- ต้องไม่ไปเป็นทุกข์แทนรัฐบาลPosted 3 hours ago
- จุดติดไม่ง่ายPosted 3 days ago
- อย่าลงโทษมนุษย์มากเลยPosted 4 days ago
- สงสารสัตว์โลกที่ก่อสงครามPosted 5 days ago
- มนุสสเปโตPosted 6 days ago
- ผู้ใหญ่ไม่รังแกเด็กPosted 1 week ago
- ควรเลือกวิธีอื่นที่ดีกว่านี้Posted 1 week ago
- ทำสติให้มั่นคงPosted 2 weeks ago
- บทเรียนPosted 2 weeks ago
- หลบฉาก – เก็บแต้มPosted 2 weeks ago
ทุนพันลึก’ บทวิเคราะห์ประชารัฐผลพวงจากความสัมพันธ์ ‘รัฐ-ทุน’
เว็บไซต์ประชาไทรายงานคำอภิปรายของ ผาสุก กับการวิเคราะห์ ‘ทุนพันลึก’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับนักธุรกิจที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ และความเหลื่อมล้ำในสังคม ชี้ความสัมพันธ์รัฐธุรกิจที่เด่นชัดคือ ‘ประชารัฐ’
ผาสุก พงษ์ไพจิตร (แฟ้มภาพ)
ภายในห้องเรียนของศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ School Season 5 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา จัดบรรยายเรื่อง “ทุนพันลึก” โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์และนักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับนักธุรกิจ เมื่อนายทุนใหญ่เข้ามามีบทบาททางการเมืองหรือมีบทบาทเกี่ยวกับนโยบายมากขึ้นจึงเกิดผลพวงที่มาจากสายสัมพันธ์นี้คือประชารัฐ ซึ่งบรรยายไว้ทั้งหมด 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
รัฐกับนักธุรกิจ
ประเด็นที่ 1 รัฐกับนักธุรกิจ ผาสุก กล่าวถึง สิ่งที่ผู้อำนวยการ TCIJ นิยาม “ทุนพันลึก” ว่ามาจากแนวคิดที่ว่าประเทศไทยมีความเป็นรัฐพันลึกที่พัวพันซับซ้อนระหว่างเครือข่ายอำนาจและผลประโยชน์ต่างๆโดยเฉพาะหลังรัฐประหาร ทำให้ทุนใหญ่เข้ามามีบทบาทแม้แต่นโยบายชื่อว่า “ประชารัฐ” โดย ผาสุก ชี้ว่า ถ้าจับประเด็นสำคัญจากนิยามนี้คือเรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัฐกับนักธุรกิจ ผลพวงที่มีจากนโยบายอาจจะไม่ได้มีแค่ประชารัฐ อาจจะมีนัยยะอื่นๆนโยบายอื่นๆรวมทั้งเศรษฐกิจ การจัดสรรงบประมาณ การกระจายอำนาจ นโยบายเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคม สิทธิเสรีภาพของสื่อ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำและรวมทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการด้วย
ความสัมพันธ์รัฐกับนักธุรกิจและผลพวงที่มีต่อนโยบาย ถือได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สามารถพบเห็นได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กรณีที่ความสัมพันธ์ของรัฐกับนักธุรกิจที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เช่น ประเทศญี่ปุ่นนั้น รัฐกับธุรกิจได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมจนประสบความสำเร็จทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ ก้าวขึ้นเป็นสมาชิกของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะเป็นระบบประชาธิปไตย ไม่ค่อยมีการคอรัปชั่นที่รุนแรงประชาชนมีเสรีภาพ อีกความสำเร็จของญี่ปุ่นคือสามารถลดความเหลื่อมล้ำจนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ด้านกรณีความสัมพันธ์รัฐกับธุรกิจในรูปแบบที่ไม่น่าพอใจ ก็สามารถพบเห็นได้และอยู่ในระบอบประชาธิปไตยก็คือประเทศมาเลเซีย เป็นที่น่าสนใจคือ นาจิบ ราซัก ที่อยู่ไม่ได้ แต่ก็มีความพยายามต่างๆ ที่จะอยู่ให้ได้ เช่น เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตุลาการและรวบรวมพรรคพวกแต่สุดท้ายก็แพ้การเลือกตั้งไป จะเห็นว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่และมันมีทั้งที่เป็นผลดีและผลเสีย ประเทศไทยนั้นมีพัฒนาการที่แตกต่างจากทั้งของญี่ปุ่นและของมาเลเซีย ผลกระทบถึงนโยบายอนาคตของสังคมไทยก็จะแตกต่างเช่นกัน
ความสัมพันธ์รัฐ-ธุรกิจในการเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ระบอบทักษิณจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นที่ 2 ความสัมพันธ์รัฐธุรกิจในการเมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ระบอบทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน ผาสุก อธิบายว่า ถ้าหากย้อนไปสมัยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในปี 2490-2500 ก่อนสมัยของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นสมัยซึ่งนักธุรกิจไทยยังไม่เข้มแข็งภาคเกษตรมีความสำคัญกว่าภาคอุตสาหกรรม ในระบบการปกครองข้าราชการเป็นใหญ่มีสหรัฐและธนาคารโลกคอยหนุนหลังด้านนโยบายด้านเศรษฐกิจ นักธุรกิจจึงเป็นรองมักจะอยู่ข้างหลังและถูกกำกับด้วยข้าราชการหรือนักการเมือง แทบจะไม่มีบทบาทที่จะเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายเขาจึงเรียกระบบนี้ว่ารัฐราชการวิสาหกิจ
หลังจากมีแผนเศรษฐกิจจนถึงสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ เริ่มมีการปรับเปลี่ยน มีอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นนักธุรกิจเริ่มเข้ามามีบทบาท แต่อำนาจการเมืองยังไม่อยู่ในภาวะรวมศูนย์กระจายเป็นหลายขั้วอำนาจ รัฐบาลที่เกิดขึ้นคือการรวมกลุ่มของนักการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคในลักษณะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าหากว่าเกิดการรัฐประหารขึ้นก็ไม่ได้มีการควบรวมอำนาจไปอยู่ที่คนๆ เดียว จึงเปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ หาวิธีสร้างสายสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์มีทั้งระดับนายพลและรัฐมนตรี จึงเริ่มมีการแข่งขันและเรียกกันว่าระบบอุปถัมภ์ที่มีการแข่งขัน
นักธุรกิจสามารถเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างที่ต้องการ เข้าถึงนโยบาย สัมปทาน สิทธิพิเศษจากระบบรัฐที่สามารถเพิ่มกำไรให้ธุรกิจได้ เช่น สามารถเช่าที่รัฐบาลหรือได้โครงการจากรัฐบาล ได้สัมปทานโครงการใหญ่ๆ นี่เป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองไทยมาตั้งแต่ประมาณปี 2504 มาจนถึงสมัยคุณทักษิณเมื่อปี 2544 ในยุคนี้ก็เกิดระบอบพรรคพวกนิยมทักษิณ เกิดขึ้นในกรอบโครงของประชาธิปไตยที่แน่นหนาแต่เป็นประชาธิปไตยที่สังคมยังลองผิดลองถูกอยู่ ในบริบทที่หลักการนิติรัฐและระบบกฎหมายที่จะกำกับการใช้อำนาจของผู้บริหารในระบบการปกครองระดับสูงยังไม่ลงหลักปักฐาน และในขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีสูงมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ
ระบอบพรรคพวกนิยมนั้นหมายถึงกลุ่มที่เป็นพรรคพวกของคุณทักษิณ มีทั้งธุรกิจครอบครัวและนักธุรกิจที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ มีลักษณะพิเศษ 2 ประการ อย่างแรกคือพรรคไทยรักไทยทำตามนโยบายที่หาเสียงอย่างรวดเร็ว ผู้ได้รับประโยชน์ที่เป็นคนระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท จึงสร้างความประทับใจส่งผลให้ระบบรัฐสภาประชาธิปไตยเป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม ประการที่สองของพรรคพวกนิยมระบอบทักษิณสู่การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองอยู่ที่กลุ่มของทักษิณ ระบบความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ขาดความโปร่งใสขัดแย้งกับความยุติธรรม อีกนัยหนึ่งคือขัดกับหลักการของประชาธิปไตย แม้รัฐบาลชุดนี้จะส่งผลดีก็จริงแต่มันก็ยังมีจุดอ่อนอย่างที่ได้กล่าวมา ซึ่งจุดอ่อนนี้ก็ทำให้ระบบทักษิณอยู่ได้ไม่นานไม่ยั่งยืนและถูกทดแทนโดยรัฐประหารและประชารัฐ
มาถึงสมัย คสช. กลุ่มที่แต่งตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหารปี 2557 แทนที่จะทำลายระบอบพรรคพวกนิยมทักษิณแต่สิ่งที่เกิดคือเป็นการปรับและทำให้เข้มแข็งขึ้น อีกนัยหนึ่งก็คือทำให้เป็นระบบยังมีความพยายามจะใช้กรอบกฎหมายมากำกับด้วย ในรูปของการเขียนรัฐธรรมนูญและรูปกฎหมายอื่นๆ ที่เอื้อกับกรอบประชารัฐ ประชารัฐมีพรรคพวกที่กว้างขวางจากหลากหลายกลุ่มมากขึ้น มีทั้งข้าราชการที่ประจำการและเกษียร ทั้งทหารที่ประจำการและพลเรือนรวมทั้งฝ่ายตุลาการ มีกองทัพ 4 เหล่าเป็นผู้ปกป้องต่อมามีการเชิญชวนนักธุรกิจใหญ่ระดับนำ ให้เข้ามาร่วมรวมในศูนย์กลางอำนาจ ในการกำหนดนโยบายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ความสัมพันธ์รัฐกับธุรกิจและผลพวงนโยบายที่เป็นรูปธรรมบางประการ
ประเด็นที่ 3 ความสัมพันธ์รัฐกับธุรกิจและผลพวงนโยบายที่เป็นรูปธรรมบางประการ ประเด็นนี้ ผาสุก พูดถึงประชารัฐ ที่มาของคำ, แนวคิดและการตีความ ได้มีโอกาสอ่านงานของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องประชารัฐในมติชนรายวันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดเมื่อเดือนกันยายน 2558 ในเวทีสานพลังประชารัฐบอกว่า ประชารัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ มันต่อเนื่องกับธรรมาภิบาลใช้มาตั้งแต่แผน 8 ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เขียนและเสนอแนวคิดประชารัฐอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยเปรียบเทียบว่า ประชานิยมเอาเงินไปแจกชาวบ้าน ประชารัฐเสริมสร้างความเข้มแข็งประชาชนฐานรากให้หายจน มีเกียรติพึ่งตนเองได้ ควบคุมนักการเมืองทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง
สำหรับคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าประชารัฐไม่ใช่แนวคิดใหม่ เป็นเรื่องการทำงานต้องทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ,เอกชนและประชาชน ต่อมา อ.พิชญ์ ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมว่าประชารัฐเป็นวาทกรรมที่รองรับความชอบธรรมของการปกครองและการเมืองในยุค คสช.ใช้แนวคิดชาตินิยมและธรรมาภิบาล ฐานของประชารัฐก็คือกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO ส่วนหนึ่งและกลุ่มข้าราชการนักธุรกิจ และที่ว่าเป็นวาทกรรมนั้นก็เพราะว่าเรื่องจริงมันคือความขัดแย้งในระดับพื้นที่ เช่น การใช้ ม.44 หรือประชาชนไม่มีส่วนร่วมจึงทำให้รู้สึกว่าขาดสิทธิเสรีภาพต่างๆ
นักวิเคราะห์จากสื่อสำคัญท่านหนึ่งพูดไว้น่าสนใจว่า คุณสมคิดเวลาพูดอยู่ในสายสัมพันธ์ประชารัฐต่างๆจะให้ความสำคัญกับคนจน,เกษตร,ผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นคือ นิเคอิ เข้าใจผิดแล้วก็เขียนออกมาว่าประเทศไทยย้อนกลับไปอยู่ในสมัยทักษิณ แต่เมื่อวิเคราะห์ลึกๆแล้วจะพบว่ากลุ่มประชารัฐมีแผนแยกแตกต่าง มีการแก้ข้อผิดพลาดในอดีตที่ว่าประชานิยมต้นทุนสูงและมีความต้องการลบทุกอย่างของรัฐบาลทักษิณ อาจจะเพิ่มเติมว่าแนวคิดประชารัฐเป็นการต่อกรกับประชานิยมที่ต้องการลบความยึดแน่นในประชาธิปไตยจากชาวบ้าน แล้วสร้างฐานสนับสนุนขึ้นมาใหม่ที่เป็นมวลชนมายึดแน่นกับระบบการกุศลโดยรัฐ และมีบัตรคนจนแบบไม่ต้องเช็คว่าจนจริงไหม
ประชารัฐมีรูปธรรมอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือเรื่องคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ 12 ชุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเชิญนักธุกิจใหญ่ให้มาร่วมในคณะทำงานระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ในคณะทำงานทั้ง 12 ชุด หัวหน้าจะเป็นการประกบคู่กันระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงและ CEO ของกลุ่มบริษัทใหญ่ เช่น ประชารัฐสามัคคีทั่วประเทศเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจับคู่กับผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟฯ จึงเกิดสถานการณ์ที่นักธุรกิจขนาดใหญ่สามารถทำงานใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจการเมืองสูงสุดในประเทศได้ในกรอบโครงของคณะทำงานนี้
สำหรับรูปธรรมในเรื่องอื่นๆ เช่น การยกเลิกระบบข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ 70:30 ชาวไร่อ้อยและโรงงานโดยฝ่ายชาวไร่แทบจะไม่มีส่วนร่วม เรื่องนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและยังไม่มีสื่อลงไปทำอย่างลึกซึ้ง มีเพียงบทความของ อ.วีรพงษ์ รามากูร ในมติชนรายวัน ซึ่งผลพวงของประชารัฐที่ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทย โครงการนี้ก็มีการถกเถียงกันมากว่าคุ้มทุนหรือไม่แต่ก็ยังดำเนินการสร้างต่อ
การตั้งบริษัทประชารัฐ รัฐสามัคคีประเทศไทย จำกัดเป็น Holding company และก็ยังมีการจัดตั้งบริษัทลูกในอีก 77 จังหวัด บริษัทเหล่านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ในการส่งเสริมอาชีพผ่านกลุ่มงานเกษตรแปรรูปและการท่องเที่ยว ตามนโยบายการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาร่วมทุนกับโครงการนี้ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี มีบริษัทชั้นนำบางแห่งที่พร้อมจะเข้าไปลงทุน 99.99% แล้วในกลุ่มอื่นๆ ก็ลงทุนระดับที่น้อยลงมา บริษัทประชารัฐส่วนใหญ่ทำในเรื่องการส่งเสริมเกษตร ส่งเสริมคนท้องถิ่นต่างๆ ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ที่เชียงใหม่ประชารัฐพยายามส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไผ่แทนข้าวโพด
เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทประชารัฐรัฐสามัคคี Holding โดยบริษัท ไทยเบฟฯ ที่มีหุ้น 99.9% พึ่งจะลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนการผลิตผ้าขาวม้าไปขายทั่วโลก และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก กิจกรรมสอนเลี้ยงผึ้ง โครงการเกษตรปราดเปรื่อง โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการบริษัทผู้ผลิต (Producer Company) สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนวิสัยทัศน์ของกลุ่มคนที่จัดตั้งหรือเสนอแนวคิดประชารัฐ คือการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนใหญ่เป็นระบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งทุนใหญ่ในไทยและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นรูปธรรมของประชารัฐในด้านนโยบายเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีการชักชวนนักธุรกิจใหญ่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน มีคนเสนอว่าประชารัฐในด้านเศรษฐกิจ มีโครงการที่มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนค่อนข้างมาก เลยชูประเด็นเรื่องการดึงเอาตัวนักธุรกิจเข้ามาร่วมวงหรือร่วมมือในการสร้างนโยบายเศรษฐกิจโดยตรงไม่ใช่เป็นตัวแทนผ่านสมาคมหรือองค์กรของนักธุรกิจ นอกจากนั้นประชารัฐยังมีการใช้ ม.44 ในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่โดยไม่มีการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือผลกระทบทางสังคม
ประชารัฐกับประเด็นความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการ
ประเด็นที่ 4 ประชารัฐกับประเด็นความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการ สืบเนื่องมาจากนิตยสารฟอร์บส์ได้จัดอันดับ 50 เศรษฐีไทยในปี 2561 มูลค่ารวมของเศรษฐีไทย 50 รายพุ่งสูงกว่า 5 ล้านๆ บาท เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 ในครึ่งปี หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2557 พบว่ากลุ่มเศรษฐีไทย top 4 มูลค่าของทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวตั้งแต่ปี 2557 จะเป็นพวกกลุ่มค้าปลีก, แปรรูป, กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง, กลุ่มสุราและอสังหาริมทรัพย์ หากเราวิเคราะห์ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มันก็มีความเกี่ยวโยงกันกับนโยบายในเรื่องการลดภาษีเงินได้ขั้นสูงทั้งนิติบุคคลและรายบุคคลธรรมดา หรือนโยบายช้อปช่วยชาติ และการมีเครือข่ายใกล้ชิดกับระบบรัฐบาลกับคนสำคัญก็เป็นเรื่องของการเปิดช่องที่จะเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือการส่งแรงดันต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ในบางทีเราอาจจะมองไม่เห็นแต่มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นซึ่งให้ประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องได้
จะเห็นตัวเลขดัชนีแสดงความเหลื่อมล้ำในสังคมมันมีแนวโน้มลดลงหลังเศรษฐกิจวิกฤต 2540 แต่หลังๆ เริ่มเพิ่มขึ้นซึ่งเรื่องนี้มันก็สะท้อนถึงกลุ่มคนจำนวนน้อยที่อยู่บนพีระมิดสังคมมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันมีนโยบายที่ทำให้คนตัวเล็กเสียเปรียบ บางทีจนถึงขนาดขาดแหล่งทำมาหากินเช่น นโยบายการจัดระเบียบแผงลอย ทางเท้าไม่ให้คนขายของแต่ไม่ได้จัดหาที่ให้คนเหล่านี้ขายของเพื่อเป็นการทดแทน ขณะที่ Thailand 4.0 ยังไม่ก้าวไปไหน ที่สิงคโปร์ก็มีการจัดระเบียบแผงลอยทางเท้าเช่นเดียวกันแต่เขาได้มีการจัดที่ให้คนเหล่านี้ได้ไปขายของซึ่งก็ตั้งอยู่ในเขตชุมชนด้วย ในกรณีของประเทศไทยที่ยกเลิกเพราะให้เกิดความเรียบร้อยเพื่อให้กรุงเทพฯ มีความศิวิไลซ์เหมือนกับปารีสหรือลอนดอนไม่มีหาบเร่ไม่มีแผงลอย แต่ตรงนี้มันทำให้คนขาดการทำมาหากินจำนวนมากบางคนต้องกลับบ้าน บางคนต้องพยายามไปแอบที่ซอยต่างๆเพื่อขายของ
การยกเลิกข้อตกลงระบบแบ่งผลประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยและโรงงาน 70:30 ที่เคยมีมาเป็นเวลานานและก็ได้ผลดีแต่ก็ถูกยกเลิกไป การยกเลิกระบบนี้คือโรงงานก็จะได้ประโยชน์จากการบีบอ้อยเอาไปทำขนมเอาไปทำอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องแบ่งกับชาวไร่อ้อย มีข้อถกเถียงว่าการยกเลิกข้อตกลงอะไรแบบนี้ มันน่าจะต้องพูดคุยกันระหว่างสองฝั่งมากกว่าที่จะใช้ม.44 นโยบายที่กล่าวมานั้นถือได้ว่าทำให้ประชาชนทั่วไปเสียเปรียบเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ เราจึงพบว่าเศรษฐีไทยเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจในการกำหนดนโยบาย มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โอกาสที่คนธรรมดามีสิทธิสู้แรงกดดันต่อนโยบายกลับลดลง จึงไม่แปลกใจที่ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่พูดถึงประชารัฐที่เป็นรูปธรรมอีกอันหนึ่งแต่ยังไม่เกิดขึ้นก็คือ การคุกคามที่จะยกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือว่ายังอยู่ในช่วงที่พยายามจะยกเลิกแต่ยังไม่ยกเลิกและก็ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะยกเลิกค่อนข้างสูง
ผาสุก สรุปว่า ประชารัฐเป็นความพยายามที่จะทดแทนประชานิยมสมัยพรรคเพื่อไทยและพรรคพวก แล้วก็พยายามที่จะดึงมวลชนออกจากความยึดแน่นความเชื่อถือในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยมาสู่ความเชื่อถือในระบบการกุศลจากภาครัฐอาจจะเป็นในรูปของบัตรคนจนหรืออะไรก็ตาม โดยที่ประชาชนไม่ได้มาด้วยการมีสิทธิ์จากการออกเสียงเลือกตั้ง แล้วเรียกร้องให้พรรคที่ตนสนับสนุนอยู่เป็นผู้ดำเนินนโยบาย มีลักษณะเป็นเหมือนการกุศลประชาชนไม่ต้องเรียกร้องแค่รออยากได้อะไรห้ามพูดห้ามบอก รอให้ภาคราชการ ภาครัฐบาลหาให้หรืออยากที่จะจัดให้ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างในเรื่องของวิธีคิดเกี่ยวกับการปกครองเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
คสช.ใช้คำว่าประชารัฐมาเพื่อทดแทนประชานิยมเป็นวาทกรรมปฏิเสธทักษิณและกลุ่ม ในทางปฏิบัติเน้นไปที่หน้าที่ เน้นบทบาทของข้าราชการจะพูดถึงว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาแต่เอาเข้าจริงในการปฏิบัติคือห้ามออกความคิดเห็น ห้ามประชุมกันเกิน 5 คน ยกเลิกการเลือกตั้ง อปท.ปฏิเสธหลักการที่ว่าสวัสดิการเป็นของประชาชนซึ่งจะเรียกร้องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้ คสช.สวัสดิการเป็นเหมือนการกุศล ประชารัฐมีวิสัยทัศน์อยากจะให้นักธุรกิจใหญ่นำประเทศเป็นประเทศพัฒนาจนสามารถเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งความหวังไว้ตอนรัฐประหารเมื่อปี 2557 ว่าอยากจะเข้าไปอยู่ในสมาชิก OECD ในเวลา 20 ปีซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนเพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้ OECD จะให้เข้าไปอยู่ได้ก็ต่อเมื่อระบบรัฐบาลมีความโปร่งใสและแก้ปัญหาคอรัปชั่น ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ก็เข้า OECD ไม่ได้ เราจึงควรจะสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้
You must be logged in to post a comment Login