วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2567

‘Thailand4.0’แค่เปลือก? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On February 8, 2018

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เวลาในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเดินผ่านไปอย่างรวดเร็วพร้อมเรื่องราวต่างๆมากมายที่ปรากฏ โดยเฉพาะการเมืองภาคประชาชนที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน เจอะเจอกับใคร ไม่ว่ามหาเศรษฐีหรือคนเดินดิน เราจะได้ยินเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง “ดังกระหึ่ม” จากสังคมมากขึ้นทุกวัน

ก่อนหน้านี้อาจจะมีเพียงฝ่ายการเมืองและนักเคลื่อนไหวจำนวนไม่มากที่คอยกระตุ้นรัฐบาลเผด็จการให้คืนอำนาจแก่ประชาชน แต่วันนี้ดูเหมือนคนไทยเกือบทุกภาคส่วนพร้อมใจกันออกมาทวงสัญญากับ คสช. เพราะตั้งแต่การปฏิวัติยึดอำนาจจากประชาชนด้วยเหตุผลสวยหรูที่ประกาศก้องเสียงดังฟังชัดในแบบชายชาติทหารในวันนั้น

มาถึงวันนี้และอีกไม่กี่เดือนก็จะครบ 4 ปีเต็ม ประเทศไทยถูกแช่จน “แข็งโป๊ก” จาก “คนแก่” เพียงไม่กี่คนที่แม้แต่เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียแบบพื้นๆเพื่อหลอกคนยังทำไม่สำเร็จ เหลือเชื่อจริงๆ

แถมยังพยายามยัดเยียดประชาธิปไตย “จอมปลอม” ใส่หัวคนไทยทุกวัน โดยไม่คิดว่าคนอื่นๆเขาก็กินข้าวเหมือนกับตัวเอง ดังนั้น การประดิษฐ์ถ้อยคำว่าเราอยู่ในยุคที่มีระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยไทยนิยมยั่งยืน” จึงเป็นเรื่องขบขันและจับต้องไม่ได้

เหมือนกับการประกาศบัญญัติ “ค่านิยม 12 ประการ” ที่หลอกใครไม่ได้เลย แม้แต่เด็กๆลูกหลานเยาวชนของเราก็ไม่เข้าใจว่าคุณครูเอามาให้ท่องทำไม!

โลกทั้งใบกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วเราอาจใช้คำว่าทุกคนต้องเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่บัดนี้เราต้องบอกว่าเราพร้อมแล้วหรือยังที่จะเผชิญหน้ากับคลื่น “สึนามิดิจิทัล” ที่ถาโถมเข้าใส่ทุกประเทศในโลกพร้อมๆกัน

กระแสเรื่อง Thailand 4.0 ถูกปลุกขึ้นมาเพื่อให้สังคมเห็นว่า แม้อายุของคณะรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยคนแก่ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีอายุมากกว่าพันปีก็ตาม แต่ก็มีความเข้าอกเข้าใจและพร้อมที่จะผลักดันนโยบายดังกล่าวเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน

แต่ในความเป็นจริงนโยบาย Thailand 4.0 มีแต่เพียงชื่อและเปลือกใช่หรือไม่? เพราะผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากที่ยืนยันผ่านการให้สัมภาษณ์ การบรรยาย และบทความต่างๆมากมาย ยืนยันว่า อย่าว่าแต่ 4.0 เลย แม้แต่ 3.0 เราก็อาจจะยังก้าวไปไม่ถึงจุดนั้นด้วยซ้ำ เพราะการบัญญัติศัพท์ออกมาโดยปราศจากแผนปฏิบัติการก็เป็นได้เพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อที่หน่วยงานราชการบางหน่วยมีความสามารถเป็นพิเศษในการประดิษฐ์คำลักษณะนี้ออกมาใช้เท่านั้น

ที่ผ่านมามีนักวิชาการจำนวนมากที่รักและหวังดีกับประเทศออกมากระตุ้นรัฐบาลนับครั้งไม่ถ้วนว่า ในอนาคตอันใกล้ “ระบบหุ่นยนต์” และ “ระบบ Automation” ต่างๆจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะระดับของผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่อาจรวมไปถึงการแทนที่มนุษย์ในอาชีพต่างๆที่ AI (Artif icial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์สามารถเข้าไปทำงานแทนด้วยก็เป็นไปได้

เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง (ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ปรากฏขึ้นในหลายประเทศแล้ว) ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร รัฐบาลจะมีมาตรการจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? ผมบ่นเรื่องนี้ให้ฟังเพราะหลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่นเมืองเสิ่นเจิ้นในประเทศจีนที่ในอดีตเคยถูกคนทั้งโลกดูถูกดูแคลนว่าเป็นเมืองที่ผลิตแต่ของ “ก๊อบปี้” ราคาถูกและคุณภาพต่ำ

แต่วันนี้เสิ่นเจิ้นได้รับการยอมรับจากผู้ว่าจ้างทั่วโลกว่าเป็นเมืองที่มีความสามารถผลิต “Hardware” ที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก และกำลังเดินหน้าไปสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆที่เรียกว่า “Dark Factory” เพราะภายในโรงงานที่เสิ่นเจิ้นโรงแล้วโรงเล่าถูกพัฒนาไปสู่โรงงานที่ไม่มีมนุษย์ทำงานอีกต่อไป ดังนั้น โรงงานทั้งหลายจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง “เปิดไฟ” ให้สิ่งมีชีวิตในโรงงานอีกแล้ว

ผมยืนยันว่าเราจะต้องเจอกับอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ คำถามก็คือ แล้วเราจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร? ในประเทศจีนแม้เขาจะมีนโยบายนำเครื่องจักรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆมาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่เขาก็มีทางออกให้กับประชากรของเขาเรียบร้อยแล้วว่าจะปรับเปลี่ยนอาชีพให้คนของเขาอย่างไร

ในประเทศไทยสิ่งที่ผมเล่าให้ฟังจะต้องมาถึงอย่างแน่นอนในเวลาอันใกล้ ถ้าโรงงานต่างๆยังคงใช้แรงงานมนุษย์ ต้นทุนการผลิตก็จะสูงจนไม่มีความสามารถในการแข่งขัน แต่ถ้าเปลี่ยนรูปแบบการผลิตมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆก็ต้องเรียนตามตรงว่าผมยังไม่เห็นนโยบายใดๆที่เป็นรูปธรรมในการเตรียมการจัดการกับคนไทยจำนวนมากที่อาจจะต้อง “ตกงาน”

ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการระดับประเทศหรือองค์กรต่างๆในทุกระดับ การปฏิเสธที่จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่ถูก “คลื่นสึนามิดิจิทัล” กระหน่ำเข้าใส่ไม่ยั้งแบบนี้ จึงอาจอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงในการตกขบวนรถไฟแห่งอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้น วันนี้คงต้องถามรัฐบาลดังๆว่าประเทศไทยพร้อมหรือยังกับเรื่อง “Digital Transformation”

อธิบายให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่ายๆครับ “Digital Transformation” คือส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันที่จะทำให้การบริหารประเทศสามารถดำเนินไปได้อย่างเท่าทันเทคโนโลยี และมีการพัฒนาไปสู่สิ่งที่พี่น้องประชาชนคาดหวัง หากไม่มีการปรับตัวประเทศก็จะไม่มีความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้กับลูกหลานของเราได้ในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญได้นิยามความหมายของคำว่าDigital Transformation” เอาไว้ตามสมควร แต่ผมขอสรุปในแบบของผมเพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นกระบวนการที่ “ท่านผู้นำสูงสุด” ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้เพิ่มศักยภาพ และผสมผสานการใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างการทำงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ โดยกำหนดวัฒนธรรมและเป้าหมายต่างๆในอนาคตขึ้นมาใหม่

เพื่อก้าวไปสู่การยึดโยงโครงสร้างในการบริหารประเทศที่กำหนดให้พี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยบริหารจัดการให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็น Human-Centric Nation ให้ได้

ผมเข้าใจได้ว่าผู้มีอำนาจที่มาจากการปฏิวัติมีอายุเกินครึ่งศตวรรษแล้วทั้งสิ้น แต่อยากขอร้องทุกท่าน จงอย่าหวาดกลัวเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

ชีวิตของคนไทยจะง่ายและมีคุณภาพมากขึ้นเพียงพวกท่านกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

There will always be human behind technology.


You must be logged in to post a comment Login