- ระลึกถึงพ่อหลวง ร.9Posted 13 hours ago
- 5 ธ.ค.วัดสวนแก้วแตกแน่Posted 1 day ago
- จะกลับมาแบบไหนPosted 2 days ago
- เลือกงานให้โดน บริหารคนให้เป็น ตาม“ลัคนาราศี”Posted 2 days ago
- ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ อยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างPosted 2 days ago
- โลภ•ลวง•หลง เกมพลิกชีวิต รีแบรนด์หรือรีบอร์นPosted 2 days ago
- กูไม่ใช่ไก่ต้มเว้ย! อย่ามาต้มกูเลย..Posted 2 days ago
- หยุดความรุนแรง-ลวงโลกPosted 3 days ago
- อ.เบียร์ช่วยวัดสวนแก้วPosted 6 days ago
- เลิกเสียเงินกับเรื่องโง่ๆPosted 1 week ago
ทำไมต้องรัก คสช.? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
จากเหตุการณ์ภายหลังการยึดอำนาจของฝ่ายเผด็จการ ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากให้มีการเลือกตั้ง ในทางตรงข้ามก็มีฝ่ายที่นิยมชมชอบรัฐบาลและอยากให้ คสช. อยู่ต่อบ้างเหมือนกัน ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลออกมาชักจูงและโน้มน้าวประชาชนที่อยู่ตรงกลางให้หันมาสนับสนุนสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น
ทั้ง 2 ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากเราอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เป็นสากล การที่ประชาชนจะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องเรื่องใดๆก็ตามถือเป็นสิทธิเสรีภาพของทุกฝ่ายที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับที่นานาอารยประเทศเขาทำกัน
แต่เมื่อเราอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การออกมาเรียกร้องของฝ่ายประชาชนที่ต้องการ “การเลือกตั้ง” จึงกลายเป็น “อาชญากรรม” ในขณะที่การกระทำของฝ่ายสนับสนุน คสช. กลับได้รับ “ข้อยกเว้น” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องปรกติของการปกครอง “ระบอบเผด็จการ” ทุกประเทศอยู่แล้ว
ในยุคสมัยที่เผด็จการเรืองอำนาจ การปล่อยให้มีการปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นนี้ ถือว่าเป็น “มาตรฐาน” ที่กระทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่สมัยนี้วิทยาการและเทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก จึงทำให้การสื่อสารระหว่างกันทำได้รวดเร็วทั่วถึงและไร้พรมแดน ดังนั้น การกระทำที่ปราศจากเหตุผลรองรับจึงไม่สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับพี่น้องประชาชนได้อีกต่อไป
เพราะเหตุนี้การบังคับใช้กฎหมายกับ “ผู้เห็นต่าง” เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ เนื่องด้วยคนส่วนใหญ่ย่อมมองออกว่าเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม ดังนั้น เผด็จการยุคใหม่จึงต้องปรับตัวและค้นหาวิธีใหม่ๆเพื่อสร้างแนวร่วมด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆก็คือ การซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมตผลงานของรัฐบาลและ คสช. รวมทั้งสร้างเนื้อหาแนวทางสร้างสรรค์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างกองเชียร์หน้าใหม่ หากดำเนินการสะกดจิตเพิ่มยอดคนได้มากขึ้นเท่าไร ความชอบธรรมในการบริหารประเทศก็ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย
ผมนั่งดูการปฏิบัติการด้านข่าวสาร (IO) ของฝ่าย “โปรรัฐบาล” ด้วยความสนใจ เพราะอยากรู้ว่าสิ่งที่ลงทุนลงแรงไปไม่น้อยเช่นนี้จะได้ผลหรือไม่! ต้องยอมรับว่าการใช้มืออาชีพเข้ามารับผิดชอบอาจทำให้รูปลักษณ์การนำเสนอเรื่องราวต่างๆดูดีและทันสมัย แต่จะดีพอที่จะทำให้ประชาชนอยากให้ “ท่านผู้นำสูงสุด” พร้อมบริวารอยู่บริหารบ้านเมืองต่อไปหรือไม่ เรื่องนี้ผมไม่กล้าฟันธง (จริงๆ)
ผมขออนุญาตหยิบยกตัวอย่าง “เนื้อหา” หรือที่เราชอบเรียกทับศัพท์กันว่า “คอนเทนต์” (content) ที่พบเห็นกันบ่อยๆในโซเชียลมาขยายความให้ฟังกันว่า ฝ่าย IO ของ คสช. ต้องการสื่อสารถึงประชาชนเพื่อโน้มน้าวหรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อของแต่ละท่านอย่างไรบ้าง ลองมาติดตามอ่านกันดูครับ
ขอเริ่มต้นจาก 10 เหตุผลยอดฮิตว่า ทำไมเราถึง (ต้อง) รัก คสช. กันก่อนดีกว่า ข้อแรกก็คือการ “ปกป้องสถาบันหลักของชาติ” เรื่องนี้คงไม่มีใครกล้าเถียง นอกจากจะเพิ่มเติมเข้าไปเองว่าในฐานะที่เกิดเป็นคนไทย แม้จะไม่มีโอกาสเป็น คสช. เหมือน “ลุงตู่” แต่ตรูก็รักและพร้อมที่จะปกป้องสถาบันหลักของชาติเหมือนกันนั่นแหละ ดังนั้น การเป็น คสช. จึงไม่ได้ผูกขาดความรักสถาบันหลักของชาติไว้คนเดียวอย่างแน่นอน
ต่อไปเป็นข้อ 2 ที่ผมคิดว่าคนเขียน “ช่างกล้า” ในการใช้เหตุผลข้อนี้ นั่นก็คือ “คืนความสุขแก่ประชาชน” เพราะตั้งแต่ปีแรกของการรัฐประหารจนถึงวันนี้ คสช. ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชนได้หรือยัง? ตามเนื้อเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” เนื่องจากประเทศถูก “แช่แข็ง” และประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนลงไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความชัดเจนว่าประเทศจะกลับไปเดินหน้าได้อย่างไร?
เหตุผลข้อที่ 3 ที่เราต้องรัก คสช. คือ “จริงจังกับการจัดระเบียบสังคม” ข้อนี้จริงๆฟังดูดีและน่าเชื่อถือ เพราะประเทศไทยไปที่ไหนก็มีแต่บุคคลในเครื่องแบบยืนรักษาความสงบเต็มไปหมด นอกจากตำรวจแล้วเรายังเห็นทหารออกมาช่วยทำงานของตำรวจเป็นจำนวนไม่น้อย จนผมต้องตั้งข้อสังเกตว่า ทหารเหล่านี้จะเอาเวลาที่ไหนไปฝึกพร้อมรบ และถ้าต้องรบตามภารกิจหลักของกองทัพ กองทัพไทยจะมีความพร้อมรบมากน้อยแค่ไหน?
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับความสำเร็จในการจัดระเบียบสังคม เพราะคนทั่วไปรวมถึงผมด้วยยังเห็นอาชญากรรมมากมายเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ลักวิ่งชิงปล้นกลายเป็นเรื่องปรกติ ในขณะที่อบายมุขต่างๆก็เห็นกันอย่างดาษดื่น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น คำว่า “จริงจัง” จึงเป็นคำบอกเล่าที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับกองเชียร์ของ คสช.
ข้อที่ 4 บอกว่า “รัฐบาลสนใจคนในชาติมากกว่าสิ่งใด” ปัจจุบันคนไทยมีจำนวนกว่า 70 ล้านคน ผมเชื่อว่าอย่างน้อยต้องมีเกินกว่าครึ่งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้อนี้ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในภาคการผลิตทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม
เพราะตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจไปจากประชาชน คนจนก็ยากจนลงไปเรื่อยๆ ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ลดกำลังการผลิต ทำให้การจ้างงานลดลงและไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาพแท้จริงที่ปรากฏก็คือ คนกลุ่มเล็กๆที่เป็น “ชนชั้นนำ” หรือ “นายทุนขุนศึก” เท่านั้นที่เป็นฝ่ายได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
ข้อต่อไปอ่านแล้วอย่าเพิ่งหัวเราะนะครับ เพราะเหตุผลที่เขาบอกว่าเราต้องรัก คสช. ก็คือ “ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน” ฟังแล้วผมนึกถึงเพลง “รักเดียว” ของ “ปู พงษ์สิทธิ์” ขึ้นมาทันทีที่ว่า “จริงจังแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงจัง ผิดเพียงแปดครั้ง ถึงเก้าซะที่ไหน”
เพราะเรื่องแบบนี้เกิดได้เฉพาะในรัฐบาลเผด็จการเท่านั้น ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งจากประชาชน ลองทำอะไรน่าเกลียดแบบนี้รับรองว่าไม่ได้ผุดได้เกิด เนื้อร้องของพี่ปูต้องเปลี่ยนเป็น “ผิดเพียงหนึ่งครั้งติดคุกไปจนตาย” ทั้งนี้เพราะฝ่ายค้านจะตามจิกกัดไม่เลิก บวกกับองค์กรภาคประชาชนที่จะออกมาตรวจสอบอย่างเข้มข้น ปฏิบัติการกันอย่างเฉียบขาดจนกว่าจะได้ข้อยุติ
ผมยืนยันว่าไม่ได้กล่าวหาว่าใครทุจริตทั้งสิ้น เพียงแค่อยากจะสะท้อนให้เห็นว่า “รัฐบาลเลือกตั้ง” ที่ถูกกล่าวหาป้ายสีใส่ไข่จากพวกนิยมเผด็จการ ไม่ว่าจะดีเลวแค่ไหน แต่ “ประชาชน” ทุกคนสามารถ “ตรวจสอบ” ได้ ผิดกับเผด็จการที่ปกครองบ้านเมืองด้วยปลายกระบอกปืนโดยไม่มีฝ่ายค้าน แม้องค์กรต่างๆจะช่วยทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็พบกับปัญหาอุปสรรคมากมาย
โชคดีที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทุจริตกันคนละไม้คนละมือจนความจริงปรากฏออกมาหลายเรื่อง ดังนั้น เรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจึงควรยกเครดิตให้กับพลเมืองในโซเชียลมากกว่า คสช. หรือไม่
เพิ่งเขียนมาได้ 5 ข้อ หน้ากระดาษก็หมดซะแล้ว แต่ผมคงไม่เขียนต่อ เพราะคงไม่มีสาระอะไรมากกว่า 5 ข้อแรกที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง พบกันฉบับหน้า
You must be logged in to post a comment Login