเปลี่ยนผ่าน) ไม่รู้ว่าจะนานเท่าไหร่ อาจจะนานหรืออาจจะสั้นก็ได้แล้วแต่จังหวะ” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตรชวนกลับมาดูแนวโน้มสถาการณ์ทางการเมืองของไทย คือ ศูนย์รวมอำนาจ หายไปแล้ว “ศูนย์อำนาจที่มีอำนาจครอบงำหายไปแล้ว ในเวลานี้ไม่มีศูนย์อำนาจที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถครอบงำรัฐ ศูนย์อำนาจรัฐเดียว เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแย่งชิงว่าใครจะกลับขึ้นมามีอำนาจนำ ฝ่ายหนึ่งก็การเมืองจากการเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งคือทหารระบบราชการ อีกฝ่ายหนึ่งคือชนชั้นนำจารีตประเพณี ทั้งสามก้อนนี้ต่างก็ยังขึ้นมานำไม่ได้ กำลังอยู่ในช่วงแสวงหาความชอบธรรม สถาปนาแย่งชิงกันเป็นอำนาจหนึ่ง แล้วก็แสวงหาพันธมิตรว่าใครจะเป็นพันธมิตรกับใคร ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญ เมื่อศูนย์อำนาจว่างลงพลังทางการเมืองกลุ่มไหนจะขึ้นไปได้ และจะใช้วิธีการใดขึ้นไป ถ้าพูดแบบ อันโตนิโย กรัมชี่ (Antonio Gramsci) มากซิสต์และนักคิดชาวอิตาลี่ ก็คือ crisis (ช่วงวิกฤติ)” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร ยังกล่าวอีกว่า จากหนังสือของกุลลดาทำให้เห็นภาพชัดว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป มีแรงผลักดันทางเศรษฐกิจเข้ามาแล้วทำให้กลุ่มคนที่อยู่ในรัฐเดียวกันมีพลังพอที่จะลุกขึ้นมาต่อรอง (nigociated) เวลาเราเอาประสบการณ์นี้มาเทียบกับรัฐไทยมีความต่าง ต่อให้เราพูดถึงว่ารัฐไทย ลอยอยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยมโลก ซึ่งมีพัฒนาการมาในช่วง 200 – 300 ปี แต่ข้อสังเกตุอย่างหนึ่ง ตอนที่เราเห็นตรงกันว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการปรับตัวในรัฐไทยซึ่งแรงกดดันที่มาจากคนระดับล่างมีน้อยมาก เพราะสังคมมีความเป็นช่วงชั้นสูงมากถ้าไปดูงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ จะเห็นว่าชนชั้นสูงไทยมีการสะสมทุนมาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยที่มีแรงต้านจากในประเทศน้อยมาก ในการที่จะใช้ทรัพยากรในประเทศ

จากพลังสามฝ่ายที่แย่งชิงกันอยู่ แล้วใครจะได้ขึ้นมามีอำนาจนำ ปิยบุตรสะท้อนว่า ด้านหนึ่งก็คือการเมืองจากการเลือกตั้งด้านหนึ่งก็คือทหารรัฐราชการ ด้านหนึ่งคือชนชั้นนำจารีตประเพณี อันแรกเกาะเรื่องการเลือกตั้งเอาไว้ เกาะเรื่องคาวมชอบธรรมทางประชาธิปไตยเอาไว้ แต่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเสื่อมทรุดลงไปเรื่อยๆ เพราะคนไม่เชื่อมั่นในการเมืองแบบเลือกตั้ง เลือกแล้วเละเทะมีปัญหา แต่ทหารอยู่ได้ด้วยการล่อเลี้ยงความชอบธรรมเรื่องความแตกแยก ว่าการเมืองห่วยต้องให้เขาจัดการ ส่วนอันสุดท้ายคืออยู่ด้วยความชอบธรรมแบบจารีตประเพณี ทั้งสามกลุ่มนี้ยังไม่มีใครสถาปนาขึ้นมาได้ในช่วงเวลานี้ หลังจากเราเข้าสู่อีกสมัยหนึ่ง เท่าที่สังเกตุตอนนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามจำเป็นต้องเกาะความชอบธรรมเรื่องประชาธิปไตย ไม่มากก็น้อย เกาะจริงไม่จริงไม่รู้ บทพิสูจน์ก็คือทุกคนต้องกลับไปสู่ “การเลือกตั้ง”

ส่วนคำถามที่ว่าแล้วอำนาจจะไปต่ออย่างไร ศุภวิทย์ ถาวรบุตร นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรของวงเสวนา สะท้อนว่า ถ้ามองสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ แค่ช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แทบจะเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ แรงกดดันจาก stake holder ในสังคม ที่คนในระดับล่างสุด สามารถส่งเสียงขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้

“เวลาคนบอกว่ามันมีผีอย่าง ‘ผีทักษิณ’ ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ว่า สังคมไทยเสียความสงบสุขไปจากตรงนั้น ก็จะเอาตรงนั้นเป็นหมุดหมายว่า เป็นเพราะคุณมาสร้างระบบการเมืองแบบนี้ มันถึงทำให้เสียงที่ไม่เคยต้องแคร์มันลุกขึ้นมามากขึ้น ซึ่ง ‘เขา’ ก็พยายามกดเอาไว้อยู่” ศุภวิทย์ กล่าว

ปฏิวัติ 2475 จบแล้วหรือยัง ? 

จากที่ปิยบุตร บรรยายว่าในทัศนะของฟูเรต์ ปฏิวัติฝรั่งเศสได้จบไปแล้ว จึงมีคำถามในช่วงท้ายจากผู้ร่วมเสวนาที่น่าสนใจว่า แล้วปฏิวัติ 2475 ของไทยจบหรือยัง

ศุภวิทย์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าปฏิวัติ 2475 จบหรือยัง แน่นอนเราพูดถึงปฏิวัติ 2475 ในเชิงการเมืองเยอะ เพราะชัดเจนว่าเป็นการเปลี่ยนระบอบ แต่ว่าถ้าเราสนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ช่วง 25 ปี หลังปฏิวัติ 2475 มีปัญหาทางเศรษฐกิจชุดใหญ่กับระบบทุนนิยมไทยในสภาพแวดล้อมของระบบทุนนิยมโลก เพราะไม่เกิดทุนนิยมในแบบที่เราเข้าใจกันว่ามันเป็นทุนนิยมเอกชน เป็นช่วงระยะที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเรียกว่า “ทุนนิยมโดยรัฐ” สิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรเข้าไปทำเป็นทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ทั้งหมด

จริงๆ อเมริกาพยายามผลักดันตั้งแต่ช่วงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว แต่ว่าไปสำเร็จในช่วงรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ตรงนั้นเป็นโจทย์ที่ว่าปฏิวัติ 2475 ทำให้รัฐไทยปรับตัวทางเศรษฐกิจได้ดีแค่ไหน ถ้าใช้ kpi วัดคงตรงพรวด เพราะฉะนั้นในปี พ.ศ.2500 จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญว่าเราจะเริ่มเห็นหน้าตาของพลังทุนนิยมใหม่ในแบบที่อเมริกามาจัดการอยู่พอสมควร

ด้านปิยบุตรกล่าวถึงคำถามที่โยงไปถึง “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ที่เคยกล่าวว่า “การปฏิวัติ 2475 จบแล้ว”

ปิยบุตรกล่าวว่าวิธีคิดของนครินทร์ที่บอกว่าจบแล้ว เพราะว่าผลพวงของ 2475 เป็นระบอบการปกครองที่ตกลงกันได้แล้วคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันนี้คือจบแล้ว ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะฉะนั้นแนวคิดมันจะคล้ายๆ กับที่ฟูเร่ต์เสนอ  แต่ด้านหนึ่งถ้าเรากลับมาคิดให้ดีๆ ต้องกลับไปถามนครินทร์ใหม่ว่า .นี้ เวลานี้ ยังคิดว่าการปฏิวัติ  2475 จบลงแล้วหรือยัง ระบอบที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปล่า

“ถ้าดูหลักที่คณะราษฎรเขียนไว้ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรก อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนทุกท่านในที่นี้คงเห็นเป็นประจักษ์พยานชัดเจนว่ามันยังไม่เกิด ผมยืนยันว่ายังไม่จบเพราะว่าการถกเถียงกันเรื่ออำนาจสูงสุดเป็นของใครในประเทศนี้ มันยังไม่จบ ผมจึงยืนยันว่า 2475 ยังไม่จบ” ปิยบุตรกล่าว

ปิยบุตรทิ้งท้ายไว้ด้วยสุนทรพจน์ของ มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ (Maximilien Robespierre) ที่ครอบคลุมการปฏิวัติฝรั่งเศส10 ปีแรกได้อย่างดี เขาพูดเอาไว้ตอนปี 1792 ว่า

“หากลองย้อนคิดคำนึงถึงการเดินทางของการปฏิวัติ เกือบทุกประเทศของยุโรปจะมีสามพลังอำนาจ คือ กษัตริย์ อภิชนและประชาชน หากการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้แล้ว มันก็จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป การปฏิวัติเริ่มขึ้นโดยขุนนาง นักบวช คนรวย แล้วประชาชนคนชั้นล่างก็เข้ามาสนับสนุนเพราะคิดว่าหากประโยชน์สอดคล้องต้องกันก็จะเข้ามาสนับสนุนได้ ก็คือมาร่วมกันต่อต้านอำนาจที่ครอบงำอยู่ นั่นคืออำนาจของกษัตริย์ เช่นเดียวกับรอบๆ ตัวของพวกท่าน ในรัฐสภา ท่านก็จะมีขุนนาง นักบวช คนรวย ที่เริ่มการปฏิวัติ จากนั้นประชาชนก็เริ่มปรากฏกายขึ้น บรรดาสมาชิกสภา ขุนนางนักบวช คนรวย อาจเริ่มรู้สึกสำนึกผิดเสียใจ (คล้ายๆ ว่าไม่น่าเริ่มปฏิวัติเลยกู) หรืออาจยุติการปฏิวัติ แต่เมื่อพวกเขาเห็นว่าประชาชนเริ่มเข้ามากอบกู้อำนาจที่เป็นของตัวเอง คุณเห็นว่ามันจะไปไกลแล้ว อยากหยุด แต่มันหยุดไม่ได้”


You must be logged in to post a comment Login