วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ออกได้ทุกหน้า

On May 29, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ผลการตีความ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะออกมาในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ แม้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยทำให้สถานการณ์การเมืองที่อึมครึมมีความชัดเจนขึ้น แต่เมื่อดูจากองค์ประกอบอื่นๆแล้วมีความเป็นไปได้มากว่าความอึมครึมทางการเมืองจะดำรงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผลโพล หรือพรรคเฉพาะกิจที่ยังไม่ลงตัว ยิ่งพรรคใหม่มาแรงอย่างอนาคตใหม่ประกาศล้างคดีการเมืองช่วงที่ คสช. บริหารประเทศ ประกาศแก้รัฐธรรมนูญหลังการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ทุกอย่างอึมครึมไม่แน่นอน สถานการณ์การเมืองจากนี้บอกเลยว่าออกได้ทุกหน้า

สถานการณ์การเมืองตอนนี้ดูอึมครึมไม่ต่างจากสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลังรู้ผลตีความพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในวันที่ 30 พฤษภาคม อาจทำให้อะไรๆที่ดูอึมครึมสดใสขึ้น

หรืออาจเป็นไปได้ว่าที่อึมครึมอยู่แล้วจะยิ่งอึมครึมมากขึ้น หากผลตีความไม่ผ่านและส่งผลกระทบต่อแนวทางการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็พ

เรื่องที่จะได้รับผลกระทบจากการตีความอีกเรื่องคือ การพบปะพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช.

หากผลตีความออกมาว่าจำเป็นต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเพียงเรื่องเดียวหรือทั้ง 2 เรื่อง การพบปะพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. ที่วางกำหนดการไว้ในเดือนมิถุนายนน่าจะเลื่อนออกไปอีก

หากไม่มีการพูดคุยก็แน่นอนว่ากำหนดการเลือกตั้งมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะถูกขยับออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีเหตุผลข้ออ้างสนับสนุนว่าจะต้องปรับแก้กฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ผลตีความจะออกมาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอะไรทำให้มั่นใจได้ 100% ว่าการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. จะเกิดขึ้นตามกำหนดในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้เพราะแต่เดิมที่กำหนดการพูดคุยในเดือนมิถุนายนนั้น เนื่องจากเอากรอบเวลาการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้เป็นหลัก

ก่อนหน้านี้รัฐบาลทหาร คสช. ประเมินว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน จึงกำหนดการพูดคุยในเดือนเดียวกัน เพราะต้องทำตามกรอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน คือช่วงปลายปีนี้

แต่เมื่อเจออภินิหารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพลิกลิ้นยื่นตีความกฎหมายที่ผ่านการลงมติจากเสียงส่วนใหญ่แล้ว กรอบเวลาทุกอย่างจึงรวนไปหมด เอาแน่นอนอะไรไม่ได้

ดังนั้น การพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช. เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งมีความเป็นไปได้ว่าอาจไม่เกิดขึ้นตามกำหนดเดิม

เมื่อการพูดคุยยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นไปได้ยากที่จะมีการประกาศวันเลือกตั้งออกมาให้ชัดเจน

ทั้งนี้ นอกจากผลการตีความแล้วยังมีเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องที่เป็นเงื่อนไขทำให้ภาพของการเมืองไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบุกจับนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ อดีตพุทธะอิสระ ที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุนทุกระดับเป็นอย่างมาก จนผู้มีอำนาจเบอร์ 1 เบอร์ 2 ในปัจจุบันต้องออกมาเอ่ยปากขอโทษเพื่อลดความไม่พอใจ

การบุกจับนายสุวิทย์และไม่ได้รับการประกันตัวจนต้องถอดจีวรเข้าไปนอนในเรือนจำในครั้งนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้คนเคยรักและสนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช. เริ่มเบือนหน้าหนี ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบไปถึงแผนการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งด้วย

ยิ่งพรรคใหม่มาแรงอย่างอนาคตใหม่ประกาศล้างคดีการเมืองช่วงที่ คสช. บริหารประเทศ ประกาศแก้รัฐธรรมนูญ หลังการเลือกตั้ง

ยิ่งพรรคใหม่ที่จะตั้งมาทำภารกิจพิเศษยังลูกผีลูกคน ยิ่งโพลไม่สนับสนุนให้นั่งเก้าอี้ผู้นำต่อ

ยิ่งทำให้ทุกอย่างอึมครึมไม่แน่นอน สถานการณ์การเมืองจากนี้บอกเลยว่าออกได้ทุกหน้า


You must be logged in to post a comment Login